xs
xsm
sm
md
lg

'ร่มธรรม'หวังยกระดับทะเลสาบสงขลาสู่ไทยลากูน เผยพื้นที่มีศักยภาพสูงระดับโลก แต่ขาดยุทธศาสตร์บริหารจัดการเป็นระบบ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



วันนี้(8 ก.พ.)นายร่มธรรม ขำนุรักษ์ สส.พัทลุง พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ทุกวันที่ 2 กุมภาพันธ์ ของทุกปี หรือสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ตรงกับวันพื้นที่ชุ่มน้ำโลก ในโอกาสนี้ในฐานะตัวแทนของคนพัทลุงซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในวิถีชีวิตของคนลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา จึงอยากเห็นการพัฒนาพื้นที่ให้เต็มศักยภาพและก้าวไปข้างหน้าอย่างยั่งยืน

"ทะเลสาบสงขลาเป็นพื้นที่ที่มีระบบสามน้ำคือ จืด เค็ม และกร่อยมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวมากทั้งในระดับประเทศ คือการเป็นไทยลากูนหรือพื้นที่ชุ่มน้ำแบบทะเลสาบเพียงแห่งเดียว และในระดับโลกถูกจัดเป็น 1 ใน 117 แห่งของลุ่มน้ำของโลกเท่านั้น ที่มีลักษณะลากูน ในนิเวศนี้มี พรุควนขี้เสียน ที่ทะเลน้อย เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำแห่งแรกในประเทศไทย ที่มีการลงนามในอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยพื้นที่ชุ่มน้ำที่สำคัญของโลก เป็นเขตห้ามล่าสัตว์ป่าแห่งแรกของไทย มีควายน้ำเป็นมรดกโลกทางการเกษตรแห่งแรกและเป็นแห่งเดียวในประเทศไทย มีโลมาอิรวดีน้ำจืดเหลืออีก 14-20 ตัวเท่านั้น"

ในเอกลักษณ์พิเศษที่สามารถพัฒนาให้เข้มแข็งและยั่งยืนได้ทั้งในทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม กำลังเผชิญปัญหาท้าทายหลายมิติ ซึ่ง นายร่มธรรม กล่าวว่า ในฐานะ สส.พื้นที่ที่ลงพื้นที่ไปดูทั้งระบบนิเวศ มองเห็นหลายปัญหาในภาพรวมไล่มาตั้งแต่พรุควนเคร็ง ที่กำลังเผชิญการเปลี่ยนแปลงสภาพพื้นที่จากการใช้งาน และไฟป่าซึ่งส่วนหนึ่งต้องยอมรับว่าเกิดจากฝีมือมนุษย์ พื้นที่ตอนกลางคือทะเลหลวงที่เผชิญกับการตื้นเขินเร็วกว่าการเปลี่ยนแปลงปกติที่ต้องใช้เวลาหลายร้อยปี และการใช้เครื่องมือประมงผิดกฎหมาย เช่นเดียวกับพื้นที่ตอนล่างก็มีปัญหาลักษณะเดียวกัน นอกจากนี้ ยังมีประเด็นของความไม่เข้าใจระบบสามน้ำซึ่งอาจมาจากแนวคิดในช่วงหนึ่งที่ต้องการแก้ปัญหาน้ำเค็มรุกน้ำจืดทำให้มีการสร้างพนังกั้นน้ำ แต่กลับนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงวงจรของระบบนิเวศทั้งระบบ ถือเป็นผลกระทบในอีกรูปแบบหนึ่งที่ต้องทำความเข้าใจร่วมกัน

"ปัญหาของไทยลากูนหรือพื้นที่ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาจึงใหญ่และกินพื้นที่กว้าง มีประชาชนโดยรอบมากมาย และหนึ่งในปัญหาสำคัญก็คือการมีหน่วยงานค่อนข้างมากที่ทำงานไม่บูรณาการกัน รวมถึงขาดบทบาทของภาคประชาชนในพื้นที่ในโครงสร้างการจัดการลุ่มน้ำ ผมจึงเสนอตั้งญัตติเพื่อตั้ง อนุกมธ.ศึกษาการพัฒนาทะเลสาบสงขลาอย่างยั่งยืน ขณะนี้ศึกษาเสร็จแล้ว ตรียมเสนอต่อสภาเพื่อเสนอต่อรัฐบาลต่อไป"

ทั้งนี้ นายร่มธรรม ชี้ว่า แม้ว่าการบริหารจัดการลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาจะมีอยู่ในฐานะ 1 ใน 22 ลุ่มน้ำ ที่มีการกำกับดูแลในรูปแบบคณะการน้ำ ตามกฎหมายว่าด้วยการจัดการน้ำ แต่ปัญหาก็คือคณะกรรมการชุดนี้ ส่วนใหญ่มีแต่ตัวแทนจากหน่วยงานรัฐ และเน้นที่การบริหารจัดการน้ำเชิงชลประทานเป็นหลัก ไม่ได้มองเป็นองค์รวมที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมหรือวิถีชีวิตผู้คนโดยรอบ การเสนอศึกษาเรื่องนี้ โดยตั้งอนุ กมธ.ขึ้น เพื่อต้องการทำให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่ หน่วยงานรัฐ และคนไทยทุกคนเห็นภาพเดียวกันว่าจะพัฒนาพื้นที่ที่มีเอกลักษณ์ระดับโลกนี้ไปทางไหน จะมีกฎเกณฑ์กติการ่วมกันอย่างไรเพื่อไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนได้

ข้อเสนอเบื้องต้น ข้อแรกคือ กลไกเดิมที่มีอย่างคณะกรรมการลุ่มน้ำ ที่มีสัดส่วนประชาชนน้อยมาก จะเปลี่ยนแปลงได้หรือไม่ ตรงนี้เรามองรวมไปถึงลุ่มน้ำอื่นๆด้วย เพราะลุ่มน้ำแต่ละแห่งก็มีลักษณะเฉพาะที่ต่างกัน รวมถึงต้องมองให้เป็นองค์รวม ไม่มองเฉพาะด้านชลประทานอย่างเดียว

2.ควรยกระดับพื้นที่ให้เป็นการบริหารจัดการแบบลากูน มองเป็นภาพใหญ่ทั้งนิเวศเรียกว่า ไทยลากูน ที่กินพื้นที่หลายจังหวัดและต้องมองไปถึงพื้นที่อย่างเทือกเขาบรรทัด ควนและคลองต่างๆที่เป็นส่วนหนึ่งของระบบสามน้ำเพื่อสะท้อนความเป็นจริงของระบบนิเวศและสะท้อนความสำคัญของนิเวศวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อมแบบนี้ในระดับโลก

3.ศึกษาการเปลี่ยนแปลงและการใช้น้ำในพื้นที่ทั้งหมด เนื่องจากปัจจุบันมีการปิดกั้นน้ำเค็มด้วยการสร้างพนังกั้นน้ำ ทำให้วงจรชีวิตมันหายไปไม่เกิดการหมุนเวียน อาจต้องมีการทดลองเปิดให้ระบบนิเวศเดิมกลับมาแล้วเทียบกันว่าแบบไหนดีกว่าหรือควรจัดการในลักษณะไหน

4.สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติควรคิดถึงการบริหารจัดการพื้นที่แบบองค์รวม หรือมองอย่างมียุทธศาสตร์ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ซึ่งกลไกปัจจุบันมองเฉพาะเรื่องน้ำและมีหลายหน่วยงานทับซ้อนกัน

"อีกเรื่องที่ผมมองว่าสำคัญมากก็คือการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่น ต้องมีการจัดสรรงบที่เหมาะสมและบูรณาการหน่วยงานต่างๆร่วมกัน การมีท้องถิ่นเป็นเจ้าภาพจะยิ่งทำให้สามารถบริหารจัดการพื้นที่ด้วยความเข้าใจจริงๆ ไม่ถูกแยกส่วนเป็นแท่งหรือทำงานแบบหน่วยงานใครหน่วยงานมัน เป้าใครเป้ามัน ไม่มองที่เป้าหมายร่วมกัน ซึ่งจะทำให้ศักยภาพพื้นที่เสียไปอย่างน่าเสียดาย"
กำลังโหลดความคิดเห็น