xs
xsm
sm
md
lg

หมดทางยื้อได้เวลาลุยไฟ ดิจิทัลวอลเล็ต !?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


เศรษฐา ทวีสิน - จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์
เมืองไทย 360 องศา

แม้ว่าจะมีการปรามาสหรือคาดการณ์กันมาตั้งแต่ต้นแล้วว่า นโยบายการเติมเงินหนึ่งหมื่นบาทผ่านดิจิทัลวอลเล็ต หรือที่เรียกกันว่า “แจกเงินดิจิทัลหมื่นบาท” จะไปไม่รอด เพราะนอกจากมีความเสี่ยงทางด้านกฎหมายหลายอย่าง เสี่ยงคุกตะรางยกก๊วน ทำให้ที่ผ่านมารัฐบาล โดยนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มีอาการยื้อมาตลอด แม้จะอ้างโน่นอ้างนี่สารพัด แต่ถึงจะบอกว่า “เร่งด่วน” แค่ไหน แต่ทุกอย่างก็ยังอยู่กับที่ไม่ไปไหนสักที

ที่ผ่านมา รัฐบาลอ้างว่าต้องรับฟังความเห็นให้รอบด้าน เพื่อความรอบคอบ หลังจากมีเสียงทักท้วงรอบทิศ ไม่ว่าจะเป็นบรรดา ผู้เชี่ยวชาญทางเศรษฐกิจ นักวิชาการ รวมไปถึงหน่วยงานของรัฐ ไม่ว่าจะเป็น ธนาธารแห่งประเทศไทย โดยผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย สภาการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติหรือสภาพัฒน์ ต่อมา รัฐบาลก็อ้างว่าต้องรอความเห็นจากคณะกรรมการกฤษฎีกา หลังจากที่ได้ทำหนังสือสอบถามความเห็นไป แต่หลังจากมีคำตอบในแบบที่ว่าให้ระวังเรื่องความผิดทางกฎหมาย จากนั้นก็บอกว่าต้องรอความเห็นจากคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ที่ได้ตั้งอนุกรรมการพิจารณาศึกษาเรื่องดังกล่าว

ล่าสุด ป.ป.ช.ก็ได้แถลงออกมาเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยมี 4 คำเตือน และ 8 ข้อเสนอแนะ โดยมีการลงนามโดยประธาน ป.ป.ช.เพื่อส่งถึงมือรัฐบาล โดย 4 ความเสี่ยงประกอบด้วย 1.ประเด็นความเสี่ยงต่อการทุจริต 2.ประเด็นความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจ 3.ประเด็นความเสี่ยงด้านกฎหมาย 4.ประเด็นอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ เทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain) และประเด็นเกี่ยวกับการกำหนดนโยบายของพรรคการเมือง

ส่วนข้อเสนอแนะฯ จำนวน 8 ข้อเพื่อป้องกันการทุจริต ดังนี้ 1.รัฐบาลควรศึกษา วิเคราะห์ การดำเนินโครงการตามนโยบายฯ รวมทั้งชี้แจงความชัดเจน อย่างเป็นรูปธรรม

2.การหาเสียงของพรรคเพื่อไทยในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 และ พรรคเพื่อไทยได้จัดตั้งรัฐบาล ได้มีการแถลงนโยบายต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2566 เกี่ยวกับโครงการดังกล่าวนั้น มีความแตกต่างกัน สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งควรดำเนินการตรวจสอบว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญ และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 หรือไม่

3.การดำเนินนโยบายของรัฐบาลที่มีวัตถุประสงค์เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ควรคำนึงถึงความคุ้มค่าและความจำเป็นในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ตลอดจนผลกระทบ และภาระทางการเงิน การคลังในอนาคต

4.การดำเนินโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet คณะรัฐมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ควรพิจารณาประเด็นความเสี่ยงด้านกฎหมายอย่างรอบคอบ

5.คณะรัฐมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ควรมีการประเมินความเสี่ยงในการดำเนินโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet อย่างรอบด้าน

6.ในการนำเทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain) มาใช้กับโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet คณะรัฐมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ควรพิจารณาถึงความจำเป็นและความเหมาะสม ตลอดจนระยะเวลา และงบประมาณที่ต้องใช้ในการพัฒนาระบบ

7.จากข้อมูลภาวะเศรษฐกิจของหน่วยงานต่าง ๆ ที่ได้จากการศึกษา และตัวทวีคูณทางการคลัง รวมถึงตัวบ่งชี้ภาวะวิกฤตที่ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้รวบรวมและประมวลข้อมูลจากงานศึกษาของธนาคารโลกและ IMF มีความเห็นตรงกันว่า ในช่วงเวลาที่ศึกษาอัตราความเจริญเติบโตของประเทศไทยยังไม่ถึงขั้นประสบภาวะวิกฤตเศรษฐกิจ

8.หากรัฐบาลมีความจำเป็นต้องการช่วยเหลือประชาชน รัฐบาลควรช่วยเหลือกลุ่มประชาชนที่มีฐานะยากจน ที่เปราะบาง ที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้เท่านั้น โดยแจกจากแหล่งเงินงบประมาณปกติ มิใช่เงินกู้ตามพระราชบัญญัติเงินกู้ และจ่ายในรูปเงินบาทปกติในอัตราที่เหมาะสม

จะว่าไปแล้วคำเตือนและข้อเสนอแนะดังกล่าวของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ก็คล้ายๆ หรือไม่ต่างจากคำเตือนของหลายฝ่ายที่เคยออกมาแสดงความเห็นก่อนหน้านี้ เพียงแต่ว่าของ ป.ป.ช.จะเป็นในลักษณะที่เป็นทางการ และมีลายลักษณ์อักษร ทำให้ดูหนักแน่นจริงจังขึ้นไปอีก ทำนองแบบว่า “เราเตือนคุณแล้ว”

เมื่อหันมาทางฝั่งรัฐบาล โดยพิจารณาจากท่าทีของ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง หลังจากที่ได้รับทราบคำเตือนของ ป.ป.ช.โดยกล่าวแบบมีอารมณ์ว่า หน่วยงานพวกนี้มีความเห็นในลักษณะ “ล้ำเส้น” พร้อมกับยืนยันว่า เป็นหน้าที่ตัดสินใจของรัฐบาล ว่าจะดำเนินการอย่างไร ซึ่งท่าทีไม่พอใจของ นายกรัฐมนตรี ยังเกิดขึ้นหลังจากที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)ยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 2.5 แทนที่จะทำตามความเห็นของเขาที่ต้องการให้ลดดอกเบี้ยลงมาประมาณร้อยละ 2.25

สิ่งที่ต้องพิจารณากันต่อไปก็คือ แล้วรัฐบาลจะดำเนินการอย่างไรต่อไปหลังจากนี้ หลังจากที่ ป.ป.ช.ได้ส่งคำเตือนและข้อเสนอออกมาแล้ว ซึ่งก่อนหน้านั้นทางฝ่ายรัฐบาลก็อ้างว่าต้องรอความเห็นของ ปปช.ก่อน หรือก่อนหน้านั้นไปอีกก็บอกว่าต้องรอความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา แต่เมื่อทุกหน่วยงานได้มีความเห็นออกมาครบถ้วนหมดแล้วรัฐบาลจะตัดสินใจอย่างไร

เพราะหลังจากที่มีคำเตือนจาก ป.ป.ช.แล้ว ทางรัฐบาล ทั้ง นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ซึ่งถือว่าเป็นแม่งานในการขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าว ได้กล่าวตรงกันว่า จะมีการประชุมคณะกรรมการชุดใหญ่ที่มีนายกฯเป็นประธานในสัปดาห์หน้า โดย นายจุลพันธ์ ย้ำว่าต้องเดินหน้าต่อไป โดยพร้อมที่จะเสนอเป็นพระราชกำหนด และออกเป็นพระราชบัญญัติ โดยขณะนี้ได้เตรียมร่างกฎหมายเอาไว้แล้ว ซึ่งต้องรอหาข้อสรุปอีกครั้งหลังการประชุม

อย่างไรก็ดี หากพิจารณากันตามรูปการณ์แล้ว โอกาสที่จะเดินหน้าต่อสำหรับนโยบาย “ดิจิทัลวอลเล็ต” ดูแล้วริบหรี่เต็มทน ลักษณะเหมือนกับว่า เวลานี้รัฐบาลยังหาทางออกหรือทางลงยังไม่เจอ ที่ผ่านมาทำได้แค่การ “ยื้อ” เวลาออกไปเรื่อยๆ หลังจากที่บอกว่าต้องรอ กฤษฎีกา จนล่าสุดมาถึงความเห็นของป.ป.ช. แต่เมื่อทุกหน่วยงานดังกล่าวมีความเห็นออกมาแล้วทำให้ต้องตัดสินใจ แม้จะยืนยันว่าจะเดินหน้าต่อ โดยจะมีการนัดประชุมคณะกรรมการชุดใหญ่ในสัปดาห์หน้าดังกล่าว
แต่หากสังเกตให้ดีจะเห็นว่า ทุกอย่างยังไม่เป็นชิ้นเป็นอัน สำหรับโครงการใหญ่ยักษ์ที่ต้องใช้เงินกู้จำนวนมหาศาล ถึง 5 แสนล้านบาท เนื่องจากไม่เคยมีการประชุมคณะกรรมการทั้งชุดใหญ่ และชุดเล็ก ทุกอย่างเงียบสนิท มีแต่คำพูดที่ออกมาเพียงเล็กน้อย เช่น ยืนยันว่าจะเดินหน้าโครงการต่อไป ไม่ได้มีแอ็กชั่นมากนัก ดังนั้นในเวลานี้เหมือนกับว่าจะเดินหน้าก็ลำบาก ต้องหาทางลง จะเอาหลังพิงก็ไม่ได้แล้ว หลังจากที่ล่าสุด ป.ป.ช.ก็ออกคำเตือนมาแล้ว

ดังนั้นน่าจับตากันว่าการประชุมในสัปดาห์หน้าของคณะกรรมการชุดใหญ่ ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานที่ถือว่าเป็นการประชุมนัดแรก จะได้ข้อสรุปหรือไม่ หรือจะซื้อเวลาโดยการบอกว่าต้องหารายละเอียดให้รอบคอบอีกหรือไม่ ทั้งที่นโยบายสำคัญแบบนี้ เวลาผ่านมาครึ่งปีแล้ว หากวิกฤตจริง ป่านนี้คงป่นปี้ไปแล้ว คำถามก็คือว่า จะกล้า “ลุยไฟ” ต่อไปหรือไม่เท่านั้นเอง !!


กำลังโหลดความคิดเห็น