xs
xsm
sm
md
lg

“คอซีย์”เสนอ ร่างแก้ไข พ.ร.บ.ประมงฯ ฉบับ พปชร.เน้นความสำคัญประมงพื้นบ้าน-พาณิชย์ ขอบเขตการใช้อำนาจรัฐ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



วันนี้(7 ก.พ.)นายคอซีย์ มามุ สส.ปัตตานี เขต 2 พรรคพลังประชารัฐ(พปชร.)กล่าวอภิปรายเสนอร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 ในช่วงปี พ.ศ. 2558 รัฐบาลขณะนั้นได้ตระหนักถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประเทศไทยจากกรณีที่สหภาพยุโรป หรืออียู ได้มีมาตรการเชื่อมโยงทางการค้าต่อประเทศไทย ในกรณีผู้ประกอบกิจการประมง กระทำผิดต่อกฎหมายกฎหมายประมงตามมาตรฐานสากล รัฐบาลไทยในขณะนั้น จึงได้ตราพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 โดยมีความมุ่งหมายให้กิจการประมงไทยไม่ตกอยู่ในภาวะของผู้กระทำความผิดในการประกอบกิจการประมง ซึ่งตนเชื่อว่ารัฐบาลขณะนั้น ได้ทำลงไปเพราะเกรงต่อผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประเทศไทย

นายคอซีย์ กล่าวต่อว่า การออกพระราชกำหนดการประมงในครั้งนั้น กลับเกิดผลกระทบต่อผู้ประกอบกิจการประมง ทำให้ไม่สามารถปรับตัวได้ทันตามเงื่อนไขแห่งพระราชกำหนดประมงพ.ศ. 2558 ผู้ประกอบกิจการประมงต้องเลิกกิจการ ด้วยการกำหนดลักษณะเรือกำหนด ลักษณะลูกเรือ และขนาดของเครื่องจักรจากน้ำ สิ่งที่ผู้ประกอบการประมงได้ร้องขอต่อรัฐบาลขณะนั้นให้มีมาตรการผ่อนปรน และมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการ แต่รัฐบาลมีข้อจำกัด จึงไม่สามารถช่วยเหลือผู้ประกอบการประมงได้ผลกระทบในขณะนั้นสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจธุรกิจประมงมากกว่าแสนล้านบาทต่อปี ในช่วงเวลาดังกล่าวไม่เพียงแต่กลุ่มผู้ประกอบการและลูกเรือประมงที่ได้รับความเดือดร้อน ในทางกลับกันประชาชนก็ได้รับความเดือดร้อนในด้านราคาสินค้าอาหารทะเลที่สูงขึ้น ปลาบางประเภทเคยจับโดยคนไทยบริโภคโดยคนไทย กลับกลายเป็นต้องนำเข้าปลาจากต่างประเทศมาบริโภคภายในประเทศไทย

“วันนี้กับผมและคณะได้พิจารณารวมกันแล้วว่า หากประเทศไทยยังคงยึดหลักการของพระราชกำหนดประมงพ.ศ. 2558 คงเป็นเรื่องยากที่จะฟื้นฟูธุรกิจประมงให้เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างรายได้ให้กับประเทศผมและคณะจึงได้เสนอร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดประมง พ.ศ. 2558 เพื่อให้สภาแห่งนี้ได้ร่วมกันแก้ไขเพิ่มเติม โดยสาระสำคัญแห่งแนวทางแก้ไขเพิ่มเติม จะมุ่งเน้นความสำคัญประมงพื้นบ้าน ประมงพาณิชย์ ขอบเขตการใช้อำนาจรัฐไทยในเขตน่านน้ำ และนอกเขตน่านน้ำ“นายคอซีย์ กล่าว

นายคอซีย์ กล่าวต่อว่า การกำหนดโครงสร้างคณะกรรมการกำหนดนโยบายประมงแห่งชาติ ในส่วนผู้ทรงคุณวุฒิ และสัดส่วนผู้แทนองค์กรเอกชน ผู้แทนชุมชน ที่มีความเกี่ยวข้องกับประมงทางทะเล และประมงน้ำจืด ความเหมาะสมของคณะกรรมการประมงประจำจังหวัด รวมถึงความเหมาะสมของขนาดเรือ องค์ประกอบเรือ เพื่อประกอบการประมง

“ผมเป็น สส.จังหวัดปัตตานี ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นเมืองประมงฝั่งอ่าวไทย ซึ่งผมได้รับฟังจากชาวประมงในพื้นที่ และเชื่อว่า สส.อีกหลายท่านก็ได้รับการร้องเรียนเช่นกันถึงความเดือดร้อน ตั้งแต่ผู้ประกอบกิจการประมง แรงงานเกษตรกร ผู้ผลิตอาหารแปรรูป และประชาชนในฐานะผู้บริโภค ผมหวังว่าเพื่อนสมาชิกจะสนับสนุนและเห็นชอบในร่างพระราชบัญญัติแก้ไขพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 และจะเกิดผลดีต่อประชาชนและประเทศชาติในอนาคต”นายคอซีย์ กล่าว

จากนั้นที่ประชุมสภาฯได้ลงมติเห็นชอบให้คณะรัฐมนตรีนำไปพิจารณาก่อนรับหลักการ และนำกลับมาให้ที่ประชุมสภาฯพิจารณาอีกครั้งในวันที่ 22 ก.พ.2567
กำลังโหลดความคิดเห็น