“เกณิกา” เผย กระทรวงยุติธรรมเดินหน้าปราบปรามยาเสพติด ตามนโยบายวาระแห่งชาติของรัฐบาล ชี้ บูรณาการทุกภาคส่วน เป็นพลังสำคัญแก้ปัญหายาเสพติด ตั้งเป้าหมายเริ่มที่กำจัดแหล่งต้นตอ ยึดทรัพย์กลุ่มนักค้า จัดการ จนท.รัฐที่เกี่ยวข้อง
วันที่ 7 ก.พ. 67 น.ส.เกณิกา อุ่นจิตร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า กระทรวงยุติธรรม นำโดย พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้ติดตามการดำเนินงานด้านการป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหายาเสพติดที่ถือเป็นวาระแห่งชาติ โดยรัฐบาลภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน ได้ให้ความสำคัญและเน้นย้ำขอให้ ทุกภาคส่วน เอาจริงเอาจัง ในการช่วยเหลือลูกหลาน ให้พ้นจากยาเสพติดให้ได้ โดยต้องดำเนินการอย่างจริงจังและเด็ดขาด
น.ส.เกณิกา กล่าวต่อว่า กระทรวงยุติธรรมได้ตั้งเป้าหมายในการจัดการยาเสพติดโดยต้องเริ่มที่แหล่งต้นตอ ซึ่งมีการลักลอบนำเข้าตามแนวชายแดน การจับกุมยึดทรัพย์เครือข่ายกลุ่มนักค้า การจัดการเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้อง การแก้ไขปัญหาด้านจิตเวชจากยาเสพติด และการจัดการแหล่งแพร่ระบาดในหมู่บ้านและชุมชน การเปลี่ยนผู้เสพเป็นผู้ป่วย ให้เข้ารับการบำบัดรักษา และการป้องกันในกลุ่มต่างๆ ทุกระดับ
ทั้งนี้ การดำเนินการต่อปัญหายาเสพติดในระดับกระทรวง กรม สำนักงาน ป.ป.ส. ได้มีการบูรณาการร่วม 27 หน่วยงาน เช่น กระทรวงมหาดไทย กระทรวงกลาโหม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงยุติธรรม สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน และกรมสรรพากร เป็นต้น เข้ามาร่วมอย่างจริงจัง ในส่วนพื้นที่ ให้มีการจัดตั้งกลไกการอำนวยการและขับเคลื่อนในพื้นที่ระดับจังหวัด มี 5 ภาคีร่วม ได้แก่ ผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัด นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ฝ่ายทหาร กอ.รมน.จังหวัด และนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด เป็นกลไกในการดำเนินการ
น.ส.เกณิกา กล่าวต่ออีกว่า รัฐบาลได้กำหนดแผนปฏิบัติการ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายภายใต้นโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยการป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหายาเสพติด ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ซึ่งได้กำหนดเป้าหมายของแผนปฏิบัติ ไว้ใน 4 ลด คือ 1.ลดความรุนแรงจากภาวะทางจิตเวชในสังคม 2. ลดผู้เสพ/ผู้ติด 3. ลดการค้ายาเสพติดที่แพร่ระบาดในหมู่บ้าน/ชุมชน และ 4. ลดปัจจัยเสี่ยงที่ส่งผลต่อการแพร่ระบาดยาเสพติด
“นโยบายของรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ให้ความสำคัญในการใช้กลไกชุมชน เป็นฐาน สร้างความเข้มแข็งและการมีส่วนร่วมของชุมชนในการแก้ไขปัญหายาเสพติด และให้ผู้ว่าราชการจังหวัดบูรณาการร่วมกับหน่วยงานภาคีภายในจังหวัด จัดการแก้ไขปัญหายาเสพติดในพื้นที่จังหวัดแบบเบ็ดเสร็จ”