xs
xsm
sm
md
lg

“ธรรมนัส” ชง พ.ร.บ.ประมงฯ เข้าสภา ปรับให้เหมาะปัจจุบันสอดคล้องกับพันธะระหว่างประเทศ บรรเทาความเดือดร้อน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รมว.เกษตรฯ เสนอ พ.ร.บ.ประมงฯ ต่อสภา ปรับปรุงกฎกำหนดให้เหมาะกับปัจจุบัน สอดคล้องกับพันธะระหว่างประเทศ หวังบรรเทาความเดือดร้อนของชาวประมง ก่อน สภาเอกฉันท์รับหลักการร่าง กม.ประมง



วันนี้ (22 ก.พ.) ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มี นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาคนที่สอง ทำหน้าที่เป็นประธานในที่ประชุม วาระการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 พ.ศ. .... ที่คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ และมีร่างทำนองเดียวกันอีก 7 ฉบับ ซึ่งเป็นการพิจารณาต่อจากเมื่อวันที่ 7 ก.พ.ที่ ครม.ได้ นำร่าง พ.ร.บ.ไปพิจารณา โดย ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ส.ส.พะเยา เขต 1 พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้นำเสนอร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 โดยมีหลักการและเหตุผลของราชบัญญัติดังต่อไปนี้

1. เหตุผลและความจำเป็นในการเสนอร่างพระราชบัญญัติโดยโดยที่พระราชกำหนดการประเมิน พ.ศ. 2558 มีบทบัญญัติบางประการที่ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ซึ่งส่งผลกระทบต่อการประกอบอาชีพของพี่น้องชาวประมง ดังนั้นเพื่อเป็นการป้องกันมิให้มีการทำประมงโดยชอบด้วยกฎหมาย และเพื่อประโยชน์ในการอนุรักษ์และบริหารจัดการซะกรสัตว์น้ำให้อยู่ในสภาวะที่เหมาะสม และสามารถทำการประมงได้อย่างยั่งยืน รวมทั้งเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน และชาวประมงผู้ประกอบอาชีพประมงโดยสุจริตให้ได้รับความเป็นธรรมถึงการส่งเสริมประกอบอาชีพประมงให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และเกิดประโยชน์สูงสุด โดยสอดคล้องกับกรณีระหว่างประเทศ จึงจำเป็นต้องมีการตราพระราชบัญญัติ

ร.อ.ธรรมนัส กล่าวต่อว่า สาระสำคัญของพระราชบัญญัติได้แก้ไขทั้งหมด 36 มาตรา ซึ่งในส่วนของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมประมงได้แก้ไขกฎหมายรอง ในช่วงระยะเวลา 4 เดือนที่ผ่านมาทั้งหมด 19 ฉบับ ซึ่งเป็นการแก้ไขปัญหาเร่งด่วนของพี่น้องชาวประมง การแก้ไขเพิ่มเติมเจตนารมย์ของพระราชกำหนดการประมง 2558 โดยให้ความสำคัญกับการส่งเสริม และการสนับสนุนกิจการการประมงการคุ้มครองการประกอบอาชีพการประมงการมีส่วนร่วมของพี่น้องประชาชน ตลอดจนถึงการเน้นย้ำความสำคัญของการบังคับใช้มาตรการในการบังคับกับพี่น้องให้มีความเหมาะสมกับบริบทของประเทศไทย ซึ่งร่างมาตรา 3 ได้แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 42 การแก้ไขเพิ่มเติม บทนิยามคำว่า ทะเลชายฝั่ง โดยเพิ่มเติมการกำหนดเขตทะเลชายฝั่งให้มีระยะน้อยกว่า 1.5 ไมล์ทะเล สำหรับที่มีข้อจำกัดตามลักษณะทางกายภาพ และแก้ไขเพิ่มเติมตามบทนิยามคำว่า การประมงพื้นบ้าน เพื่อลดข้อจำกัดในด้านพื้นที่ของการทำประมงพื้นบ้าน ซึ่งเดิมจำกัดแต่การทำประมงในเขตทะเลชายฝั่งเท่านั้น

ร่างมาตรา 4 ยกเลิกนิยามคำว่า ทะเลชายฝั่งและร่างมาตรา 5 ยกเลิกบทนิยามคำว่า ระบบพื้นบ้าน การแก้ไขบัญญัติเกี่ยวกับคณะกรรมการนโยบายการประมงแห่งชาติ โดยเพิ่มเติมให้นายกรัฐมนตรีสามารถมอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน
กรรมการได้ และเพิ่มเติมปลัดกระทรวงพาณิชย์ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม และเลขาธิการศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลเป็นกรรมการโดยตำแหน่ง นอกจากนี้ในส่วนของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ได้มีการเพิ่มเติมให้รัฐมนตรีมีอำนาจประกาศกำหนดหลักเกณฑ์ในการคัดเลือกผู้แทนสมาคมการประมงด้านต่างๆ โดยให้มีการคัดเลือกกันเอง และกำหนดเพิ่มเติมอายุการเป็นกรรมการของผู้ทรงคุณวุฒิจากเดิม 2 ปี เป็น 3 ปี

นอกจากนี้ ยังแก้ไขบทบัญญัติเกี่ยวกับคณะกรรมการประมงประจำจังหวัด โดยเพิ่มเติมการเกษตรและสหกรณ์จังหวัดผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัด และผู้แทนของศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล เฉพาะจังหวัดแต่ละจังหวัดที่มีอาณาเขต และแก้ไขมาตรา 26 เพิ่มเติมของผู้มีสิทธิ์ขอรับใบอนุญาตการทำประมงพื้นบ้าน เพื่อกำหนดเฉพาะผู้มีสัญชาติไทยเท่านั้นที่สามารถมาขออนุญาตทำประมงพื้นบ้านได้รวมถึงการจำกัดจำนวนใบอนุญาตของแต่ละบุคคลออกเพื่อเป็นการส่งเสริมให้ประชาชนได้ทำการประมงพื้นบ้านของผู้มีสัญชาติไทย

“กฎหมายนี้เป็นกฎหมายที่พี่น้องประชาชนได้รับความทุกข์ระทมมาช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา เป็นความยากลำบากของพี่น้องชาวประมงทั้งฝั่งทะเลอันดามัน และอ่าวไทย มีผลในการบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนและพี่น้องชาวประมงผู้ประกอบอาชีพการประมงโดยสุจริตให้ได้รับความเป็นธรรม โดยเฉพาะการปรับปรุงกฎกำหนดโทษให้สอดคล้องกับสภาพความรุนแรงของการกระทำความผิด ตลอดจนถึงการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการการประมงและอุตสาหกรรมประมงของประเทศฟื้นตัวอย่างเหมาะสม นอกจากนี้ยังสอดคล้องกับพันธะระหว่างประเทศควบคู่ไปกับการรักษาสรรพากรสัตว์น้ำ เพื่อเป็นแหล่งอาหารของมนุษยชาติ และการใช้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจจากยั่งยืน รวมทั้งเป็นการสร้างการมีส่วนร่วมของพี่น้องประชาชนในการอนุรักษ์บำรุงรักษาฟื้นฟูการคุ้มครองสภาพสิ่งแวดล้อมให้ดำรงอยู่คู่กับสภาพที่เหมาะสมอย่างยั่งยืน” ร.อ.ธรรมนัส กล่าว

ด้าน นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวอภิปรายว่า ร่าง พ.ร.บ.ประมงฯ นี้ นำเข้าสภา ตั้งแต่ 21 เม.ย. 2558 จนถึงวันนี้ แสดงให้เห็นถึงแรงเฉื่อยของสภาในการแก้ปัญหา ปี 2558 ที่เราผ่านกฎหมายประมงผิดกฎหมายและไร้การควบคุม หรือ IUU ที่ระบุชัดว่าเราจะต้องปฏิบัติตามหลักการใช้เขตอำนาจรัฐนอกดินแดน (Long arm jurisdiction) และหากประเทศไทยไม่ปฏิบัติตามก็จะไม่สามารถส่งสินค้าประมงไปขายสหภาพยุโรปได้ จึงขอเตือนสติอีกครั้งว่า ประเทศไทยส่งออกประมง 2 แสนล้านบาท ส่งออกไปยุโรปเพียงแค่ 6.7% เท่านั้น แต่คนที่ต้องรับกรรมคือพี่น้องประชาชนที่ไม่ได้ส่งออกไปยุโรป คนส่งออกไม่ได้รับโทษ คนที่รับโทษไม่ได้ส่งออก นี่คือความอยุติธรรมตลอด 10 ปี ที่ผ่านมา ที่ประชาชนน้ำตาไหลแล้ว น้ำตาไหลเล่า วันนี้เป็นวันที่เราจะร่วมนิมิตหมายทุกคน ทุกพรรค ผ่านกฎหมายนี้ ตั้งคณะกรรมาธิการซะ และผ่านกฎหมายโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

นายพิธา ยังกล่าวถึงผลกระทบของอุตสาหกรรมประมง ตั้งแต่ปี 2560-2566 การส่งออกลดลง 11% อย่าลืมว่าการส่งออกไม่ใช่อยู่แค่การจับปลา แต่ยังมีเรื่องท่าเรือ สะพานปลา และการขนส่ง ที่นายกรัฐมนตรีเดินทางไปพบประชาชนเมื่อวันที่ 31 ส.ค. 2566 และไปสัญญากับนายกสมาคมประมงเอาไว้ว่าจะแก้ไขให้ชาวประมงได้เร็วที่สุด อย่างน้อยกฎหมายลูกต้องแก้ให้ได้ภายใน 90 วัน แต่ตัวเลขอุตสาหกรรมท่าเรือ สะพานปลา และการขนส่งหายไป 25% นี่คือ ความใหญ่ ความหนัก และความยาวนานกว่า 10 ปี ที่ชาวประมงโดนกฎหมายอำนาจนิยมกดขี่พวกเขาไว้ โดนบีบจนไม่มีทางเลือกที่เหลือ

นายพิธา ยังแสดงให้เห็นถึงชาวประมงที่กลายเป็นผู้ต้องหาคดี 4,632 คน โทษปรับและจำคุกหนัก เล่นกันจนบีบให้ต้องขายเรือมากมาย ซึ่งชาวบ้านบอกว่าการที่ต้องปรับตัวไปตาม IUU ไม่ได้ว่าอะไร แต่ต้องให้โอกาสเขาปรับตัว ไม่ใช่ปรับจนเขาล้มละลาย ถ้ามีระยะเวลาเปลี่ยนผ่าน มีกองทุนประมง เรื่องกฎหมายต้องทำให้ถูกต้องและศักดิ์สิทธิ์ ตนไม่เถียง แต่มันได้สัดส่วนหรือไม่กับอาชญากรรมที่เขาก่อ บางรายพ่อจะเสียชีวิต ไม่ได้แจ้ง BMS กลับเข้าฝั่ง จึงถูกดำเนินคดี ถูกปรับหลายแสน จึงเรียกร้องให้สภาแห่งนี้ ไม่ว่าจะผ่านร่างกฎหมายอะไร วันนี้ขอให้รวมร่างของพรรคก้าวไกลไปด้วย เพราะ พ.ร.บ.ของพรรคก้าวไกล เน้นให้ท้องถิ่นดูแลทรัพยากรเอง ซึ่งจะมีคณะกรรมการประมงจังหวัดที่จะกำหนดเงื่อนไขประมงตามความเหมาะสมของพื้นที่ ไม่ใช่ตัดเสื้อตัวเดียวเป็นโหล และขยายเขตอนุรักษ์เป็น 12 ไมล์ทะเล มีประชาชนร่วม 4 คน หัวโต๊ะเป็นนายก อบต.ที่มาจากการเลือกตั้ง และมีตัวแทนจาก อบต. และ อบจ. สุดท้ายขอให้กรรมาธิการ ครม.และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องคิดถึง 3 วิสัยทัศน์สำคัญ คือคำนึงถึงวิถีชีวิตชาวประมง ทรัพยากรประมง และความมั่นคงของเศรษฐกิจ

จากนั้นที่ประชุมได้ลงมติรับหลักการร่าง พ.ร.บ.ทั้ง 8 ฉบับ ด้วยมติ 416 คน ไม่เห็นด้วยไม่มี จำนวนผู้ลงมติ 416 คน ตั้งคณะกรรมาธิการ 37 คน โดยใช้ร่างของคณะรัฐมนตรีเป็นร่างหลัก


กำลังโหลดความคิดเห็น