นายกฯ กล่าวถ้อยแถลงแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับความท้าทาย 3 ด้าน ต้องส่งเสริมสันติภาพและเสถียรภาพ ต้องส่งเสริมความเป็นหุ้นส่วนเศรษฐกิจ และต้องร่วมกันจัดการกับความเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เชื่อมั่นความร่วมมือจะทำให้สำเร็จตามยุทธศาสตร์ร่วมกัน
วันนี้ (6 มี.ค.) เวลา 13.45 น. (ตามเวลาท้องถิ่นนครเมลเบิร์น ซึ่งเร็วกว่าประเทศไทย 4 ชม.) นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เข้าร่วมการประชุมอย่างไม่เป็นทางการของผู้นำอาเซียน-ออสเตรเลีย (Leaders’ Retreat) ณ ห้อง State Ballroom ที่ Government House Victoria โดย นายแอนโทนี แอลบาเนซี (The Honourable Anthony Albanese MP) นายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย จะเป็นผู้กล่าวเปิด และกล่าวถ้อยแถลงในหัวข้อ “วิสัยทัศน์ต่อภูมิภาค ประเด็น สำคัญเชิงยุทธศาสตร์ และแนวทางความร่วมมือระหว่างอาเซียนและออสเตรเลียในการรับมือ กับปัญหาท้าทายร่วมกัน” (Vision for the Region, Strategic Issues and How ASEAN and Australia Can Work Together to Address Shared Challenges) จากนั้น ผู้นำประเทศอาเซียนจะกล่าวถ้อยแถลง โดย นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้เปิดเผยสาระสำคัญจากถ้อยแถลงของนายกรัฐมนตรี ดังนี้
นายกรัฐมนตรี เชื่อมั่นว่า ความมั่นคงในภูมิภาค ภูมิทัศน์ของโลก และการร่วมกันจัดการกับข้อห่วงกังวลร่วมกันจะเป็นตัวกำหนดความสำเร็จตามยุทธศาสตร์ที่ได้กำหนดไว้ โดยนายกรัฐมนตรีได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับความท้าทายที่สำคัญ
1. จำเป็นต้องส่งเสริมสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาคท่ามกลางการแข่งขันระหว่างประเทศมหาอำนาจ ซึ่งเชื่อว่า เราทุกคนมีวิสัยทัศน์เดียวกัน คือ ภูมิภาคอินโดแปซิฟิกที่เสรี เปิดกว้าง ยึดตามกฎ และครอบคลุม โดยนายกรัฐมนตรียินดีที่สหรัฐฯ และจีนใช้ไทยในการเป็นเวทีสำหรับการหารือเพื่อรักษาเสถียรภาพของความสัมพันธ์
นอกจากนี้ จำเป็นต้องเสริมสร้างสถาบันระดับภูมิภาคและพหุภาคีเพื่อส่งเสริมการสร้างความไว้วางใจและความเชื่อมั่น เราหวังว่า ออสเตรเลียจะสนับสนุนกลไกของอาเซียน ซึ่งรวมถึงการมีส่วนร่วมของ AUKUS และ Quad ด้วยอินโดแปซิฟิกเป็นภูมิภาคที่มีศักยภาพ โดยความมั่นคงและความเจริญรุ่งเรืองขึ้นอยู่กับการเดินเรือที่เสรี เปิดกว้าง และเป็นไปตามกฎ จึงยินดีให้ความร่วมมือด้านความมั่นคงทางทะเล และความร่วมมือด้านอื่นๆ ภายใต้ the ASEAN Outlook
ในส่วนของตะวันออกกลาง มีความกังวลเกี่ยวกับเหตุการณ์ในฉนวนกาซา ต้องการย้ำข้อเรียกร้องให้ยุติความรุนแรง และการสู้รบ เรียกร้องให้ปล่อยตัวประกันทั้งหมดทันที ซึ่งรวมทั้งคนไทยด้วย
โดยนายกรัฐมนตรีได้กล่าวถึงสถานการณ์ในเมียนมา เชื่อว่า ทางออกที่สันติ มั่นคง และเป็นหนึ่งเดียวของเมียนมาคือทางออกด้านการเมือง อย่างไรก็ดี เพื่อช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม ไทยได้ริเริ่มโครงการส่งมอบความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามร่วมกันของอาเซียนในการผลักดันฉันทามติ 5 ข้อ หวังว่า จะเป็นเส้นทางสู่การเจรจาที่สร้างสรรค์ และเป็นเวทีสำหรับการมีส่วนร่วมของเมียนมากับประชาคมระหว่างประเทศ ซึ่งนายกรัฐมนตรียินดีที่อาเซียนสนับสนุนไทยอย่างเต็มที่ และหวังว่าออสเตรเลียจะสนับสนุนความคิดริเริ่มนี้ด้วย
2. ความจำเป็นในการส่งเสริมความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจและการพัฒนาจากการเปลี่ยนแปลงทางภูมิเศรษฐศาสตร์ที่เกิดขึ้นอย่างรวาดเร็ว เราจึงต้องป้องกันเศรษฐกิจและห่วงโซ่อุปทานของเราด้วยการกระจายตลาดและการลงทุน ซึ่งอาเซียนและออสเตรเลียสามารถเสริมจุดแข็งของกันและกันเพื่อยกระดับความมั่นคงของมนุษย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านสุขภาพ และความมั่นคงด้านอาหาร ซึ่งไทยในฐานะหุ้นส่วนการพัฒนาที่สำคัญอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงเชื่อว่าการสนับสนุน และการมีส่วนร่วมของออสเตรเลียในการเสริมสร้างศักยภาพและสนับสนุนเครือข่ายของหน่วยงานความมั่นคง รวมถึงผ่านกระบวนการบาหลี มีความจำเป็นอย่างมาก
3. ความจำเป็นในความร่วมมือเพื่อจัดการกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ถือเป็นความท้าทายที่ชัดเจน และเป็นปัจจุบัน เราต้องพยายามมากขึ้นในการเปลี่ยนผ่านจากเชื้อเพลิงฟอสซิล ซึ่งไทยมีเป้าหมายที่จะเป็นผู้ผลิตพลังงานสะอาดชั้นนำ และเป็นศูนย์กลางของรถยนต์ไฟฟ้า โดยไทยได้เพิ่มการลงทุนในพลังงานหมุนเวียนโดยมีเป้าหมายที่จะเพิ่มส่วนแบ่งเป็น 50% ภายในปี 2040 รวมทั้งออกพันธบัตรด้านความยั่งยืน และได้ระดมทุนไปแล้ว 12.5 พันล้านดอลลาร์ นอกจากนี้ ประเทศไทยยังอยู่ระหว่างการร่าง พ.ร.บ. อากาศสะอาด และ พ.ร.บ. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ความท้าทายเร่งด่วนอีกประการ คือ ปัญหา PM 2.5 ซึ่งส่งผลกระทบต่อความมั่นคงด้านสุขภาพของประชาชน ทั้งนี้ ไทยร่วมกับประเทศเพื่อนบ้านจัดทำแผนปฏิบัติการร่วม (Joint Plan of Action: CLEAR Sky) ยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหามลพิษหมอกควันข้ามพรมแดน ซึ่งหวังว่าจะได้ร่วมมือออสเตรเลียในด้านนี้
ในตอนท้าย นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ความสัมพันธ์อาเซียน-ออสเตรเลีย ได้ตอกย้ำความมุ่งมั่นในการส่งเสริมและพัฒนาความเป็นหุ้นส่วน สู่ภูมิภาคที่มีสันติสุข มั่นคง และมีเสถียรภาพ นายกรัฐมนตรีมั่นใจว่าที่ประชุมจะประสบความสำเร็จตามวิสัยทัศน์ที่ได้แลกเปลี่ยนกันวันนี้