เลขาธิการตณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เผย ป.ป.ช. ชี้ปมยื่นแก้กฎหมาย ป.ป.ช. ให้ผู้เสียหายฟ้องซ้ำต่อศาล เพิ่มภาระงานอัยการ ศาล เผยยอดกว่า 1.5 หมื่นคดี
วันนี้ (17 ก.พ.) นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวกรณี พรรคเพื่อไทย ขอถอนร่างเสนอแก้ไข พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทุจริต ออกจากการประชุมร่วมรัฐสภา เมื่อวันที่ 16 ก.พ.ว่า ป.ป.ช.ไปชี้แจงเจตนารมณ์ให้คณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) ทราบเจตนารมณ์ของกฎหมายฉบับดังกล่าว ว่า รัฐธรรมนูญปี 2540 กำหนดให้ ป.ป.ช.มีหน้าที่รวบรวมพยานหลักฐานส่งอัยการสูงสุด เพื่อส่งฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เอาผิดนักการเมืองทุจริต แสดงให้เห็นเจตนารมณ์เบื้องต้นป้องกันไม่ให้ผู้เสียหายหรือประชาชนฟ้องผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้โดยตรง เพื่อป้องกัน หากมีการฟ้องได้โดยตรง นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีอาจถูกฟ้องอยู่เรื่อยๆ และพยานหลักฐานข้อเท็จจริงที่ผู้เสียหายต้องไปรวบรวมก็เป็นภาระ จึงให้มีองค์กรรวบรวมพยานหลักฐานในส่วนหนึ่งก่อนส่งฟ้องศาล ขณะที่รัฐธรรมนูญปี2550 มีการปรับแก้เพิ่มเติมให้ผู้เสียหายสามารถยื่นฟ้องไปที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาได้ แต่ต้องตั้งคณะกรรมการขึ้นมา 1 ชุด เพื่อกลั่นกรองรวบรวมพยานหลักฐานจากฝ่ายผู้เสียหายหรือผู้ร้อง ก่อนส่งให้ศาลพิจารณาตัดสิน ดังนั้นหลักการ กระบวนการจึงชี้ให้เห็นรัฐธรรมนูญไม่ได้ประสงค์ให้ผู้เสียหายยื่นฟ้องได้โดยตรง แต่ต้องผ่านกระบวนการก่อน เพราะความผิดของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเป็นความผิดต่อแผ่นดิน ตำแหน่งหน้าที่ คนที่เสียหายจริงๆ คือรัฐ เพราะผู้กระทำคือเจ้าหน้าที่รัฐ
ส่วนเรื่องบทเฉพาะกาลที่จะย้อนหลังในคดีที่ ป.ป.ช.ไม่รับ หรือตกไป โดยผู้เสียหายสามารถพิจารณายื่นฟ้องคดีย้อนหลังได้โดยตรง ซึ่งมีเกือบ 15,000 เรื่อง จึงต้องดูว่า จะรื้อฟื้นคดีกลับมาหรือไม่ หรือให้อัยการสูงสุดเป็นผู้กลั่นกรองคดีอีกชั้น ในคดีที่ป.ป.ช.ไม่รับหรือสั่งให้ตกไป แต่ต้องดูว่าอัยการจะรับไหวหรือไม่ นี่จึงเป็นข้อห่วงใยที่เราชี้แจง อย่างไรก็ตาม ในหลักการมีหลายหน่วยงานเข้าไปให้ความเห็น ทั้งกฤษฎีกา อัยการและศาล ซึ่งมีความเห็นบางส่วนที่สอดคล้องกัน ทั้งนี้ เมื่อได้รับฟังแล้ว จึงเอากลับไปทบทวนก่อนเพื่อให้การออกกฎหมายมีความรอบคอบ ไม่เช่นนั้นหากกฎหมายออกมาแล้ว จะส่งผลกระทบต่อทั้งผู้พิจารณา และการออกกฎหมาย จึงเป็นเรื่องดีที่ดีที่รัฐบาลรับฟังความเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
เมื่อถามว่า ป.ป.ช.มองเรื่องความขัดแย้งหรือไม่ หรือไม่ นายนิวัติไชย กล่าวว่า เรามองหลายอย่าง เพราะกฎหมายย้อนหลังนั้น สามารถทำได้ เพราะไม่ได้ย้อนหลังในทางที่เป็นโทษ แต่มีข้อน่าคิดว่า เหมือนเป็นค้าคดีที่ไม่สิ้นสุด อีกส่วนหนึ่งเราก็มองถึงผู้ถูกกล่าวหาที่ถูกสอบสวนจบไปแล้ว แต่กลับถูกรื้อฟื้นคดีขึ้นมาอีกในเรื่องเดียวกัน เป็นการสอบสวนซ้ำซ้อนไม่จบไม่สิ้น แต่อาจจะไม่ใช่การฟ้องซ้ำ เพราะเรื่องนี้ยังไม่เข้าสู่กระบวนการพิจารณาของศาล ดังนั้น ในหลักการทำได้ แต่เมื่อเรามาดูเรื่องปริมาณ และกระบวนการกลั่นกรอง ผู้เสียหายก็จะเอาสำนวนจาก ป.ป.ช. อยู่แล้ว ซึ่งเมื่อ ป.ป.ช. เห็นว่า ไม่มีมูล ตกไป และกรณีจะไปยื่นฟ้องต่อศาลเอง ก็ต้องไปหาข้อเท็จจริงเพิ่มเติมเอง จริงๆ เรื่องนี้ไม่กระทบต่อ ป.ป.ช. ทาง ป.ป.ช.ยินดีเลย ถ้าให้สิทธิผู้เสียหายฟ้องคดีได้ แต่ควรจะมีกระบวนการกลั่นกรอง หรือมีกระบวนการรองรับ เพราะเราเห็นแล้วว่า จะเป็นภาระต่อทั้งอัยการ ศาล ที่ต้องมาพิจารณาคดีย้อนหลังจำนวนมากเหล่านี้ อาจจะไปเพิ่มบุคลากรให้อัยการ ศาลหรือไม่ เพราะมีปริมาณคดีมากกว่าหมื่นเรื่อง ทั้งที่เรื่องในมืออัยการเกี่ยวกับเรื่องทุจริต แม้กระทั่งเรื่องที่ ป.ป.ช.ส่งไปยังพิจารณากันหลายกรอบ หลายประเด็น กว่าร้อยเรื่องที่คาอยู่ในมือ