คณะกรรมาธิการการพัฒนาสังคม และกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ และผู้ด้อยโอกาส วุฒิสภา โดย นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ ประธานคณะกรรมาธิการฯ แต่งตั้งคณะทำงานเสริมสร้างการรู้เท่าทันสื่อออนไลน์ในเด็กและเยาวชนเพื่อศึกษาข้อมูลและจัดเวทีสาธารณะ ข้อเสนอเชิงนโยบายการพัฒนาและขยายสื่อดีสำหรับเด็ก เยาวชน และครอบครัว นำโดย ผศ.ดร. มรรยาท อัครจันทโชติ หัวหน้าภาควิชาการสื่อสารมวลชน คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและคณะ และนำเสนอต่อคณะกรรมาธิการการพัฒนาสังคมฯ และวุฒิสภาตามลำดับ โดยที่ประชุมวุฒิสภาได้ให้ความเห็นชอบรายงานฉบับดังกล่าว และนำส่งข้อเสนอไปยังคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณา ทั้งนี้คณะรัฐมนตรีได้มีมติ เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2564 รับทราบผลการพิจารณารายงานดังกล่าว
ต่อมาแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้มีข้อเสนอเชิงนโยบายสืบเนื่อง เรื่อง “สวัสดิการหนังสือเพื่อพัฒนาเด็กปฐมวัย” ต่อคณะกรรมาธิการการพัฒนาสังคมฯ วุฒิสภา เพื่อเร่งขับเคลื่อนนโยบายสวัสดิการหนังสือเพื่อพัฒนาเด็กปฐมวัยให้เกิดผลเป็นรูปธรรม สอดคล้องกับรายงานการพิจารณาศึกษาของคณะกรรมาธิการข้างต้น และเพื่อให้ทันต่อสถานการณ์ปัญหาวิกฤตภาวการณ์เรียนรู้ถดถอย (Leaning Loss) ของเด็กที่กำลังเกิดขึ้นในสังคมไทย คณะกรรมาธิการการพัฒนาสังคมฯ วุฒิสภา จึงได้นำส่งข้อเสนอเชิงนโยบาย ฯ ต่อนายกรัฐมนตรีเพื่อประกอบการพิจารณาดำเนินการ และขอให้พิจารณามอบหมายหน่วยงานและองค์กรที่เกี่ยวข้องกำหนดนโยบาย จัดสรรงบประมาณ รวมทั้งบูรณาการการทำงานกับภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน
สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีได้กราบเรียนนายกรัฐมนตรีพิจารณาและได้มีบัญชาส่งเรื่องให้กระทรวงที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นได้มีหนังสือถึงผู้ว่าราชการทุกจังหวัด เพื่อขอความร่วมมือไปยังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสนับสนุนการดำเนินงานตามข้อเสนอเชิงนโยบาย ในประเด็นสำคัญ คือ 1.จัดหาและมอบหนังสือให้เป็นของขวัญสำหรับเด็กแรกเกิดทุกคน 2.จัดให้เด็กปฐมวัย (0-6 ปี) มีหนังสือภาพและหนังสือนิทานที่มีคุณภาพเหมาะสมกับวัย และ บริบททางสังคมและวัฒนธรรมของชุมชุน อย่างน้อง 3-5 เล่ม ในบ้าน 3.จัดกระบวนการหนุนเสริมให้พ่อแม่ ผู้ปกครอง และผู้ดูแลเด็ก มีความรู้ความเข้าใจในการพัฒนาศักยภาพสมองและสมรรถนะเด็กปฐมวัยด้วยการอ่าน
เพื่อติดตามการดำเนินงานตามมติ ค.ร.ม. ว่าด้วยการพัฒนาและขยายสื่อดีสำหรับเด็ก เยาวชน และครอบครัว นายวัลลภ ได้มีหนังสือถึงผู้ว่าราชการทุกจังหวัดขอทราบความคืบหน้าการดำเนินการ ฯ โดยให้พิจารณาหลักเกณฑ์เพื่อมอบโล่ประกาศเกียรติคุณและประกาศนียบัตร ให้กับพื้นที่ต้นแบบสู่เมืองขับเคลื่อนสวัสดิการหนังสือเพื่อเด็กปฐมวัยตาม เพื่อสร้างขวัญกำลังใจให้สามารถดำเนินงาน เพื่อร่วมพัฒนาศักยภาพเด็กปฐมวัยด้วยการอ่านอย่างต่อเนื่อง โดยมีจังหวัดที่ได้รับการประกาศเป็นจังหวัดดีเด่นด้านการส่งเสริมสวัสดิการหนังสือเพื่อพัฒนาเด็กปฐมวัยที่ เข้ารับโล่ประกาศเกียรติคุณและใบประกาศนียบัตร ในวันพุธที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2567 ณ ห้องประชุมชั้น 2 กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ดังนี้ ประเภทโล่ประกาศเกียรติคุณ จำนวน 4 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดอุบลราชธานี จังหวัดปัตตานี จังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดยะลา ประเภทใบประกาศนียบัตร จำนวน 5 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดลำปาง จังหวัดเลย จังหวัดสุรินทร์ จังหวัดกระบี่ และจังหวัดหนองคาย
งานสัปดาห์ส่งเสริมอินเทอร์เน็ตปลอดภัยแห่งชาติ จัดโดยกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.) ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)สมาคมวิทยุและสื่อเพื่อเด็กเยาวชน (สสดย.) มูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย แผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน และภาคีเครือข่าย ภายในงานนอกจากมีพิธีมอบโล่แก่จังหวัดดีเด่นด้านการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้และการรู้เท่าทันสื่อและเมืองสวัสดิการหนังสือเพื่อเด็กปฐมวัยแล้ว ยังมีกิจกรรมเสวนาเพื่อนำสู่ข้อเสนอเชิงนโยบาย เรื่อง “รับมืออย่างไร...กับภัยออนไลน์ในยุคดิจิทัล” และนิทรรศการร่วมขับเคลื่อน Thailand Safe Internet Coalition พื้นที่ปลอดภัยทางอินเทอร์เน็ต เป็นต้น
นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ ประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาสังคม และกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ และผู้ด้อยโอกาส วุฒิสภา กล่าวว่า การคัดเลือกจังหวัดที่มีผลงานดีเด่นเข้ารับโล่เกียรติคุณและใบเกียรติบัตร มีความน่าสนใจ เพราะมีการประยุกต์ความคิดอยู่เป็นระยะๆ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน จนนำไปสู่การลงมือปฏิบัติ โดยอาศัยเครือข่ายที่อยู่ในพื้นที่เป็นกำลังสำคัญ มีการออกแบบเครื่องมือให้เหมาะกับบริบทของแต่ละชุมชน ถือว่ามาถูกทาง เมื่อจับทางถูก เวลาจะขับเคลื่อนอะไร จะตรงกับกลุ่มเป้าหมายโดยตรง หวังว่าเครือข่ายที่ขับเคลื่อนงานจนเกิดสังคมแห่งการเรียนรู้เท่าทันสื่อออนไลน์และเมืองสวัสดิการหนังสือเพื่อเด็กปฐมวัย จะเป็นโมเดลที่ดี เพื่อสร้างการรับรู้ให้กับเมืองอื่นๆ ด้วย
“ปัจจุบันสถิติคดีความที่เด็กกระทำผิดยังมียอดสูง ในปี 2566 ได้แก่ 1.ความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษ 3,110 คดี 2. เกี่ยวกับชีวิตและร่างกาย 2,999 คดี 3.เกี่ยวกับทรัพย์ 2,622 คดี 4. เกี่ยวกับอาวุธและวัตถุระเบิด 1,530 และ 5.ความผิดอื่น ๆ 1,079 คดี ซึ่งจากการสำรวจพบว่า คดีที่ 2 และ 4 เด็กเรียนรู้วิธีการมาจากสื่อออนไลน์ ทำให้สื่อออนไลน์ถูกตั้งคำถามมากมายว่าสาระต่างๆที่อยู่ในนั้นควรถูกควบคุมดูแลให้ดีขึ้นหรือยัง การป้องกันภัยคุกคามจากสื่อมี 2 ระยะ คือ ระยะแรกทำให้ลดน้อยถอยลง ระยะที่ 2 การผลิตสื่อออนไลน์ที่มีคุณภาพเหมาะสมในแต่ละช่วงวัย เข้าไปต่อสู้กับสื่อด้านลบ และการเพิ่มพื้นที่สื่อดี เพื่อให้เด็กได้สัมผัสกับสื่อที่ดี มีกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ด้านต่างๆ เชื่อว่า ถ้าทำ 2 อย่างคู่กัน หรือจำกัดสิ่งไม่ดีและเพิ่มสิ่งที่ดี เด็กน่าจะเรียนรู้สิ่งที่ดีมากกว่า ส่งผลให้เกิดโอกาสกระทำผิดลดน้อยลง”
นางญาณี รัชต์บริรักษ์ ผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมระบบสื่อและสุขภาวะทางปัญญา สสส.กล่าวว่า “ การมอบรางวัลให้กับจังหวัดดีเด่นในครั้งนี้ จะเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างพื้นที่ปลอดภัย เป็นต้นแบบของการสร้างนิเวศสื่อสุขภาวะให้เด็กและเยาวชน โดยเฉพาะเด็กปฐมวัยได้เข้าถึงหนังสือและการอ่านมากขึ้น เพราะว่าสื่อดิจิทัลหรือสื่อออนไลน์ไม่เหมาะสำหรับเด็กอายุ 0-6 ขวบ เนื่องจากเด็กวัยนี้เหมาะกับสื่อการอ่านที่สร้างเสริมพัฒนาการ การเรียนรู้ รวมถึงความคิดสร้างสรรค์ ที่สำคัญเป็นการสร้างความผูกพันกับพ่อแม่ผู้ปกครอง ส่วนพื้นที่ออนไลน์สามารถร่วมสร้างระบบนิเวศส่งเสริมการอ่าน ด้วยการนำข้อมูลต่างๆและภูมิปัญญาวัฒนธรรม ให้ทุกครอบครัวสามารถเข้าถึงได้ง่าย โดยดาวน์โหลดศึกษาข้อมูลความรู้ก่อนจูงลูกเข้าสู่โลกของออนไลน์ ซึ่งมีบริการทั้งข้อมูลและหนังสือฟรีที่มีคุณภาพ ในเว็บไซต์ “ธนาคารหนังสือเพื่อเด็กปฐมวัยออนไลน์” ได้ด้วย
นางสุดใจ พรหมเกิด ผู้จัดการแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน สสส. กล่าวว่า จากงานวิจัยพบว่า การอ่านหนังสือให้เด็กฟัง และการมีหนังสือในบ้านของเด็กปฐมวัย เป็นประโยชน์ต่อพัฒนาการเด็กทุกมิติ ทั้งในเรื่องของร่างกาย อารมณ์ สังคม จิตใจ การเห็นคุณค่าในตัวตน และการพัฒนาทักษะสมอง EF หนังสือและการอ่านยังเป็นสื่อและเป็นเครื่องมือสำคัญที่ใช้ได้ง่ายที่สุด และลงทุนน้อยที่สุด การที่มติคณะรัฐมนตรี ฯ ได้ออกมาสนับสนุน ทำให้มีการขับเคลื่อนเมืองสวัสดิการหนังสือเพื่อเด็กปฐมวัย หวังว่าจะช่วยสร้างความเข้าใจไปถึงเมืองอื่นๆ รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้สนับสนุนการใช้หนังสือและกิจกรรมการอ่าน สร้างเสริมศักยภาพเด็ก วางรากฐานเท่าทันสื่อไอทีและพัฒนากระบวนการเรียนรู้อย่างรอบด้าน