เมืองไทย 360 องศา
ชัดเจนแจ่มแจ้งกันอีกครั้ง สำหรับท่าทีล่าสุดของพรรคก้าวไกล และเจ้าของพรรค รวมไปถึงระดับแกนนำพรรค ตั้งแต่ นายชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรค นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานกลุ่มก้าวหน้า ที่ถูกมองว่า เป็นเจ้าของพรรคตั้งแต่อนาคตใหม่ จนตกทอดมาถึงพรรคก้าวไกล ที่ก่อนหน้านี้ ยืนยันชัดเจนแล้วว่า จะไม่ยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล ที่นำโดยพรรคเพื่อไทย โดยอ้างถึงเหตุผลทำนองว่า รัฐบาลเพิ่งบริหารได้ไม่นาน ยังไม่ได้ใช้งบประมาณแผ่นดิน จึงเลือกใช้วิธีการยื่นญัตติอภิปราย โดยไม่มีการลงมติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 152 แทน
ขณะเดียวกัน สำหรับของ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่อยู่ระหว่างการพักโทษในคดีทุจริต แต่ที่ผ่านมา ถูกวิจารณ์ในเรื่องกระบวนการยุติธรรมสองมาตรฐาน ถูกเปรียบเปรยแบบเยาะเย้ยถากถาง ว่า ไม่ต่างจาก “นักโทษเทวดา” คนไม่เท่ากัน ซึ่งน่าจะเป็นประเด็นสำคัญสำหรับพรรคก้าวไกล ที่พยายามชูจุดขายในเรื่อง “ความเท่าเทียม” อยู่ตลอดเวลา แต่กลายเป็นว่า พรรคก้าวไกลแตะได้ทุกเรื่อง เช่น กองทัพ สถาบันฯ กระบวนการยุติธรรม สารพัด แต่สำหรับกรณีของ นายทักษิณ ชินวัตร พวกเขาก็กล่าวถึงแบบบางเบามาก พอเป็นพิธี เหมือนกับว่า “ต้องพูดถึงบ้าง เพื่อให้คุยกับเพื่อนรู้เรื่อง” อะไรประมาณนั้น แต่หากสังเกตไม่เคยมีลำหักลำโค่นแบบหนักแน่นเลย จนถูกระบุว่า “ชกไม่เต็มหมัด”
ก่อนหน้านี้ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า ปฏิเสธที่จะแสดงความเห็นกรณี นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จะกลับไป จ.เชียงใหม่ มองว่า เป็นสองมาตรฐานหรือไม่ นายธนาธร พูดทันทีว่า “โห ผมไม่มีความเห็นคิดในเรื่องนี้” เคยตอบไปแล้ว การบังคับใช้กฎหมายต้องเสมอภาค มีนักโทษคดีการเมืองเป็นพันคน เข้าใจว่า มีหลายสิบคนที่ยังอยู่ในคุก พวกเขาไม่ใช่เป็นคนที่ลักขโมย หรือฆ่าข่มขืนใคร พวกเขาเป็นนักโทษทางความคิด การพูดคิดอ่านเขียนไม่ควรเป็นอาชญากร
เมื่อถามว่า มีประชาชนไปรอต้อนรับนายทักษิณ จะเป็นเป้าให้เกิดความขัดแย้งทางการเมืองหรือไม่ นายธนาธร กล่าวสั้นๆ ว่า “ขอให้ไปถามพรรคเพื่อไทยดีกว่า” ซึ่งลักษณะการตอบคำถามก็วกไปวนไปมา สามวาสองศอก ตอบไม่ตรงคำถาม หรือหลีกเลี่ยงที่จะพูดกรณีของ นายทักษิณ แต่กลับหันเหไปพูดเรื่อง นักโทษทางความคิด ความเห็นต่างที่อยู่ในคุกซึ่งเป็นคนละเรื่อง
ขณะที่ นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีฝ่ายค้านเตรียมยื่นญัตติเปิดอภิปรายทั่วไปรัฐบาล ตามมาตรา 152 ว่า มีเรื่องให้อภิปรายหลายประเด็น จะเป็นการทวงสัญญารัฐบาลว่าจะทำหรือไม่ทำ ตามที่ได้แถลงนโยบายไว้ มีความคืบหน้าไปถึงไหน รวมถึงสิ่งที่ทำมีประสิทธิภาพมากน้อยแค่ไหน ซึ่งจะเป็นลักษณะของการเสนอแนะว่าสิ่งที่รัฐบาลควรทำ และไม่ทำคืออะไร นอกจากนี้ ยังมีปัญหาสังคมที่ส่งผลกระทบถึงคุณภาพชีวิตของประชาชน ทั้งเรื่องมาเฟียข้ามชาติ อิทธิพลท้องถิ่น รวมถึงการเรียกรับผลประโยชน์จากข้าราชการบางกลุ่ม ทุนสีเทา คอลเซ็นเตอร์ ไปจนถึงปัญหายาเสพติด การใช้อำนาจรัฐที่ไม่มีหลักนิติธรรม ระบบสองมาตรฐาน
เมื่อถามว่า มองเรื่อง นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เตรียมเดินทางไปจังหวัดเชียงใหม่อย่างไรบ้าง นายวิโรจน์ กล่าวว่า เป็นเรื่องของนายทักษิณ พวกเราไม่เคยสนใจประเด็นของนายทักษิณเลย แต่สนใจเนื้อหาสาระ และสิ่งที่นายทักษิณได้รับ ว่าเป็นสิทธิพิเศษหรือไม่ หรือคนอื่นที่มีเงื่อนไขคล้ายนายทักษิณพึงจะได้รับด้วย ถ้าเป็นเรื่องสิทธิมาตรฐานเราเองก็ไม่ได้ติดใจอะไร
ส่วนจะเป็นโมเดลให้ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กลับมาด้วยหรือไม่ คงต้องติดตามดู แต่ตนคิดว่าสังคมไทย บาดเจ็บจากการเอบุคคลใดบุคคลหนึ่งมาเป็นเงื่อนไขในการขัดแย้งมากพอแล้ว สมัยก่อนก็มีเรื่อง นายปรีดี พนมยงค์, จอมพลถนอม กิตติขจร, จอมพลประภาส จารุเสถียร ไล่มาจนถึง พลเอก สุจินดา คราประยูร และ นายทักษิณ ตนคิดว่าปัญหาไม่ได้อยู่ที่ตัวบุคคล แต่อยู่ที่ตัวโครงสร้าง
“ขอให้สบายใจว่า พรรคก้าวไกลไม่เคยมีความคิดเลย ที่จะหยิบยกเอาบุคคลใดบุคคลหนึ่ง มาอยู่ท่ามกลางความขัดแย้งในหมู่ประชาชน และใช้วิธีการเช่นนั้น ทำให้สังคมกลับมาแตกแยกอีก แต่เราจะมุ่งแก้ไขที่โครงสร้าง วิพากษ์วิจารณ์และแก้ไขเนื้อหาสาระเป็นหลัก ดังนั้น ยังยืนยันว่า ทั้งนางสาวยิ่งลักษณ์ และ นายทักษิณ ไม่ได้อยู่ในสารบบคิดของพรรคก้าวไกล แต่เราให้ความสนใจ ใส่ใจ กับสิ่งที่คุณทักษิณได้รับ ถ้าเกิดได้รับบุคคลอื่นที่อยู่ในเงื่อนไขเดียวกันก็ควรได้รับด้วย”
นายวิโรจน์ ย้ำว่า นายทักษิณ ควรได้รับความยุติธรรม ไม่ใช่ได้รับอภิสิทธิ์ ส่วนที่มีคนมอบว่าเกี้ยเซียะกันนั้น ถ้าดูบทบาทตนก็คิดว่าไม่ได้เกี้ยเซียะ ยังจัดหนัก จัดเต็ม
นายชัยธวัช ตุลาธน ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคก้าวไกล (ก.ก.) ในฐานะผู้นำฝ่ายค้าน กล่าวกรณีที่ฝ่านค้านอาจจะไม่ยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล แล้วถูกมองว่าฝ่ายค้านแผ่วลงว่า ที่ผ่านมา ฝ่ายค้านคุยกันว่าให้แต่ละพรรคไปเตรียมข้อมูลอภิปรายตรวจสอบรัฐบาลอยู่แล้ว เพียงแต่ไม่ได้มีข้อสรุปอย่างเป็นทางการว่าจะยื่นหรือไม่ เมื่อไหร่ โดยตนได้หารือกับแกนนำพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) บางท่านถึงความพร้อมในการยื่นอภิปราย มีแนวโน้มว่าพร้อม ตอนนี้ต้องรอแกนนำหารือกันอย่างไม่เป็นทางการ ก่อนประชุมฝ่ายค้านอย่างเป็นทางการสัปดาห์หน้า เพื่อหาข้อสรุปร่วมกัน ส่วนของความพร้อมของพรรค ก.ก.นั้น ส.ส.ที่อยู่ในคณะกรรมาธิการวิสามัญงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2567 น่าจะพร้อมอภิปรายรัฐบาล อย่างน้อยก็อภิปรายแบบไม่ลงมติ ตามมาตรา 152 ได้
หากพิจารณาจากคำพูด และท่าทีของพรรคก้าวไกล รวมไปถึงความหมายของระดับที่เรียกว่า “เจ้าของพรรค” อย่าง นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ดูแล้วมันชัดยิ่งกว่าชัด ลักษณะที่ออกมาจะเป็นแบบ “เฉพาะกับทักษิณ” หรือเปล่า อาจเป็นเพราะมาจากความสัมพันธ์ส่วนตัว หรือ “แบ็กกราวด์” ของคนพวกนี้ หากมองย้อนอดีต มันก็ไม่ต่างจาก “เด็กในบ้าน” ของครอบครัวชินวัตร และย้อนมาตั้งแต่พรรคไทยรักไทย ที่มีคนในครอบครัว “จึงรุ่งเรืองกิจ” เคยเป็นลูกน้อง และติดตาม นายทักษิณ ชินวัตร มาก่อน จนถึงปัจจุบันที่มีคนนามสกุลนี้ร่วมอยู่ในรัฐบาลชุดปัจจุบัน
หรือแม้แต่กรณีของ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ที่ถือว่าเป็นหลานโดยตรงของ “ผดุง ลิ้มเจริญรัตน์” หรือที่เคยชินกับภาพ “คนผมขาว” ที่เคยติดตามใกล้ชิดเป็นเงาของ นายทักษิณ ชินวัตร ในช่วงเรืองอำนาจ อีกทั้งที่เห็นภาพชัดเจน ก็คือ กรณี “ดีลลับฮ่องกง” ที่ นายธนาธร ยอมรับว่า ไปพบกับนายทักษิณ ที่ฮ่องกง ก่อนการตั้งรัฐบาลไม่กี่วัน และย้ำว่า พวกเขาเป็นมิตรกับพรรคเพื่อไทย
ดังนั้น ก็ไม่น่าแปลกใจที่จะเห็นความเคลื่อนไหวเฉพาะพรรคก้าวไกล ที่เน้นเฉพาะกับ นายทักษิณ ชินวัตร ที่พวกเขา “ไม่แตะต้อง” หรืออาจ “ไม่กล้าแตะต้อง” ตามลักษณะแบ็กกราวด์ เหมือนกับ “แพ้ตบะ” นั่นแหละ จนเป็นที่สังเกตที่มาของ “ปาหี่” ทั้งในเรื่องของกระบวนการยุติธรรมสองมาตรฐาน และ “ไม่กล้าชกเต็มหมัด” แม้ว่าในทางการเมือง จะดูเหมือนการแข่งขันเริ่มเข้มข้นก็ตาม แต่ก็อย่างว่ามันอาจเป็นเกมที่ปลายทางยังต้องพึ่งพากันหรือเปล่า !!