วันนี้ (13 มี.ค.) ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในฐานะคณะทำงานขับเคลื่อนการดำเนินงานและแก้ไขปัญหาการเสื่อมโทรมของแหล่งหญ้าทะเลในบริเวณจังหวัดตรังและจังหวัดกระบี่ กล่าวว่า ตนในฐานะคณะทำงานฯ รู้สึก ดีใจที่ได้เห็น นักวิชาการด้านทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง จากหลากหลายหน่วยงานทั้งภาครัฐเอกชนและมหาวิทยาลัย รวมถึงอาสาสมัครที่ได้มาร่วมกันแก้ไขปัญหาหญ้าทะเล ในพื้นที่จังหวัดตรังและกระบี่ ซึ่งทุกภาคส่วนได้ให้ความสำคัญกับปัญหาความเสื่อมโทรมของหญ้าทะเล และต้องขอขอบคุณ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่ห่วงใยในปัญหาดังกล่าว
ผศ.ดร.ธรณ์ กล่าวอีกว่า โดยได้สนับสนุนงบประมาณสำหรับงานวิจัยให้กับคณะทำงานแก้ไขปัญหาดังกล่าว ทั้ง 8 โครงการ ซึ่งถือเป็นการศึกษา วิจัยเกี่ยวกับปัจจัยหรือสาเหตุความเสื่อมโทรมของหญ้าทะเลให้ครอบคลุมทั้ง 3 ด้าน ได้แก่ ด้านระบบนิเวศหญ้าทะเล ด้านสัตว์ทะเลหายากและใกล้สูญพันธุ์ และด้านสมุทรศาสตร์และสิ่งแวดล้อมบริเวณแหล่งหญ้าทะเล เพื่อเร่งแก้ไขปัญหาและฟื้นฟูสภาพเสื่อมโทรมของแหล่งหญ้าทะเลจังหวัดตรังให้กลับคืนมาสมบูรณ์ โดยเร็วที่สุด และยั่งยืนอีกครั้ง
ด้าน ดร.ปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวว่า พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ติดตามสถานการณ์แหล่งหญ้าทะเลเสื่อมโทรมในพื้นที่จังหวัดตรังและจังหวัดกระบี่ มาโดยตลอดพร้อมได้สั่งการให้กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง จัดตั้งคณะทำงานขับเคลื่อนการดำเนินงานและแก้ไขปัญหาการเสื่อมโทรมของแหล่งหญ้าทะเลในบริเวณจังหวัดตรังและจังหวัดกระบี่ รวมถึงได้ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์แก้ปัญหาหญ้าทะเลตรังอย่างใกล้ชิด เมื่อช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยกรมทะเลฯ ได้ส่งทีมนักวิชาการร่วมกับนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยที่มีการสอนด้านทรัพยากรทางทะเล กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่า และพันธุ์พืช มูลนิธิเพื่อสิ่งแวดล้อมในพื้นที่จังหวัดตรัง และอาสาสมัครพิทักษ์ทะเล ออกสำรวจตรวจสอบคุณภาพน้ำทะเลและดินตะกอน เพื่อเร่งหาสาเหตุการเกิดปัญหาดังกล่าว
"ทั้งนี้ จากการดำเนินงานที่ผ่านมา คณะทำงานฯ ได้ปฏิบัติหน้าที่ครอบคลุมในทุกภารกิจทั้งการบินสำรวจพะยูนด้วย UAV Lider scan การสำรวจชายฝั่งด้วย USV การจัดทำแบบจำลองลักษณะสมุทรศาสตร์กายภาพ การศึกษาการปนเปื้อนของโลหะหนัก และการติดตามการเปลี่ยนแปลงของสภาพหญ้าทะเลเชิงพื้นที่ จ.ตรัง เพื่อหาสาเหตุการตายของหญ้าทะเลให้เร็วที่สุด ก่อนจะฟื้นฟูหญ้าทะเลที่เสื่อมโทรมให้กลับมาเป็นแหล่งอาหารของพะยูนไทยต่อไป"