รองนายกฯ ร่วมทีมผู้แทนไทย ชี้แจงผลการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ ที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ย้ำบทบาทความร่วมมือประเทศกลุ่มลุ่มแม่น้ำโขง ช่วยเหลือเหยื่อจากขบวนการ Scammer
วันนี้ (6มี.ค.) คณะผู้แทนไทย นำโดย นายเชษฐพันธ์ มากสัมพันธ์ อธิบดีกรมอเมริกาและแปซิฟิกใต้ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร. ผอ.ศพดส.ตร. นางจตุพร แสงหิรัญ อธิบดีอัยการสำนักงานคดีค้ามนุษย์ และนางภิญญา จำรูญศาสตร์ ผู้อำนวยการกองต่อต้านการค้ามนุษย์ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ร่วมหารือกับ Amanda Rodriguez Executive Director จาก TurnAround NGOs ของประเทศสหรัฐอเมริกา โดยแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการทำงานร่วมกันระหว่าง NGOs และหน่วยงานของรัฐ ณ สถานเอกอัครราชทูตไทย กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ประเทศสหรัฐอเมริกา
ทั้งนี้ Amanda ให้ความสนใจในผลการปราบปรามการล่วงละเมิดทางเพศเด็กในประเทศไทย ซึ่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติไทย ประสานความร่วมมือด้านข้อมูลกับ NCMEC ของประเทศสหรัฐอเมริกา และมีผลการจับกุมอยู่ในเกณฑ์ที่สูงมาก เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่น ๆ
พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ แจ้งในที่ประชุมว่า นอกจากการจับกุมคดีล่วงละเมิดทางเพศเด็กแล้ว สำนักงานตำรวจแห่งชาติไทยยังสืบสวนสอบสวนขยายผลดำเนินคดีกับผู้ใช้บริการทางเพศเด็ก ซึ่งในปี พ.ศ.2566 ดำเนินคดีไปมากถึง 197 คน สูงกว่าปี พ.ศ.2565 ที่มีการดำเนินคดี 67 คน คิดเป็นร้อยละ 194.03
หลังจากนั้น คณะผู้แทนไทยเดินทางไปพบกับผู้บริหารกระทรวงแรงงานสหรัฐอเมริกา ฝ่ายกิจการแรงงานระหว่างประเทศ นำโดย Marcia Eugenio Director ของ Office of Child Labor, Forced Labor and Human Trafficking (OCFT) ซึ่งในการหารือ กระทรวงแรงงานสหรัฐอเมริกาให้ความสำคัญกับปัญหาการใช้แรงงานเด็กในประเทศไทย โดยเฉพาะการแข่งขันมวยไทยในเด็ก รวมถึงการให้ความสำคัญกับห่วงโซ่การผลิตสินค้าทั้งกระบวนการที่ไม่ควรมีห่วงโซ่ใดที่ใช้แรงงานเด็ก
จากนั้นคณะผู้แทนไทย พบกับผู้แทน Office of Trafficking in Persons (OTIP) ของกระทรวงสาธารณสุขสหรัฐอเมริกา ณ สถานเอกอัครราชทูตไทย ซึ่งประกอบด้วย Katherine Chon Director, Monica Rowsey Trafficking Program Specialist และ Alyssa Wheeler Policy Analyst ซึ่งให้คำแนะนำเกี่ยวกับบริการทางสาธารณสุข ที่เกี่ยวข้องกับการบำบัดเหยื่อจากการค้ามนุษย์ บำบัดผู้ปฏิบัติงานต่อต้านการค้ามนุษย์ ให้การฝึกอบรมหน่วยงานทางการแพทย์ รวมถึงประสานงานระหว่างหน่วยงานรัฐด้วยกัน หรือการทำความตกลงระหว่างหน่วยงาน หรือระหว่างประเทศ เพื่อให้ความช่วยเหลือเหยื่อจากการค้ามนุษย์ รวมถึงแนวทางการป้องกันโดยการให้ความรู้แก่เด็กนักเรียนในสถานศึกษา
พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ กล่าวเสริมในการหารือว่า ในประเทศไทยโดย ศพดส.ตร. สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ก่อตั้งโครงการ D.A.R.E.2 C.A.R.E. เพื่อให้ครูแดร์ไปให้การอบรมนักเรียนในโรงเรียนในพื้นที่สถานีตำรวจทั่วประเทศ รู้เท่าทันการถูกล่วงละเมิดทางเพศและการค้ามนุษย์ ทำต่อเนื่องมา 4 ปี โดยในปี พ.ศ.2566 ให้การอบรมไป 38,469 ครั้ง ผู้เข้ารับการอบรม 946,268 คน ในสถานศึกษา 22,164 แห่ง และชุมชน 4,268 แห่ง
Monica ยังให้ความสนใจกับความร่วมมือในภูมิภาคของประเทศไทย ที่ให้ความช่วยเหลือเหยื่อค้ามนุษย์ในขบวนการ Scammer กลับมาจากประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่ง พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ให้ข้อมูลว่าสำนักงานตำรวจแห่งชาติร่วมมือกับประเทศในกลุ่มลุ่มแม่น้ำโขง ทั้งเมียนมา ลาว กัมพูชา และเวียดนาม
นอกจากนี้ คณะผู้แทนไทย ยังเข้าพบ Hilary Axam Director จาก Human Trafficking Prosecution Unit, Criminal Section ของกระทรวงยุติธรรมสหรัฐอเมริกา หารือเกี่ยวกับความยากลำบากในการรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อนำสืบในการพิจารณาของศาลในคดีค้ามนุษย์ที่มีความซับซ้อนมากกว่าคดีปกติ และความยากลำบากในการพิสูจน์ตัวตนในการคัดแยกเหยื่อ ว่าใครคือผู้เสียหาย และใครคือผู้มีส่วนร่วมในการกระทำความผิด ซึ่งต้องพิจารณาในหลายประการ โดยเฉพาะในขบวนการ Scammer
พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ กล่าวเสริมว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติไทยจับกุมหนึ่งในบุคคลที่ทางการสหรัฐอเมริกาคว่ำบาตร คือ สือ จื้อเจียง ซึ่งเป็นนายทุนจีนสีเทา ที่สร้างเมืองชเวโก๊ะโก ในประเทศเมียนมาขึ้นมาเพื่อเป็นศูนย์ Scammer หรือ Call Center หลอกลวงคนทั่วโลก ขณะนี้ สือ จื้อเจียง ถูกควบคุมอยู่ในเรือนจำของประเทศไทย