“เครือข่ายผลิตสุรา” ร้องค้าน ติดฉลากน่ากลัวบนขวด นักวิชาการ ประเมินผู้ผลิตจะหายกว่าครึ่ง “เท่าพิภพ” ได้ยินเสียงแว่ว เรื่องนี้จะไม่ผ่าน
เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 28 ก.พ. 2567 ที่รัฐสภา นายเท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร ส.ส.กทม. พรรคก้าวไกล นำตัวแทนเครือข่ายธุรกิจอุตสาหกรรมสุรา นักวิชาการ รวมถึงสมาคมผู้ประกอบการนำเข้าและผลิตสุราแห่งประเทศไทย ผู้ผลิตไวน์ภายในประเทศ ยื่นหนังสือต่อ นายสิทธิพล วิบูลย์ธนากุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะประธานกรรมาธิการการพัฒนาเศรษฐกิจ สภาผู้แทนราษฎร และ นพ.ทศพร เสรีรักษ์ ส.ส.แพร่ พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการสาธารณสุข สภาผู้แทนราษฎร เพื่อคัดค้านและเรียกร้องให้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาชี้แจง กรณีการติดฉลากเป็นรูปน่ากลัวบนเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
นายเท่าพิภพ กล่าวว่า เรื่องการติดฉลากเป็นรูปน่ากลัว เพื่อควบคุมการดื่มแอลกอฮอล์ที่เป็นประกาศของคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กระทรวงสาธารณสุข ที่รับฟังความคิดเห็นอยู่ ถือเป็นประเด็นสำคัญในสังคม
ทั้งนี้ มีโฆษกพรรคการเมือง และโฆษกของคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์กรมควบคุมโรค บอกว่า ตนบิดเบือนข้อมูลเรื่องนี้ ตนขอชี้แจงว่า หากไปดูตามมาตรา 26 ของ พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ คณะกรรมการคือ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สาธารณสุข นั่งหัวโต๊ะ จะหาว่าตนบิดเบือนได้อย่างไรก็ไม่ทราบ
“ทำงานก็มีวุฒิภาวะหน่อยนะครับ ก็ต้องฝากถึง แต่ก็ชื่นใจ ที่มีคุณหมอทศพรมาด้วย มีตัวแทนทั้ง 2 ฟากฝั่งของการเมือง ฝ่ายค้านและรัฐบาล น่าจะมีข้อสรุปที่ดีไปพิจารณา ซึ่งได้ยินแว่วๆ มาว่าเรื่องการติดฉลากนี้จะไม่ผ่าน ถือเป็นเรื่องที่ดี” นายเท่าพิภพกล่าว
ขณะที่ ผศ.ดร.เจริญ เจริญชัย ตัวแทนของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเครื่องดื่มสุราพื้นบ้าน และนักวิชาการ กล่าวว่า การที่ผู้ประกอบการไม่ค่อยจะกล้าออกมาพูด เพราะว่าส่วนมากทำงานเกี่ยวกับการผลิตเครื่องดื่ม ที่อยู่ภายใต้หน่วยงานราชการที่ควบคุม เพราะฉะนั้น นักวิชาการก็ต้องเป็นหัวหอกนำหน้าให้ มองว่ามาตรา 26 ของ พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เป็นปัญหา และมองว่าหน่วยงานราชการที่ดูแลกฎหมายเรื่องนี้ไม่ได้สนใจเลยว่าประชาชนจะได้รับผลกระทบอย่างไร ผู้ประกอบการจะได้รับผลกระทบอย่างไร โดยที่ผลักดันกฎหมายออกมาอย่างสุดโต่ง เข้าสู่กระบวนการรับฟังความคิดเห็น ถึงแม้จะอ้างว่าเป็นเพียงการรับฟังความคิดเห็น แต่เราก็เชื่อว่าในการรับฟังความคิดเห็นของก็จะมีเครือข่ายสายต้านเหล้าระดมกันมาให้ความเห็นสนับสนุน ถือเป็นการโยนหินถามทางว่ารัฐบาลปัจจุบันนี้จะเห็นกับกฎหมายเหล่านี้อย่างไร เป็นการทดลองว่ารัฐบาลจะเอาด้วยหรือไม่ ตนประเมินว่าผู้ผลิตจะหายไปครึ่งหนึ่ง เพราะต้องเปลี่ยนฉลากใหม่ รวมถึงมีภาพที่เกิดผลกระทบต่อลูกค้า ที่จะนำสินค้าขายให้กับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ
“บางทีอาจจะลือไปทั่วโลก ว่า ไม่ต้องมากินเหล้าที่เมืองไทยแล้ว เพราะมันน่าเกลียด อยากให้กรรมาธิการเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาหารือ เพื่ออยากทราบวัตถุประสงค์ของการของกฎหมายฉบับนี้” ผศ.ดร.เจริญ กล่าว
ด้าน นายสิทธิพล กล่าวว่า กรรมาธิการการพัฒนาเศรษฐกิจมีหน้าที่เกี่ยวข้องโดยตรงในการตรวจสอบติดตามในเรื่องนี้ ซึ่งตนจะนำไปประชุม เพื่อเรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำมาชี้แจง อยากฝากไปถึงรัฐบาลว่าอุตสาหกรรมผลิตเหล้าเบียร์ เป็นอุตสาหกรรมสำคัญของประเทศ ที่ช่วยสร้างงานสร้างรายได้ สำคัญ
หากกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก ต้องไปดูว่ากระทบกับเศรษฐกิจในระดับชุมชนหรือไม่ ผู้ประกอบการรายย่อยจะแข่งขันได้ยากขึ้น นำเสนอสินค้าได้ยากขึ้นหรือไม่ และประการสำคัญที่สุดสำหรับรัฐบาลชุดนี้ซึ่งให้ความสำคัญกับเรื่องซอฟต์พาวเวอร์
ตนคิดว่าประเด็นการกำกับด้วยฉลากรูปแบบต่างๆ ต้องคำนึงถึงว่าส่งไปกระทบต่อซอฟต์พาวเวอร์ที่รัฐบาลพยามผลักดันหรือไม่
“เป็นการสื่อสารไปในลักษณะตรงข้ามกับที่รัฐบาลจะผลักดันเรื่องซอฟต์พาวเวอร์หรือไม่ ผมเชื่อว่าหากมีเหตุผลที่ดีพอ รัฐบาลจะรับฟังและไปปรับปรุง การรักษาสมดุลของการรักษาสุขภาพ การคุ้มครองผู้ประกอบการ การคุ้มครองสิทธิผู้บริโภค ก็เป็นสิ่งสำคัญที่รัฐบาลต้องคำนึงถึง” นายสิทธิพล กล่าว
นพ.ทศพร กล่าวว่า ตนจะพยายามเข้าไปดูสร้างความสมดุลกับเรื่องเศรษฐกิจกับสุขภาพของประชาชน อย่างไรก็ตาม ต้องให้เกิดความสมดุลระหว่าง 2 ทาง และจะนำเรื่องนี้ไปทำงานกับรัฐบาล
นายเท่าพิภพ ยังกล่าวทิ้งท้ายการแถลงด้วยว่า นพ.ชลน่าน ดูแลกำกับข้าราชการได้ดีแค่ไหน การปรับคณะรัฐมนตรีใกล้เข้ามาแล้ว ซึ่งเดือนหน้าจะมีกฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เข้าสภา ตนและพรรคก้าวไกลได้เสนอร่างยกเลิกร่าง พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ฉบับนี้ คิดว่าข้าราชการออกกฎใช้กฎหมายเอง เป็นเรื่องไม่ถูกต้องตามหลักนิติรัฐ นิติธรรม
“ดังนั้น ถ้ารัฐมนตรีที่เป็นเจ้ากระทรวงเอง มีความรับผิดชอบ มาจากการเลือกตั้ง มาจากฝั่งการเมืองต้องคำนึงถึงเรื่องนี้” นายเท่าพิภพ กล่าว