“ภูมิธรรม” ยันไม่ผิดที่ “ทักษิณ” จะให้คำปรึกษารัฐบาล เพราะเป็นผู้มีประสบการณ์ ขออย่ากังวลมีนายกรัฐมนตรีหลายคนครอบงำรัฐบาล ย้ำ รัฐบาลทำงานเต็มที่ เร่งแก้ปัญหายาเสพติด นำประสบการณ์สมัยทักษิณ มาใช้แก้ปัญหาอย่างเหมาะสม ชี้ รัฐบาลนี้พร้อมรับฟังทุกความเห็น โดยเฉพาะโครงการเงินดิจิทัลวอลเล็ต ที่ประชาชนทวงถามนายกรัฐมนตรีในช่วงลงพื้นที่
วันนี้ (19 ก.พ.) นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ยอมรับว่า รัฐบาลนี้รับฟังข้อคิดเห็นจากทุกภาคส่วนเพื่อให้เกิดประโยชน์กับการทำงาน เช่นเดียวกับโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านระบบดิจิทัลวอลเล็ต ที่บางคนมีความเห็นต่างและสนับสนุน ซึ่งล่าสุด การที่นายกรัฐมนตรีลงพื้นที่ก็มีคนทวงถามว่า จะดำเนินการอย่างไรบ้าง ซึ่งรัฐบาลและผู้ปฏิบัติงานทุกคนก็ต้องรับฟังเสียงและความรู้สึกนึกคิดของประชาชนที่สะท้อนเข้ามา ส่วนจะใช้ได้หรือใช้ไม่ได้ ขึ้นอยู่กับข้อเสนอนั้นว่าสอดรับกับความเป็นจริงหรือไม่ ถือว่าเป็นเรื่องธรรมดา ส่วนตัวคิดว่าในฐานะที่ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นผู้มีประสบการณ์อย่างน้อยสังคมไทย ก็ยอมรับว่า ในยุคสมัยนั้นก็ได้มีการแก้ปัญหาวิกฤตการณ์ของประเทศในหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นวิกฤตการระบาดไข้หวัดนก วิกฤตไอเอ็มเอฟ ซึ่งถือว่าแก้ไขปัญหาได้สำเร็จ ดังนั้น หากจะมีการให้ความเห็นในระหว่างที่ประเทศเจอวิกฤตก็ถือเป็นเรื่องธรรมดา ส่วนคำปรึกษาจะใช้ได้มากน้อยเพียงใด ก็ขึ้นอยู่กับผู้ปฏิบัตินำไปปรับใช้กันเอง ดังนั้น อย่าไปกังวลใจหรือนำไปผูกกับประเด็นทางการเมือง เมื่อนายทักษิณเข้ามาแล้วจะครอบงำ หรือมีนายกรัฐมนตรีสองคน ซึ่งเรื่องนี้ไม่ต้องเป็นห่วงหรือกังวลใจกับรัฐบาลในเรื่องนี้ เพราะรัฐบาลได้ตั้งใจทำงานให้ดีอยู่แล้ว
ส่วนกรณีที่มีการห่วงการระบาดยาเสพติดในช่วงนี้ จะมีการขอความเห็นนายทักษิณหรือไม่ เพราะก่อนหน้านี้ เคยมีบทบาทสำคัญในการแก้ไขปัญหายาเสพติด นายภูมิธรรม กล่าวว่า เรื่องนี้รัฐบาลกำลังพยายามแก้ไขปัญหาอย่างเต็มที่ ซึ่งรัฐบาลได้ประกาศเป็นวาระแห่งชาติไปแล้ว แต่เมื่อสถานการณ์เปลี่ยนไป ก็ต้องดูความเป็นจริงให้มาก และต้องยอมรับว่าการแก้ไขปัญหายาเสพติด มีหลายความเห็น เมื่อดำเนินการเด็ดขาดและจัดการทั้งหมด ก็อาจจะผิดหลักมนุษยธรรม และสร้างปัญหาทำลายสิทธิเสรีภาพของคน ซึ่งนายทักษิณก็เคยพบกับข้อหานี้มาแล้ว แต่หากฟังอีกด้านก็ถือว่าไม่เด็ดขาด ดังนั้น การแก้ไขปัญหาต้องอยู่ในจุดสมดุลและเหมาะสม โดยจะต้องทำให้เด็ดขาดและสามารถแก้ไขปัญหาได้ ขณะเดียวกันต้องระมัดระวังไม่ให้มีสิ่งแทรกซ้อนเกิดขึ้น เพราะการจัดการปัญหายาเสพติด บางครั้งจะเกิดการทำร้ายหรือเข่นฆ่ากันเอาชีวิต ไม่ใช่เกิดจากรัฐบาลใช้อำนาจในการจัดการอย่างเดียว แต่มีทั้งการใช้อำนาจตัดตอนผู้ค้า ดังนั้น เรื่องนี้ละเอียดอ่อนในทางจิตใจ รัฐบาลมีความชัดเจนอยู่แล้วที่จะต้องรีบจัดการ ดังนั้นในทางปฏิบัติต้องระมัดระวัง ไม่ให้การจัดการที่เข้มงวดเด็ดขาดไปกระทบกับความรู้สึกของคนว่าไปกระทบสิทธิเสรีภาพ