สภาผู้บริโภค ถกรับวันสิทธิผู้บริโภคสากลปี67 วอนรัฐบาล-สส.-ส.ว.แก้กม.คุ้มครองผู้บริโภคให้ทันสมัย ป้องกันถูกละเมิดสิทธิจาก AI ยกระดับสิทธิผู้บริโภคเทียบเท่าสากล ให้เป็นของขวัญปีใหม่ไทย
วันนี้(14มี.ค.) สภาผู้บริโภค จัดงานวันสิทธิผู้บริโภค โดยมีสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) องค์กรสมาชิกสภาผู้บริโภคกว่า 314 องค์กรทั่วประเทศเข้าร่วมเสวนา ซึ่งประเด็นหลักของการรณรงค์ในปีนี้คือการสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับสิทธิผู้บริโภคด้านปัญญาประดิษฐ์หรือเอไอเพื่อให้ผู้บริโภครู้เท่าทัน มีความรับผิดชอบ และได้รับความเป็นธรรมจากการใช้เทคโนโลยีเอไอ
น.ส.บุญยืน ศิริธรรม ประธานสภาผู้บริโภค กล่าวว่า ประเทศไทยจำเป็นต้องยกระดับในด้านการคุ้มครองผู้บริโภค สภาผู้บริโภคเห็นว่า พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค 2522 ต้องมีการปรับปรุงแก้ไข เพราะคุ้มครองผู้บริโภคเพียง 5 ด้าน ขณะที่ระดับสากลมีการคุ้มครองผู้บริโภค 8 ด้านด้วยกัน ปีนี้สภาผู้บริโภคจึงตั้งเป้าหมายว่าจะเสนอรัฐสภาให้แก้ไขกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคให้เทียบเท่ากับสากล เช่น เรื่องฝุ่น PM 2.5 ซึ่งเป็นสิทธิของผู้บริโภคที่จะอาศัยอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่อากาศดี
“ปีนี้เราตั้งเป้าหมายจะแก้กฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค เรารอคนอื่นแก้มานานแล้วไม่สำเร็จ สภาผู้บริโภคและสมาชิกจึงจะแก้กฎหมายที่มีมาตั้งแต่ปี 2522 ให้มีการคุ้มครองผู้บริโภคครบ 8 ด้านเท่ากับผู้บริโภคสากล ซึ่งต้องได้รับความร่วมมือจาก สส. สว. ในการผ่านกฎหมายเพราะฉะนั้นต้องอาศัยความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะผู้มีอำนาจ”
น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภค กล่าวว่า วันผู้บริโภคสากลในปีนี้ คือวันที่15 มี.ค.67 สหพันธ์ผู้บริโภคสากลกำหนดวาระ "เอไอ (AI) ที่มีความรับผิดชอบและเป็นธรรมกับผู้บริโภค" เป็นหัวข้อหลักในการรณรงค์เรียกร้องร่วมกันขององค์กรผู้บริโภคทั่วโลก เพื่อมุ่งเน้นสร้างการรับรู้ในผลกระทบของผู้บริโภคอันเกิดจากแพลตฟอร์มที่ใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์หรือ เอไอ เนื่องจากปัจจุบันของผู้บริโภคทั่วโลกกำลังถูกคุกคามจากการใช้เทคโนโลยีดังกล่าว โดยมีการนำมาใช้เพื่อการหลอกลวงด้วยวิธีการต่าง ๆ
"ปีนี้สภาผู้บริโภค จึงหวังว่ารัฐบาลจะใช้วันสงกรานต์เป็นจุดเริ่มในการปรับปรุงกฎหมายร่วมกันและขอให้ทุกพรรคการเมืองร่วมกันเสนอแก้ไข พ.ร.บ. คุ้มครองผู้บริโภค 2522 ที่ใช้มานาน โดยการเพิ่มความคุ้มครองผู้บริโภคให้ชัดเจนและให้เป็นสากลมากขึ้น ทั้งในเรื่องอำนาจต่อรองให้กับผู้บริโภค การปกป้องผู้บริโภค การสนับสนุนองค์กรฟ้องคดีแทนผู้บริโภคต้องมีตัวแทนในสัดส่วนที่ชัดเจน เพราะแม้ว่าประเทศไทยจะมีกฎหมายเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคก่อนหลาย ๆ ประเทศ แต่กฎหมายที่ใช้อยู่ยังด้อยกว่าอีกหลายประเทศในอาเซียน"
เลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภค ยังกล่าวได้ว่า การปรับปรุงกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค 2522 ถือเป็นเรื่องเร่งด่วนซึ่งกรรมาธิการคุ้มครองผู้บริโภคของสภาผู้แทนราษฏรขณะนี้ได้ตั้งคณะทำงานเพื่อแก้ไขเรื่องนี้ ภายใต้ความร่วมมือกับสำนักงานคุ้มครองผู้บริโภคหรือ สคบ. เพื่อยกระดับสิทธิผู้บริโภคไทยเทียบเท่าสากล เช่น ในต่างประเทศระบุสิทธิในการเข้าถึงสินค้าและการบริการในการดำเนินชีวิต หลายประเทศรับรองสิทธิในเรื่องนี้ รวมถึงการปรับปรุงกฎหมายให้ทันสมัย ทันกลโกงของมิจฉาชีพ รวมถึงเรื่องความเท่าทันของการทำงานเอไอ ทั้งเรื่องการโจรกรรมทางCyber Crime) ที่ผู้บริโภคต้องเผชิญทุกวันด้วย
นายกฤช เอื้อวงศ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลตระหนักถึงสถานการณ์ปัญหาการละเมิดสิทธิของผู้บริโภคในรูปแบบต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในทุกวันนี้โดยเฉพาะปัญหาของผู้บริโภคที่ถูกละเมิดสิทธิจากเทคโนโลยีดิจิทัลปัญญาประดิษฐ์ ซึ่งมีหลากหลายรูปแบบและซับซ้อนมากขึ้น จึงเป็นเรื่องน่ายินดีที่องค์กรผู้บริโภคในระดับสากลและสภาองค์กรของผู้บริโภคที่มีฐานะเป็นผู้แทนของผู้บริโภคในประเทศไทยได้ร่วมจัดงานนี้ขึ้นเพื่อร่วมรณรงค์เรียกร้องให้มีการใช้เทคโนโลยีเอไอที่มีความเป็นธรรมและมีความรับผิดชอบต่อผู้บริโภค
“รัฐบาลตระหนักดีว่าการเข้ามาของเอไอ มีส่วนสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ขณะเดียวกันก็อาจสร้างผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของผู้บริโภคในลักษณะใดลักษณะหนึ่ง เกิดเป็นภัยคุกคามบนโลกไซเบอร์ที่ใกล้ตัวผู้บริโภคมากขึ้น โดยในส่วนของสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค พร้อมสนับสนุน และสภาผู้บริโภค ซึ่งเป็นภาคประชาชนร่วมทำงานในเรื่องนี้”
ทั้งนี้ในเรื่องการแก้ไข พ.ร.บ. คุ้มครองผู้บริโภค 2522 มีหลายช่องทาง โดยภาคประชาชนสภาผู้บริโภคได้เสนอแก้ไข ซึ่งกฎหมายที่เป็นประโยชน์กับประชาชนภาครัฐให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ซึ่งตนในฐานะที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีที่รับผิดชอบงานด้านคุ้มครองผู้บริโภค พร้อมสนับสนุนสภาองค์กรของผู้บริโภคในการจัดกิจกรรมการรวมตัวของผู้บริโภคองค์กรสมาชิกและองค์กรของผู้บริโภคเพื่อร่วมกันสร้างพลังในการคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภคให้มีความเข้มแข็งเพื่อยกระดับสิทธิของผู้บริโภคและการคุ้มครองผู้บริโภคของประเทศไทยให้ทัดเทียมมาตรฐานสากล พัฒนางานคุ้มครองผู้บริโภคโดยการมีส่วนร่วมของประชาชนทุกภาคส่วนได้อย่างต่อเนื่องต่อไป
อย่างไรก็ตามในงานวันสิทธิผู้บริโภคสากล ปี 2567 ยังมีกิจกรรมอื่นที่น่าสนใจทั้งการเสวนาในหัวข้อ "เราจะช่วยกันยกระดับการคุ้มครองผู้บริโภคไทยได้อย่างไร?" เอไอ (AI) กับการคุ้มครองผู้บริโภค“เราต้องหาแนวทางการใช้ประโยชน์จากเอไอไม่ใช่เพียงให้เอไอหลอกหลวงหรือการใช้ข้อมูลเท็จที่ซับซ้อน”ดีฟเฟค” (Deep Fake) อย่างเดียว รวมถึงเวทีระดมความคิดต่อการแก้ไข พ.ร.บ. คุ้มครองผู้บริโภค 2522 และการระดมความเห็นเกี่ยวกับการปราบปรามภัยทุจริตทางการเงิน โดยในวันที่ 15 มี.ค. สภาผู้บริโภคจะจัดประชุมสมัชชาใหญ่ร่วมกับองค์กรสมาชิกจำนวน 314 องค์กร ใน 43 จังหวัด ซึ่งที่ผ่านมาองค์กรสมาชิกได้ให้ความช่วยเหลือผู้บริโภคไปแล้วกว่า 43,446 เรื่อง เพื่อร่วมกันประเมินปัญหา และกำหนดแนวทางในการคุ้มครองผู้บริโภคต่อไป