“กลุ่มทำทาง” ยื่น กมธ.สาธารณสุข ตรวจสอบ-ติดตาม-เพิ่มสถานที่ทำแท้งของ สปสช.ทั่วไทย พร้อมให้ข้อมูลที่ถูกต้อง เพื่อใช้ กม.ได้ประโยชน์เต็มที่ แย้ง “หมอชลน่าน” ปัญหาประชากรไทยลด เพราะเกิดน้อย ด้อยคุณภาพ ไม่ใช่จากทำแท้ง
เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 7 ก.พ.กลุ่มทำทาง นำโดย น.ส.สุพีชา เบาทิพย์ ผู้ประสานงานกลุ่ม ยื่นหนังสือถึง นพ.ทศพร เสรีรักษ์ ส.ส.แพร่ พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การสาธารณสุข เพื่อขอให้ตรวจสอบ ติดตามการดำเนินการ และข้อเสนอแนะต่อกระทรวงสาธารณสุข ในการเพิ่มจำนวนสถานบริการทำแท้งปลอดภัยที่รับงบประมาณสนับสนุนค่าบริการจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ให้ครอบคลุมทั่วประเทศ รวมถึงประกาศรายชื่อสถานบริการทำแท้งปลอดภัยตลอดจนให้ข้อมูลสิทธิสุขภาพในการได้รับการสนับสนุนค่าบริการทำแท้ง และข้อมูลเรื่องการทำแท้งที่ถูกต้องให้ประชาชนได้รับทราบ เพื่อบังคับใช้กฎหมายทำแท้งฉบับแก้ไขใหม่ให้เป็นประโยชน์แก่ประชาชนอย่างแท้จริง
น.ส.สุพีชา กล่าวว่า ตนอยากฝากเรื่องนี้ไปถึง นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ด้วย เพราะตนได้เห็นนพ.ชลน่าน ระบุว่า เรื่องทำแท้งต้องให้ลดลง เพราะต้องการเพิ่มประชากร จึงอยากขอเรียนว่าการทำแท้งไม่ได้สวนทางกับการเพิ่มประชากร แต่ปัญหาของประเทศไทยคือ เกิดน้อยด้อยคุณภาพ ซึ่งเราต้องการลดสิ่งที่เรียกว่าด้อยคุณภาพแต่ไม่ได้บอกว่า การเกิดจากการท้องไม่พร้อมด้อยคุณภาพทุกกรณี แต่คือศักยภาพที่ทำให้การเกิดด้อยคุณภาพ ดังนั้น ต้องเลือกว่าเมื่อไหร่ที่พร้อมจะมีบุตร ถึงแม้ว่ากิดน้อย แต่ต้องให้มีคุณภาพ ดีกว่าเกิดเยอะแล้วด้อยคุณภาพ และในมาตรา 305(5) ของกฎหมายอาญาฉบับใหม่ มีการระบุว่า การปรึกษาทางเลือกซึ่งแปลว่าหญิงที่มีอายุครรภ์ 12-20 สัปดาห์ แล้วต้องการทำแท้งก็ต้องผ่านการให้คำปรึกษานี้ ซึ่งการให้คำปรึกษาจะมีให้ 2 ทางเลือก คือถ้าต้องการทำแท้ง สามารถทำได้และปลอดภัยจะต้องทำอย่างไรบ้าง และถ้าต้องการท้องต่อก็ต้องบอกว่ามีอะไรสนับสนุนบ้าง รัฐมีอะไรสนับสนุนบ้าง ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) สังคมสงเคราะห์ หรือท้องถิ่นมีอะไรสนับสนุนบ้าง ซึ่งตรงนี้ตนคิดว่าเป็นการเพิ่มคุณภาพของการเกิด และอาจะกระตุ้นทำให้การเกิดที่มีคุณภาพมากกขึ้นอย่างที่กระทรวงสาธารณสุขต้องการ
ด้าน นพ.ทศพร กล่าวว่า กมธ. ให้ความสำคัญเรื่องนี้ แต่การทำแท้งต้องคำนึงถึงเรื่องความปลอดภัยจำเป็นต้องได้รับการดูแลจากแพทย์ ดังนั้น ทาง กมธ. จะเชิญกระทรวงสาธารณสุข กรมอนามัย สปสช. และผู้ที่เกี่ยวข้องมาปรึกษาหารือ ถึงเรื่องดังกล่าวเพื่อที่จะพลักดันเรื่องนี้ส่งต่อให้เป็นนโยบายของรัฐบาล และของ สธ. ที่ชัดเจนยิ่งเเห็นว่าจะทำอย่างไรให้สามารถเข้าถึงการยุติการการตั้งครรภ์ได้อย่างปลอดภัย