xs
xsm
sm
md
lg

ป่วนขบวนเสด็จฯ กระดุมเม็ดแรกก็ผิดแล้ว !?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ - ชัยธวัช ตุลาธน
เมืองไทย 360 องศา

กรณีป่วนขบวนเสด็จฯ เมื่อวันก่อน ของ นางสาวทานตะวัน ตัวตุลานนท์ หรือ “ตะวัน” จากกลุ่ม “ทะลุวัง” ที่เคลื่อนไหวต่อต้านสถาบันพระมหากษัตริย์ มาอย่างต่อเนื่อง แต่จากเหตุการณ์ล่าสุดจากพฤติกรรมของเธอได้สร้างปรากฏการณ์หลายอย่างตามมาทันที โดยเฉพาะเป็นปรากฏการณ์ที่ “ชัดเจน” จากสังคม ขณะเดียวกัน ยังเชื่อว่า ได้สร้างผลกระทบอย่างมากกับบางพรรคการเมือง โดยเฉพาะกับพรรคก้าวไกลในเวลานี้ และยังรวมไปถึงจะเกิดผลกระทบต่อความพยายามเสนอกฎหมาย “นิรโทษกรรม” ที่จะให้ครอบคลุมไปถึงพวกที่ทำความผิด “มาตรา 112” ที่ก่อนหน้านี้ว่ายากแล้ว แต่เมื่อเหตุการณ์ “ป่วน” ดังกล่าว มันก็ทำให้โอกาสผ่านแทบเป็นศูนย์เลยก็ว่าได้

ปฏิกิริยาจากสังคมส่วนใหญ่ที่ออกมาแสดงความไม่พอใจ วิจารณ์ ตำหนิอย่างรุนแรงกับกรณีของ “ตะวัน” ที่แสดงพฤติกรรมไม่เหมาะสมดังกล่าวออกมา โดยเฉพาะการแสดงออกมาในลักษณะที่ “เกินเลยไปมาก” จนกลายเป็นความรู้สึกร่วมของสังคมแบบทันทีทันใดในแบบที่นานๆ จะได้เห็นแบบนี้

ขณะเดียวกัน ด้วยพฤติกรรมดังกล่าว ยังส่งผลให้ฝ่ายที่เคยให้ท้ายสนับสนุน ที่มักอ้างเรื่องสิทธิ เสรีภาพ หรือพวกที่มักประดิษฐ์คำพูดประเภทว่า “ถูกกดทับ” ถึงกับต้องนิ่งเงียบ หรือไม่ก็ต้องรีบออกตัวในแบบที่ว่าไม่อยากเข้าไปพัวพันมากนักอะไรประมาณนี้

อย่างไรก็ดี หากโฟกัสให้แคบเข้ามา ก็ต้องบอกว่า กลุ่มการเมือง หรือพรรคการเมือง ที่โดนเข้าไปเต็มๆ เวลานี้ก็คือ พรรคก้าวไกล นั่นเอง และยังเชื่อว่า จะส่งผลกระทบในทางลบต่อความพยายามเสนอร่างกฎหมายนิรโทษกรรม ที่มีเจตนาให้ครอบคลุมไปถึงผู้กระทำความผิด มาตรา 112 ด้วย และแน่นอนว่า หากพูดถึงพรรคก้าวไกล ก็ต้องเชื่อมโยงไปถึงกลุ่ม “ม็อบสามนิ้ว” ไม่ว่าทางตรงหรือว่าทางอ้อมก็ตาม และที่สำคัญ ภายในพรรคการเมืองนี้หลายคนกำลังถูกดำเนินคดีในความผิด 112

ที่ผ่านมา พวกเขามักจะอ้างว่าเป็นความผิดทางการเมือง เป็นเรื่องเกี่ยวกับความเห็นต่าง เป็นกฎหมายที่มีเจตนากลั่นแกล้งฝ่ายตรงข้าม ไม่เป็นสากล สารพัด ขณะเดียวกัน หากต้องการให้บ้านเมืองเกิดความปรองดอง ก็ต้องนิรโทษกรรมให้กับทุกกลุ่ม ทุกคน อะไรประมาณนี้

แต่พลันที่เกิดเหตุการณ์กรณีของ “ตะวัน” ที่เรียกว่า “ป่วนขบวนเสด็จฯ” ที่สังคมส่วนใหญ่ออกมา “ประณาม” ไม่มีท่าทีนิ่งเฉย มันก็ยิ่งทำให้เห็นภาพชัดเจนขึ้น ในลักษณะที่เรียกว่า “ไม่ทน” อีกทั้งมันก็ยังเชื่อมโยงไปถึงพรรคก้าวไกล แกนนำของพรรคก้าวไกล ทั้งในเรื่องที่ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.ของพรรค ที่เคยเป็น “นายประกัน” ให้กับ “ตะวัน” แม้ภายหลังจากเกิดเรื่องราวขึ้นมาแล้ว เขาก็อ้างว่าไม่ได้เป็นนายประกันแล้ว เนื่องจาก “ตะวัน” ซึ่งเป็น “จำเลยคดี ม.112 ได้ขอถอนประกันตัวเองต่อศาลไปแล้วก็ตาม แต่ท่าทีของเขาที่มีต่อกรณีของ ตะวัน ออกมาในลักษณะ “เห็นอกเห็นใจ” และเข้าใจ อ้างว่า “อย่าผลักคนรุ่นใหม่ออกห่าง” ซึ่งฟังแล้ว “น่าจะหล่อมาก” ในสายตาของบางคนที่มีทัศนคติเดียวกัน

นายพิธา ให้สัมภาษณ์ระหว่างร่วมงานตรุษตีน กรณีที่เป็นนายประกันให้ น.ส.ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ หรือ ตะวัน ว่า ตนเองจะเป็นนายประกันหรือไม่ ไม่สำคัญ ในฐานะที่เป็นนักการเมือง และคนไทยคนหนึ่ง กังวลถึงสถานการณ์บ้านเมือง และอนาคตของคนรุ่นใหม่ จึงอยากเชิญชวนทุกคนตั้งสติ เข้าใจว่า มีหลายฝ่ายไม่สบายใจ กังวลใจ และต้องการความเข้าใจ จึงอยากให้ทุกฝ่ายคลี่คลายสถานการณ์ไม่ให้แตกร้าวไปมากกว่านี้ การผลักเยาวชนคนรุ่นใหม่ออกไป ไม่น่าจะเป็นผลดีต่อภาพรวม อยากจะให้ร่วมมือกัน หาทางออก เพราะไม่อยากให้เกิดความรุนแรงไปมากกว่านี้

นายพิธา ยืนยันว่า ไม่ได้สนับสนุนพฤติกรรมของ น.ส.ทานตะวัน ที่แสดงออกต่อขบวนเสด็จฯ ส่วนเรื่องที่เกี่ยวกับนายประกัน เป็นสิทธิการประกันตัว ต้องแยกเป็นกรณี ควรใช้ความละมุนละม่อม หาทางออกร่วมกัน เพื่อทำให้สถานการณ์คลี่คลาย

เมื่อถามย้ำถึงจุดยืนต่อการกระทำของ น.ส.ทานตะวัน เป็นอย่างไร นายพิธา กล่าวว่า "กังวลใจ แต่เข้าใจ"

ขณะที่ นายชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวถึงการตั้งคณะกรรมการศึกษา ร่าง พระราชบัญญัตินิรโทษกรรม ว่า เป็นประตูที่จะคลี่คลายความเครียดและความขัดแย้งทางการเมือง เพื่อเปิดพื้นที่ให้ฝ่ายที่มีความคิดเห็นไม่ตรงกันได้มีพื้นที่ปลอดภัยในการพูดคุย หาจุดร่วม โดยใช้กระบวนการทางประชาธิปไตย หวังว่า ในคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ จะมีการพิจารณาอย่างรอบด้าน ทั้งข้อดี ข้อเสีย และเนื้อหากระบวนการนิรโทษกรรม

ส่วนกรณีของ นางสาวทานตะวัน ตัวตุลานนท์ หรือ ตะวัน นั้น นายชัยธวัช กล่าวว่า สิ่งที่ไม่ปรารถนามากที่สุด คือ การปะทะกันอย่างรุนแรง ไม่ว่าจะเป็นการไล่ล่า การล่าแม่มด โดยหากให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งสุดขั้วขึ้นเรื่อยๆ จะต้องตั้งสติให้ดี ใช้กระบวนการทางประชาธิปไตยและสติ ลดช่องว่างทางความคิด ความเข้าใจ โดยไม่ใช้ความรุนแรง ในกรณีนี้เข้าใจในความคับข้องใจ แต่ต้องช่วยกันดูว่า การสื่อสาร การแสดงความคิดให้สังคมได้มีความเข้าใจควรจะเป็นอย่างไร

ส่วนความเห็นอีกด้านหนึ่ง เช่น นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการนิรโทษกรรม ม.112 ว่า ขณะนี้สภามีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้นมาพิจารณาเรื่องการนิรโทษกรรมเพื่อความปรองดอง ขณะเดียวกัน ก็มีพรรคการเมืองบางพรรคได้มีการเสนอพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเป็นเรื่องที่จะต้องพิจารณาด้วยความรอบคอบ โดยการนิรโทษกรรมสามารถทำได้ แม้แต่ในอดีตก็เคยมีการนิรโทษกรรมเกิดขึ้น แต่ประเด็นสำคัญ ก็คือ ถ้าจะมีการนิรโทษกรรมในอนาคต ควรจะครอบคลุมความผิดในลักษณะใดบ้าง ตรงนั้นคือหัวใจสำคัญ

“การนิรโทษกรรม ต้องไม่รวมคดีทุจริตคอร์รัปชัน และ ม.112 รวมทั้งคดีอาญาร้ายแรง เพราะอนาคตจะทำให้คนไม่เกรงกลัวกฎหมาย และกลายเป็นการส่งเสริมการกระทำผิดในลักษณะดังกล่าว และจะนำไปสู่การขยายความขัดแย้งแตกแยกมากกว่าการสร้างความปรองดอง โดยเฉพาะเมื่อเกิดกรณีการป่วนขบวนเสด็จ ยิ่งเป็นการตอกย้ำการไม่สมควร นิรโทษกรรมความผิดตาม มาตรา 112 ซึ่งขอเสนอให้กรรมาธิการของสภารับไปพิจารณาด้วย” นายจุรินทร์ ระบุ

แน่นอนว่า ความผิดเกี่ยวกับ มาตรา 112 ที่ก่อนหน้านี้ ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยออกมาอย่างชัดเจนแล้วว่า ห้ามแก้ไข ห้ามยกเลิก เพราะมีเจตนาบ่อนเซาะทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์ ทำลายความมั่นคง และยังเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

ขณะเดียวกัน กรณีของ “ตะวัน” ที่ถูกดำเนินคดี มาตรา 112 หลายคดี ทั้งยังมีพฤติกรรมละเมิดอำนาจศาลต่อเนื่อง รวมทั้งมีการ “ป่วนขบวนเสด็จฯ” ซึ่งหากเชื่อมโยงไปถึงพรรคก้าวไกล มันก็ยิ่งทำให้พรรคนี้เชื่อมโยงถึงกัน หากมองกันแบบ “บ้านๆ” ไม่ต้องซับซ้อน ก็เหมือนกับว่าเป็นพวกเดียวกัน และหากมองว่า เป็น “พรรคล้มเจ้า” มันก็อาจมองแบบนั้นได้ หากเป็นแบบนั้น มันก็ย่อมกระทบถึงมวลชนที่ต้องมาหยุดคิดกับคำว่า “เลือกก้าวไกลไม่เหมือนเดิม” นั้น มันคืออะไร “กลัดกระดุมเม็ดแรก” ผิดหรือเปล่า !!


กำลังโหลดความคิดเห็น