xs
xsm
sm
md
lg

“ก้าวไกล” เสี่ยงละเมิดอำนาจศาล ปมเอาคืนคำวินิจฉัยล้มล้างการปกครอง “ศิษย์เก่า” จี้ “จุฬาฯ” ฟ้องละเมิดลิขสิทธิ์วิทยานิพนธ์ฉาว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ภาพ นายชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกล ยื่นหนังสือปธ.สภา เพื่อเสนอญัตติด่วน ตั้งกมธ.วิสามัญศึกษาขอบเขตอำนาจ ศาล รธน. จากแฟ้ม
“หมอวรงค์” ชี้ “ก้าวไกล” เสี่ยงละเมิดอำนาจศาล ปมเสนอญัตติด่วน ตั้ง กมธ.วิสามัญศึกษาขอบเขตอำนาจศาล รธน. หลังมีคำวินิจฉัยล้มล้างการปกครอง “ศิษย์เก่า” จี้ “จุฬาฯ” ฟ้องเรียกค่าเสียหายละเมิดลิขสิทธิ์วิทยานิพนธ์ฉาว

น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง วันนี้(9 มี.ค.67) นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม หัวหน้าพรรคไทยภักดี โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กระบุว่า

ภาพ นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม จากแฟ้ม
“ก้าวไกลจะละเมิดอำนาจศาล สภาจะละเมิดรัฐธรรมนูญ

ตามที่นายชัยธวัช ตุลาธน ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคก้าวไกล พร้อม ส.ส.ของพรรคก้าวไกล ยื่นหนังสือถึงประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อเสนอญัตติด่วน ขอให้สภาฯ ตั้งกรรมาธิการวิสามัญศึกษาขอบเขตอำนาจศาลรัฐธรรมนูญและขอบเขตอำนาจนิติบัญญัติ สืบเนื่องจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 3/2567 หรือคดีลบล้างการปกครองของพรรคก้าวไกล

ความจริงทุกสิ่งที่พรรคก้าวไกลสงสัย มีคำตอบโดยละเอียด ในคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว โดยเฉพาะเรื่องที่จะแก้ไขหรือยกเลิกมาตรา112

ที่สำคัญถ้าพรรคก้าวไกลคิดว่า ศาลรัฐธรรมนูญใช้อำนาจเกินขอบเขต ประพฤติมิชอบ ก็สามารถใช้ช่องทางป.ป.ช.หรือช่องทางอื่นๆในการตรวจสอบได้

การที่เสนอเป็นญัตติเข้าสู่สภา แค่อ้าปากก็เห็นลิ้นไก่ว่า จะใช้เวทีสภาด้อยค่า แก้ตัว ว่ากล่าวให้ร้ายศาลรัฐธรรมนูญ ยิ่งอาจทำให้ประชาชนเข้าใจผิดต่อศาลรัฐธรรมนูญได้

ผมคิดว่า พรรคก้าวไกลน่าจะรู้จักรัฐธรรมนูญมาตรา 211วรรคท้ายนะ

"คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้เป็นเด็ดขาด มีผลผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล องค์กรอิสระ และหน่วยงานของรัฐ"

ดังนั้นสิ่งที่พรรคก้าวไกลกำลังทำ ท่านกำลังจะละเมิดอำนาจศาลหรือไม่ และขอเตือนไปยังประธานสภาว่า ถ้าท่านบรรจุระเบียบวาระนี้เท่ากับสภาฯกำลังจะละเมิดรัฐธรรมนูญด้วย”

ภาพ นายนันทิวัฒน์ สามารถ จากแฟ้ม
ขณะเดียวกัน นายนันทิวัฒน์ สามารถ อดีตรองผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ ในฐานะนิสิตเก่าจุฬาฯ รุ่นปี 2512 โพสต์เฟซบุ๊กว่า

“ดุษฎีบัณฑิตเจ้าปัญหา

เรียนนายกสภามหาวิทยาลัยและผู้บริหารจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

จะเรียกว่า จดหมายเปิดผนึกฉบับที่สองก็ได้

ฉบับนี้จะขอเขียนถึงปัญหาลิขสิทธิ์ของดุษฎีนิพนธ์ของนายณัฐพล ใจจริง ฉบับเจ้าปัญหา ที่กำลังถูกกล่าวขวัญถึง

ปกติวิทยานิพนธ์ที่ได้รับการประศาส์นปริญญาจะต้องถือว่าเป็นลิขสิทธิ์ของบัณฑิตวิทยาลัย ไม่ใช่ลิขสิทธิ์ของผู้เขียนอีกต่อไป

ดังนั้นการคัดลอก ตัดตอนบางส่วนของวิทยานิพนธ์ไปพิมพ์เป็นหนังสือเพื่อวางขายต้องขออนุญาตจากจุฬาฯหรือไม่ หากไม่ขออนุญาตจะถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ของจุฬาหรือไม่

ความพยายามของจุฬาในการลดความเสียหาย ด้วยการระงับการเผยแพร่วิทยานิพนธ์ในห้องสมุด แต่การเผยแพร่ผ่านพ๊อกเก็ตบุ๊คยังมีอยู่ ทำให้ยังมีการบิดเบือนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสถาบัน

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยก่อตั้งโดยล้นเกล้ารัชกาลที่ 5 และชาวจุฬาฯได้อัญเชิญพระเกี้ยวเป็นสัญลักษณ์ประจำมหาวิทยาลัย ดังนั้น พระคุณต้องไม่รู้ลืมบูชา พระนามจุฬาฯต้องได้รับการเทิดทูนและรักษาไว้ไม่ให้ต่ำลง

เรื่องนี้ไม่เพียงกระทบต่อชื่อเสียงของจุฬาลงกรณ์แต่กระทบต่อพระเกียรติยศของสถาบันที่ถูกกล่าวร้าย

ขอเรียกร้องให้สภามหาวิทยาลัยและผู้บริหารจุฬาเรียกร้องค่าเสียหายต่อการละเมิดลิขสิทธิ์ในครั้งนี้และดำเนินการให้เก็บหนังสือดังกล่าวออกจากตลาด

จึงเรียนมาเพื่อกรุณาดำเนินการต่อไป”


กำลังโหลดความคิดเห็น