“จุลพันธ์” เผยเห็นข้อเสนอ ป.ป.ช.ปมดิจิทัลวอลเล็ตผ่านสื่อ ตัวจริงยังมาไม่ถึง พบข้อห่วงใยเรื่องป้องกันทุจริต และขอบเขตอำนาจ เตรียมนำเข้าที่ประชุม กก.นโยบาย 15 ก.พ. ยันกรอบงานคงเดิม เดินหน้าโครงการต่อ โดยตั้งคณะอนุกรรมการตรวจสอบการทุจริต รับฟังความเห็นสังคม ไม่ห่วง กกต.ตรวจสอบไม่ตรงปก เพราะมีเงื่อน-เป็นรัฐบาลผสม ย้ำบัตรสวัสดิการแค่หยอดน้ำข้าวต้ม กระตุ้นเศรษฐกิจไม่ได้
วันนี้(9 ก.พ.) นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงกรณีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ส่งความเห็นเรื่องนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตให้กับรัฐบาล ทางรัฐบาลต้องมีการปรับปรุงอะไรหรือไม่ ว่า ขณะนี้ยังไม่มีเอกสารส่งถึงอย่างเป็นทางการ แต่เราได้เห็นในรายละเอียดแล้ว มีข้อห่วงใยบางประการ เช่น เรื่องขอบเขต กรอบอำนาจพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ป.ป.ช. ตามมาตรา 32 ได้พูดถึงการที่สามารถให้ ป.ป.ช.สามารถทำข้อเสนอแนะเรื่องนโยบายได้ แต่เป็นเรื่องของการป้องกันทุจริต ซึ่งเรื่องนี้เป็นการท้วงติงในลักษณะที่บางข้อเป็นอำนาจ ขอบเขตของรัฐบาล อย่างไรก็ตาม เห็นเอกสารตามสื่อแต่ยังไม่มีอย่างเป็นทางการ หากเป็นเช่นนั้นจริงคงจะนำเข้าในที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายในครั้งหน้า โดยนายกรัฐมนตรีได้ระบุวันมาแล้ว หากไม่มีการเปลี่ยนแปลง คือวันที่ 15 ก.พ.
ทั้งนี้ กรอบงานยังเหมือนเดิมและเดินหน้าโครงการต่อไป โดยมีตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อตรวจสอบการทุจริต รับฟังความเห็นในสังคม รวมถึงการเชื่อต่อกับระบบการเงินอื่นๆ เพื่อให้ตัวระบบมีความครอบคลุมมากขึ้น นอกจากนี้หากเอกสารของ ป.ป.ช. เข้ามาทัน เราคงนำเข้ามาหารือในที่ประชุมด้วยเช่นกัน เพราะบางประเด็นอาจเป็นความไม่เข้าใจของ ป.ป.ช.ในเบื้องต้น หรืออาจจะได้ข้อมูลไม่ครบถ้วน แต่เราก็ชี้แจงได้ เช่น เรื่องกลไกเปลี่ยนเป็นการกู้ เรื่องบล็อกเชน ที่ตอบง่ายมาก ซึ่งเป็นความเข้าใจที่แตกต่าง แต่สามารถชี้แจงได้ ส่วนเรื่องใดที่ต้องทำความเข้าใจเพิ่มเติมเราจะหาหนทางชี้แจง ทำความเข้าใจต่อไป
ส่วนความเห็นของ ป.ป.ช. เรื่องรายละเอียดนโยบายที่ไม่เหมือนกับเมื่อหาเสียง โดยขอให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) พิจารณา ในเรื่องนี้มีความกังวลหรือไม่ นายจุลพันธ์ กล่าวว่า ต้องเรียนว่านโยบายในอดีตที่ผ่านมารัฐบาลชุดก่อนหน้าแทบไม่มีเลย ตนก็ท้วงติง และอย่างน้อยเราทำตามที่เราบอกไว้ถึงแม้รูปแบบจะเปลี่ยน หากไปอ้างถึงนโยบายของพรรคการเมือง ต้องเรียนว่าตอนที่ทำนโยบายทุกนโยบายเมื่อเขียนส่งต่อ กกต.จะมีการกำหนดว่า ทั้งนี้ ขึ้นกับสถานการณ์เศรษฐกิจและสังคม เพราะเมื่อความเหมะสมเปลี่ยนไปเรามีความจำเป็นต้องเปลี่ยน และนี่ไม่ใช่นโยบายของพรรคการเมือง เป็นนโยบายของรัฐบาล ซึ่งรัฐบาลประกอบขึ้นจากพรรคการเมืองหลายพรรค เมื่อมีการหารือตกลงกันแล้วมีการปรับเปลี่ยนตามความเหมาะสม เราจะยึดเอานโยบายพรรคใดพรรคหนึ่งทั้งหมดเป็นไปไม่ได้ ต้องผสมผสานกันทั้งหมดเพื่อหาความลงตัวที่สุดและเดินหน้าได้
ส่วนกลุ่มเป็าหมายนายจุลพันธ์ กล่าวว่า ยังคงเป็นกลุ่มเดิมไม่เปลี่ยนแปลง โดยนโยบายที่ ป.ป.ช.ตั้งข้อเสนอแนะในข้อท้ายๆ ดูเหมือนจะนำเสนอว่าให้กลับไปใช้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ซึ่งในขณะนี้เปลี่ยนรัฐบาลแล้ว และเราเห็นชัดเจนว่ากลไกของบัตรสวัสดิการแห่งรัฐไม่สามารถแก้ไขปัญหาในการกระตุ้น ฟื้นฟูเศรษฐกิจได้ เป็นเพียงการรหยอดน้ำข้าวต้ม เราจึงต้องมีกลไกในการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ออกมา ฉะนั้น แนวคิดในการทำนโยบายแน่นอนว่าเป็นของรัฐบาลเพราะรัฐบาลมีความรับผิดชอบต่อประชาชน
“บางหน่วยงานไม่ต้องตอบรับเสียงสะท้อนต่อประชาชน หากเศรษฐกิจดำดิ่งหนักลงไปกว่าที่เป็นอยู่ในขณะนี้ คนรับผิดชอบคือรัฐบาล ซึ่งเราต้องแสดงความชัดเจนว่านโยบายที่ได้รับการแถลงต่อรัฐสภาแล้ว บรรจุเป็นนโยบายของรัฐ มีหน้าที่ที่ต้องเดินหน้าให้ได้ แต่แน่นอนว่าต้องทำภายใต้กรอบของกฎหมาย” นายจุลพันธ์ กล่าว
เมื่อถามว่า เงินดิจิทัลวอลเล็ตจะได้ใช้เร็วที่สุดเมื่อไหร่ นายจุลพันธ์ กล่าวว่า “ขออนุญาตไม่ตอบตรงนี้ เพราะถ้าบอกไปแล้ว เดี๋ยวจะเป็นการกะเกณฑ์แล้วไม่ถูกต้องจะไม่เป็นผลดี”
เมื่อถามว่า ในวันที่ 15 ก.พ. ที่มีการประชุมจะเป็นจุดชี้วัดว่าจะเดินหน้าโครงการต่อไปหรือไม่ นายจุลพันธ์ กล่าวว่า ตนคิดว่าเราชัดเจนว่าเราจะเดินหน้า ส่วนกรอบเวลารอให้สะเด็ดน้ำก่อน ให้ฝุ่นหายตลบก่อนแล้วจะเห็นชัดขึ้น
เมื่อถามว่า มีความกังวลหรือไม่ว่าหากรัฐบาลเดินหน้าจะมีนักร้องไปร้องเรียน นายจุลพันธ์ กล่าวว่า ประเทศไทยนักร้องเยอะอยู่แล้ว ไม่ว่าอย่างไรก็มีคนร้อง แต่ถามว่าถ้าเป็นประโยชน์กับประชาชน ประชาชนต้องการให้เราเดินหน้านโยบายที่เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจลักษณะนี้ เราก็จะเดินหน้า และยืนยันว่าเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจไม่ใช่การสงเคราะห์