xs
xsm
sm
md
lg

ก้าวไกลค้านร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม เปลี่ยนบอร์ดเลือกตั้ง เป็นแต่งตั้ง ฉะ ก.แรงงาน ถอยหลังลงคลอง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ส.ส.ก้าวไกล นำทีมค้าน “ร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม” เปลี่ยนที่มาบอร์ด จากเลือกตั้งเป็นแต่งตั้ง ฉะ กระทรวงแรงงาน แก้กฎหมายถอยหลังลงคลอง

วันนี้ (21 ก.พ.) ที่รัฐสภา นายเซีย จำปาทอง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล และรองประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร แถลงกรณีการแก้ไขร่างพระราชบัญัตติ (พ.ร.บ.) แรงงาน ว่า ตามที่กระทรวงแรงงานได้เสนอร่างพ.ร.บ.ประกันสังคม (ฉบับที่.) พ.ศ…. ไปยังสำนักเลขารัฐมนตรี โดย พ.ร.บ.ดังกล่าว มีการแก้ไขจากฉบับเดิมหลายมาตรา

สิ่งที่สำคัญที่ตนในฐานะ ส.ส.สัดส่วนเครือข่ายผู้ใช้แรงงานพรรคก้าวไกล และ ส.ส.ทุกคน ขอคัดค้าน คือ เราไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งกับการแก้ไขที่มาของคณะกรรมการประกันสังคมฝ่ายผู้ประกันตนและนายจ้าง (บอร์ดประกันสังคม)

โดยให้เปลี่ยนจากเดิมที่เป็นแบบเลือกตั้งไปเป็นแบบแต่งตั้ง ตามเนื้อหาในร่างกฎหมาย ว่า หลักเกณฑ์และวิธีการได้มาซึ่งผู้แทนฝ่ายนายจ้างและผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตน ให้เป็นไปตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี

เมื่อก่อนนั้น การเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคม จะมาจากการเลือกตั้งของผู้แทนสหภาพแรงงาน โดยมี 1 เสียง ไม่ว่าสหภาพแรงงานจะมีสมาชิก 5,000 คน หรือมีสมาชิกแค่ 50 คน ก็มี 1 เสียงเท่ากัน ซึ่งประเทศไทยมีจำนวนสหภาพแรงงานเพียงแค่ราว 1,400 แห่งเท่านั้น ถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับสัดส่วนสถานประกอบการ

มีสถานประกอบการจำนวนมากที่ไม่มีสหภาพแรงงาน และมีผู้ใช้แรงงานจำนวนมากที่ไม่เป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน ผู้ประกันตนส่วนใหญ่ในช่วงเวลานั้นจึงไม่ได้มีสิทธิ์มีเสียงใดๆ ทั้งทางตรงและทางอ้อม ทั้งๆ ที่พวกเขาจ่ายเงินเข้ากองทุนประกันสังคมทุกๆ เดือน

ที่ผ่านมา ผู้ใช้แรงงานจำนวนมากพยายามเสนอให้มีการเลือกตั้งโดยตรงจากผู้ประกันตน คือ 1 ผู้ประกันตน 1 สิทธิ แต่ก็ไม่เคยได้รับการตอบรับจากรัฐบาลแต่อย่างใด จนต่อมาเมื่อมีการทำรัฐประหารปี 2557

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. ได้กระทำการซ้ำร้ายกว่าเดิม ในวันที่ 8 พ.ย. 2558 โดยมีคำสั่งที่ 40/2558 ให้แต่งตั้งคณะกรรมการประกันสังคมใหม่ทั้งหมด แทนที่ชุดเดิมที่มาจากการเลือกตั้งโดยผู้แทนสหภาพแรงงาน

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ตนได้ร่วมกับพี่น้องแรงงานในการติดตามทวงถามต่อ รมว.แรงงาน สำนักงานประกันสังคม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายครั้ง โดยช่วงต้นเดือน ต.ค. 2566 สำนักงานประกันสังคมประกาศให้ผู้ประกันตนที่มีสิทธิเลือกตั้ง เริ่มลงทะเบียนภายในวันที่ 12-31 ต.ค. 2566 และจัดให้มีการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 ธ.ค. 2566 ที่ผ่านมา

หลังการเลือกตั้งสำนักงานประกันสังคมได้ประกาศผลอย่างไม่เป็นทางการ และประกาศรับรองในวันที่ 23 ม.ค. 2567 ปรากฏว่าผู้ที่ได้คะแนนอันดับที่ 7 ไม่ใช่คนเดิมตามประกาศแรก จึงทำให้มีคำถามมากมายว่าเกิดอะไรขึ้นกับผลคะแนนการเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคม

ประชาชนมองเห็นความไม่ชอบมาพากลหลายประการ ทั้งกระบวนการประชาสัมพันธ์จัดการเลือกตั้ง กติกาที่กีดกันผู้ประกันตนที่เป็นแรงงานข้ามชาติออกจากการเลือกตั้ง ไม่ว่าจะเป็นผู้เลือกตั้งหรือผู้สมัครรับเลือกตั้ง การรับรองคะแนนที่ล่าช้าไปอย่างต่ำ 2 เดือน และผลการเลือกตั้งทางการที่จู่ๆ ก็เปลี่ยนตัวกรรมการไป 1 คน

วันนี้กระทรวงแรงงานได้เสนอร่างพ.ร.บ.ประกันสังคม (ฉบับที่.) พ.ศ….. เข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยในเนื้อหาของร่างกฎหมายนั้นเหมือนว่าประกันสังคมต้องการจะย้อนเวลาตามหายุค คสช. กลับไปล้าหลังกว่าเดิม

ดังที่ระบุไว้ใน มาตรา 8 ว่า หลักเกณฑ์และวิธีการได้มาซึ่งผู้แทนฝ่ายนายจ้างและผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตนให้เป็นไปตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี นี่เป็นสิ่งที่ล้าหลังและถอยหลังอย่างยิ่ง

การที่ นายบุญส่ง ทัพชัยยุทธ์ เลขาธิการประกันสังคม ได้ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชน โดยอ้างว่าใช้งบประมาณจัดเลือกตั้ง เกือบ 100 ล้านบาท แต่คนมาใช้สิทธิไม่ถึงล้านคนจากผู้ประกันตน 24 ล้านคน ผู้ที่มีสิทธิ 10 ล้านกว่าคน สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน ได้สรุปบทเรียนการเลือกตั้งครั้งนี้หรือไม่ว่าเกิดจากอะไร

การประชาสัมพันธ์น้อยไปหรือไม่ การลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ประกันสังคมมีปัญหาจริงหรือไม่ การเดินทางไปหน่วยเลือกตั้งที่อยู่ห่างไกลร่วมร้อยกิโลทำให้ผู้ประกันตนไม่สามารถไปใช้สิทธิ์ได้จริงใช่หรือไม่

มิหนำซ้ำ หน่วยเลือกตั้งเหล่านี้หลายหน่วยก็ไม่รับรองผู้พิการด้านต่างๆ อีกด้วยหรือเปล่า ปัญหาอุปสรรคต่างๆ เป็นอย่างไร ควรจะนำไปปรับปรุงแก้ไขให้การเลือกตั้งในครั้งหน้าดีขึ้นกว่าเดิมหรือเปล่า ทำไมถึงกลับมาแก้ไขกฎหมายให้ถอยหลังลงคลองเช่นนี้

“หรือที่ผ่านมา กระทรวงแรงงานและสำนักงานประกันสังคม ไม่เคยคิดอยากให้มีการเลือกตั้งในรูปแบบ 1 สิทธิ 1 เสียง มีใครได้ประโยชน์อะไรจากการแต่งตั้งบอร์ดประกันสังคมหรือไม่ วันนี้ในเมื่อเรามีกฎกติกาที่ก้าวหน้ามาไกลแล้ว ทำไมถึงได้มีความพยายามดึงถอยหลังกลับไปอีก วันนี้ผมและคณะจึงขอคัดค้านในประเด็นดังกล่าว รวมถึงขอเชิญชวน ครม. ทุกท่านมาร่วมคัดด้านกับเราด้วย

เพราะเราต้องการให้สังคมไทยเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น ไม่ใช่เป็นประชาธิปโดยน้อยลง ดังนั้น ในการเลือกตั้งขนาดใหญ่เป็นอันดับสองของผู้ใช้แรงงาน เราจึงสมควรปกป้องความศักด์สิทธิ์ของกระบวนการการมีส่วนร่วมของประชาชน ไม่ใช่มัวหวาดระแวงการเลือกตั้งเยี่ยงรัฐบาลเผด็จการ” นายเซีย กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น