กกต.ติวเข้มเตรียมพร้อมรับการเลือก ส.ว.คาด ผู้สมัครแสนคน เดือน ก.ค.ได้ตัวจริง 200 คน ย้ำ ศึกษาระเบียบ-คุณสมบัติก่อนลงสนาม เตือนพรรคการเมืองอย่าจุ้น
วันนี้ (4 มี.ค.) นายอิทธิพร บุญประคอง ประธานกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมให้ความรู้แก่สื่อมวลชนในการเลือก ส.ว. พร้อมทั้งพบปะพูดคุยเกี่ยวกับแนวทางและการบูรณาการความร่วมมือในการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารการเลือก ส.ว. โดยกล่าวตอนหนึ่งว่า การเลือก ส.ว.ครั้งนี้ ไม่ใช่ครั้งแรก เพราะว่าพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2560 เคยเลือก ส.ว.มาแล้วครั้งหนึ่งเมื่อปลายปี 2561 แต่ตอนนั้นเป็นการเลือกตามแบบบทเฉพาะกาล ซึ่งเป็นการเลือกกันเองรอบเดียว และเป็นการเลือกเฉพาะ 10 กลุ่มอาชีพ ซึ่งยุบรวมมาจาก 20 กลุ่มอาชีพ แต่ครั้งนี้จะเป็นการเลือก ส.ว. เต็มรูปแบบที่ พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. กำหนดไว้ ซึ่งเป็นการเลือกกันเอง โดยผู้สมัครด้วยตนเอง จำนวน 3 ระดับ คือ ระดับอำเภอ ระดับจังหวัด และระดับประเทศ
นายอิทธิพร กล่าวต่อว่า วาระของ ส.ว.ชุดปัจจุบัน จะสิ้นสุดลงในวันที่ 10 พ.ค. 67 และเมื่อมีพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งส.ว. อีก 15 วันหลังจากนั้น จะมีการรับสมัคร ส.ว.เป็นเวลา 5 วัน ต่อด้วยอีก 5 วัน จะเป็นการประกาศรายชื่อผู้สมัคร และหลังจากปิดการรับสมัครไม่เกิน 20 วัน จะต้องจัดให้มีการเลือกระดับอำเภอ จากนั้นอีก 7 วัน จัดให้มีการเลือกระดับจังหวัด ต่อจากนั้นอีก 10 วัน ถึงจะเลือกให้เลือกระดับประเทศ ซึ่งคาดว่า จะรู้ผลภายในเดือนกรกฎาคม เมื่อรู้ผลแล้วกฎหมายบอกว่าให้ กกต.รอไว้ก่อน 5 วัน เผื่อมีประเด็นอะไรต่างๆ ที่จะต้องทบทวน แล้วจึงประกาศผล
“ฝากผู้สมัครว่ากรุณาศึกษาและตรวจสอบคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามในการสมัครให้ดีๆและสำรวจตัวเองว่ามีความรู้ความเชี่ยวชาญประสบการณ์อาชีพ และความกลุ่มอาชีพใด เพราะมีกลุ่มอาชีพ 20 กลุ่ม เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดความผิดพลาดในการสมัครให้ถูกกลุ่ม และศึกษารูปแบบ หลักเกณฑ์ วิธีการและบทกำหนดโทษ ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. ซึ่งมีการออกระเบียบ กกต.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2567 แก้ไขรองรับออกมาแล้ว หากมีข้อสงสัยต้องการข้อมูล สามารถสอบถามได้ จากสำนักงาน กกต. ประจำจังหวัดต่างๆ สายด่วน กกต. 1444 หรือ Application Smartvote
ส่วนประเด็นป้องกันและปราบปรามการทุจริต กฎหมายระบุว่า กกต. จะต้องแต่งตั้งผู้ตรวจการเลือกตั้ง เพื่อปฏิบัติหน้าที่ตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ในการเลือกว่าปฏิบัติหน้าที่ถูกต้องหรือไม่ มีการกระทำใดที่มีการฝ่าฝืน พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว.หรือไม่ และมีการกระทำใดที่ทำให้การเลือก ส.ว.ไม่ทุจริตและเที่ยงธรรมหรือไม่ โดยจะได้รับการสนับสนุน ชุดปฏิบัติการข่าว และชุดเคลื่อนที่เร็ว หากพบการกระทำความผิดสามารถแจ้งไปที่ กกต.จังหวัดต่างๆ หรือแอปพลิเคชันตาสับปะรดได้
ส่วนบุคคลใดที่แจ้งข้อมูลเบาะแสอันนำไปสู่การกระทำที่ไม่ทุจริต และเที่ยงธรรม มีสิทธิได้รับเงินรางวัลตามระเบียบของ กกต.ว่าด้วยการให้เงินรางวัลแก่ผู้ชี้เบาะแส โดยรางวัลจะเป็นไปตามลำดับขั้นว่าเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินคดีอย่างไร แต่มีจำนวนสูงสุด คือ 1 ล้านบาท
“การเลือก ส.ว.ครั้งนี้ คาดว่า จะมีผู้สมัครประมาณ 100,000 คน เมื่อทำการเลือกในระดับอำเภอ อำเภอหนึ่งแต่ละกลุ่มจะมีผู้ได้รับเลือกคะแนนสูงสุด 3 คน 1 อำเภอ 20 กลุ่ม เป็น 60 คน โดยอำเภอทั่วประเทศ คือ 928 อำเภอ เมื่อรวมแล้วจะมี 55,680 คน โดยทั้งหมดจะเข้าสู่กระบวนการเลือกระดับจังหวัด เพื่อเลือกผู้ได้รับคะแนนสูงสุด 2 คนลำดับแรกของแต่ละกลุ่ม เป็นผู้ที่ได้รับเลือกไปสู่การเลือกระดับประเทศ รวม 3,080 คน จากนั้นการเลือกระดับประเทศจะเหลือ 200 คน จำนวน 20 กลุ่มๆ ละ 10 คน”
ตัวเลขผู้สมัครเข้ารับการคัดเลือกเป็น ส.ว. 1 แสนคน เป็นตัวเลขประมาณการเบื้องต้น แต่หากมีตัวเลขมากกว่านี้ก็ถือเป็นเรื่องที่น่ายินดี เพราะประชาชนที่สนใจสามารถสมัครได้และถึงเวลาก็ไปเลือกกันเองกับกลุ่มอาชีพต่างๆ ยิ่งหากมีจำนวนมาก ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี ขณะนี้ได้แจ้งไปยัง กกต.จังหวัดในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ว่า หากประชาชนสนใจจะลงสมัคร สามารถสอบถามขั้นตอนและข้อมูลได้ที่ กกต.จังหวัด ถือเป็นความพยายามประชาสัมพันธ์และให้ข้อมูลที่ถูกต้องให้กับประชาชนที่สนใจ
ส่วนกรณีที่สถาบันการสร้างชาติให้ความรู้เกี่ยวกับกระบวนการเลือก ส.ว.นั้น ประธาน กกต. กล่าวว่า ไม่ได้มีกฎหมายห้าม ดังนั้นหากเป็นการจัดการอบรม เพื่อให้ความรู้ความเข้าใจ น่าจะเป็นส่วนที่ดี เพราะจะช่วยส่งเสริมเผยแพร่ความสำคัญของการสมัครเข้ารับการคัดเลือกเป็น ส.ว.
เมื่อถามว่า การดำเนินการดังกล่าวจะเข้าข่ายเป็นการสร้างเครือข่ายเพื่อบล็อกโหวต หรือล็อบบี้กันหรือไม่ ประธาน กกต. กล่าวว่า ตอนนี้ยังพูดแบบนั้นไม่ได้ เพราะเป็นการประกาศว่าจะมีการอบรม ไม่แน่ใจว่ามีการอบรมไปแล้วหรือไม่ และมีการประกาศจัดในที่สาธารณะ จึงคิดว่าน่ามองตามข้อเท็จจริงไปก่อน ส่วนที่เริ่มมีการเปิดตัวจากผู้มีชื่อเสียงว่าจะลงสมัครเข้ารับการคัดเลือกเป็นสว.และรณรงค์ประชาสัมพันธ์ตัวเองแล้ว ก็เห็นว่าทำได้ เพราะเป็นเรื่องปกติที่แสดงความสนใจ ก็บอกได้ ไม่มีใครห้าม โดยกระบวนการรับสมัครจะมีขึ้นใน 15 วัน หลังจากมีพระราชกฤษฎีกากำหนดให้มีการเลือก ส.ว. ดังนั้น ช่วงนี้ถือเป็นการเตรียมความพร้อมของทุกฝ่าย รวมถึงประชาชนที่สนใจลงสมัครด้วย เพราะวาระของสว.ชุดนี้จะสิ้นสุดลงในวันที่ 11 พ.ค. เหลือเวลาอีกไม่นาน และกระบวนการเลือก ส.ว.ก็จะมีขึ้นหลังจากนั้นไม่เกิน 60 วัน ฉะนั้น การให้ความรู้ การสร้างความตื่นตัวให้กับประชาชน ถือเป็นเรื่องที่มีความสำคัญ หากทุกภาคส่วนร่วมมือกันได้ ก็จะเป็นเรื่องที่ดี
“ช่วงนี้ยังไม่มีข้อระวังอะไร เพราะยังไม่เกิดอะไรที่พึงระวัง และต้องค่อยๆ ดูข้อเท็จจริง เพราะกกต.มีหน้าที่ตามกฎหมาย ทำให้การคัดเลือกสว.เป็นไปด้วยความสุจริตและเที่ยงธรรม ดังนั้นการที่จะคิดอะไรไปก่อน โดยไม่ปรากฏข้อเท็จจริง เป็นเรื่องที่ไม่สมควรอย่างยิ่ง”
เมื่อถามว่า มีความพยายามที่จะทำให้ผู้สมัครเป็นที่เข้าใจว่ามีพรรคการเมืองหนุนหลัง ถือเป็นความผิดตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว.หรือไม่ นายอิทธิพร กล่าวว่า มาตรา 77 ได้กำหนดโทษเอาไว้แล้ว ส่วนจะนำไปสู่การยุบพรรคหรือไม่ ยังไม่แน่ใจ ทั้งนี้เห็นชัดแล้วว่าเป็นการเลือกตั้งโดยประชาชน ซึ่งเหตุที่จัดให้มีการเลือกโดยประชาชนเพราะเคยมีการจัดให้มีการเลือกตั้งแล้วมีการอิงกับพรรคการเมือง และมีการใช้หัวคะแนน ดังนั้นอะไรก็ตามที่ไม่เป็นการดำเนินการสมัครหรือดำเนินการสมัครด้วยตัวเอง ก็ถือว่าเสี่ยงต่อการฝ่าฝืนกฎหมาย
ส่วนผู้ที่เป็นสมาชิกพรรคและกรรมการบริหารพรรคการเมืองจะสามารถลงสมัครได้จะต้องเว้นวรรค 5 ปี หรือไม่ นายอิทธิพร กล่าวว่า ต้องเว้นวรรค 5 ปี แต่อดีต ส.ว.ที่จะรวมตัวกันจะส่งผู้สมัคร ไม่สามารถทำได้ เพราะเฉพาะ ส.ว.เองก็ลงสมัครไม่ได้อยู่แล้ว ซี่งการรวมตัวจะยิ่งถือว่าไม่เป็นอิสระ และ พ.ร.ป.การได้มาซึ่ง ส.ว.ที่จัดให้มีการเลือกในระบบนี้เป็นครั้งแรกก็เพื่อป้องกันไม่ให้มีการแทรกแซงจากพรรคการเมือง ฉะนั้น อะไรก็ตามที่เข้ามาแทรกแซง ก็เสี่ยงต่อการฝ่าฝืนกฎหมาย
เมื่อถามว่า คณะก้าวหน้าที่ดำเนินการในเรื่องการเลือกตั้งท้องถิ่นสามารถมีผู้สมัครเข้ารับการคัดเลือกเป็น ส.ว.หรือไม่ ประธาน กกต. ย้ำว่า ไม่สามารถยึดโยงกันได้ เพราะเป็นการให้ประชาชนผู้สนใจมาสมัคร จึงขอให้ยึดมั่นในคำนี้ ขณะที่การตรวจสอบของ กกต.นั้นไม่จำเป็นต้องมีผู้มายื่นคำร้อง หากมีข้อเท็จจริงว่ากระทำการที่เข้าข่ายหรืออาจจะเป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย กกต.สามารถตั้งเรื่องตรวจสอบเองได้
เมื่อถามย้ำว่า การเลือก ส.ว.ที่ผ่านมา กกต.ตั้งเป่าผู้สมัคร 1 แสนคน แต่มาจริงแค่ 7,000 คน ดังนั้น กกต.จะมีนโยบายดำเนินการอย่างไรให้เป็นไปตามเป้านั้น นายอิทธิพร กล่าวว่า ตอนนั้นตนพูดเองว่าจะมีผู้สมัคร 1 แสนคน โดยคำนวณจากพื้นฐานวิธีการสมัครและผลที่จะได้จากแต่ละอำเภอกลุ่มละ 3 คน แต่ข้อเท็จจริงที่ออกมาพบว่าผู้สมัครไม่เยอะ ไม่เป็นที่น่าสนใจ ไม่น่าตื่นเต้น แต่ขณะนี้ที่ตั้งเป้าตัวเลข 1 แสนคน เพราะเป็นการเลือกเต็มรูปแบบ ไม่ใช่บทเฉพาะกาล โดยผู้ที่ได้รับเลือกก็จะได้รับเลือกเลย แตกต่างจากปี 2561 ที่เลือกเพียงรอบเดียว เมื่อได้ 200 รายชื่อ ในระดับจังหวัดต้องส่งให้ คสช.เลือกอีก 50 คน ดังนั้นปัจจัยการเลือกตั้งทื่แล้วกับครั้งนี้แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง จึงหวังว่าตัวเลขที่ 1 แสนคน ไม่มากไม่น้อยจนเกินไป ทั้งนี้ ย้ำว่า การเลือก ส.ว.ครั้งนี้ยังมีข้อห้ามหาเสียงเช่นเดิม
ส่วนที่ อดีตเลขาฯ กกต.ยืนยันว่า การเลือกตั้ง ส.ว.ปี 2561 เป็นการเลือกที่เงียบที่สุดในโลก ครั้งนี้จะเป็นเช่นเดิมหรือไม่นั้น นายอิทธิพร กล่าวว่า ครั้งที่แล้วไม่ได้เงียบที่สุดในโลก ถ้าเราจะพูดว่าเงียบที่สุดในโลก เราก็ต้องทราบว่าในโลกนี้มีการเลือกส.ว.ที่เงียบกว่าเราหรือไม่ แต่จริงๆ แล้ว กกต.ก็พยายามไปประโคมข่าวและประชาสัมพันธ์ให้มากที่สุด แต่ความสนใจของประชาชน ณ ขณะนั้นมีไม่เยอะเท่าที่เราคาดการณ์ไว้