รองโฆษกรัฐบาล “รัดเกล้า” เผย ครม. อนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืน 3 ฉบับ 3 จังหวัดนครราชสีมา นครสวรรค์ และกรุงเทพฯ
วันนี้ (6 ก.พ.) นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (6 กุมภาพันธ์ 2567) มีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืน 3 ฉบับ ดังนี้
1. ร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืน ในท้องที่แขวงฉิมพลี แขวงตลิ่งชัน แขวงคลองชักพระ เขตตลิ่งชัน แขวงบางยี่ขัน เขตบางพลัด แขวงอรุณอมรินทร์ แขวงบางขุนนนท์ แขวงบางขุนศรี แขวงศิริราช แขวงบ้านช่างหล่อ เขตบางกอกน้อย แขวงชนะสงคราม แขวงบ้านพานถม แขวงตลาดยอด แขวงบวรนิเวศ แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร แขวงวัดโสมนัส แขวงคลองมหานาค แขวงบ้านบาตร เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย แขวงสวนจิตรลดา แขวงสี่แยกมหานาค เขตดุสิต แขวงทุ่งพญาไท แขวงถนนเพชรบุรี แขวงถนนพญาไท แขวงมักกะสัน เขตราชเทวี แขวงปทุมวัน แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน แขวงสามเสนใน เขตพญาไท แขวงรัชดาภิเษก แขวงดินแดง เขตดินแดง และแขวงห้วยขวาง เขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร พ.ศ. .... และร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะดำเนินการเพื่อกิจการขนส่งมวลชน ในท้องที่แขวงฉิมพลี แขวงตลิ่งชัน แขวงคลองชักพระ เขตตลิ่งชัน แขวงบางยี่ขัน เขตบางพลัด แขวงอรุณอมรินทร์ แขวงบางขุนนนท์ แขวงบางขุนศรี แขวงศิริราช แขวงบ้านช่างหล่อ เขตบางกอกน้อย แขวงชนะสงคราม แขวงบ้านพานถม แขวงตลาดยอด แขวงบวรนิเวศ แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร แขวงวัดโสมนัส แขวงคลองมหานาค แขวงบ้านบาตร เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย แขวงสวนจิตรลดา แขวงสี่แยกมหานาค เขตดุสิต แขวงทุ่งพญาไท แขวงถนนเพชรบุรี แขวงถนนพญาไท แขวงมักกะสัน เขตราชเทวี แขวงปทุมวัน แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน แขวงสามเสนใน เขตพญาไท แขวงรัชดาภิเษก แขวงดินแดง เขตดินแดง และแขวงห้วยขวาง เขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร พ.ศ. .... รวม 2 ฉบับ
2. ร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืน ในท้องที่ตำบลหนองงูเหลือม อำเภอเฉลิมพระเกียรติ และตำบลใหม่ ตำบลโตนด อำเภอโนนสูง จังหวัดนครราชสีมา พ.ศ. ….
3. ร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืน ในท้องที่ตำบลหัวหวาย อำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ พ.ศ. ….
รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืน ตามข้อ 1 นั้น เนื่องจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) มีความจำเป็นต้องใช้อสังหาริมทรัพย์เพื่อประโยชน์ในการดำเนินกิจการขนส่งมวลชน และ เพื่อดำเนินกิจการขนส่งมวลชนตามโครงการรถไฟฟ้า สายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย เพื่ออำนวยความสะดวกและความรวดเร็วแก่การจราจรและการขนส่งอันเป็นกิจการสาธารณูปโภค และเพื่อให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีสิทธิเข้าไปทำการสำรวจเพื่อให้ทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ที่ต้องได้มาโดยแน่ชัด รวมทั้งเพื่อให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจดำเนินการสำรวจเพื่อทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสภาพ ลักษณะ และการเข้าใช้ประโยชน์บน เหนือ หรือใต้พื้นดินหรือพื้นน้ำ เพื่อการวางแผนหรือออกแบบกิจการขนส่งมวลชนในบริเวณโครงการรถไฟฟ้าสายดังกล่าว ทั้งนี้ มีที่ดินที่จะต้องเวนคืนประมาณ 380 แปลง รวมทั้งมีอาคารและสิ่งปลูกสร้างที่ต้องรื้อถอนประมาณ 400 หลัง ร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืนตามข้อ 1 โดย รฟม. ได้ดำเนินการจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนผู้ได้รับผลกระทบกับโครงการดังกล่าวตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ. 2548 ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่เห็นด้วยกับโครงการดังกล่าว
ร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืน ตามข้อ 2 เนื่องจากโครงการก่อสร้างทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 290 สายถนนวงแหวนรอบเมืองนครราชสีมา ตอนบ้านบึงขามทะเลสอ-บ้านหนองบัวศาลา บริเวณจุดตัดทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 2 สายสระบุรี-สะพานมิตรภาพที่หนองคาย (เขตแดนไทย/ลาว) ที่ตำบลหนองงูเหลือม-บรรจบทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 226 สายหัวทะเล-วารินชำราบ ที่ตำบลพระพุทธ รวมทางแยกต่างระดับ (INTERCHANGE 2) จุดตัดทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 2 เป็นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ และพัฒนาโครงข่ายทางหลวงแผ่นดิน โดยดำเนินการบูรณะซ่อมแซมให้ได้มาตรฐาน หรือให้เหมาะสมกับสภาพการให้บริการในปัจจุบันเพื่อรองรับปริมาณการจราจร ทั้งในปัจจุบันและในอนาคตที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น รวมทั้งยังช่วยอำนวยความสะดวกต่อการเดินทาง การค้า และการขนส่งสินค้า ซึ่งเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการเข้าถึงพื้นที่สำคัญและลดระยะเวลาในการเดินทางระหว่างพื้นที่ ซึ่งช่วยให้ต้นทุนด้านโลจิสติกส์ของประเทศลดลง นอกจากนี้ ยังช่วยแก้ปัญหาจราจรติดขัดในตัวเมืองนครราชสีมา ลดอุบัติเหตุ เพิ่มประสิทธิภาพในการรองรับจราจร ช่วยอำนวยความสะดวกรวดเร็วแก่การจราจรและขนส่ง โดยไม่ต้องผ่านตัวเมืองนครราชสีมา แก้ปัญหาจุดตัดกับทางรถไฟและรองรับปริมาณจราจรทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายบางปะอิน-นครราชสีมา โดยกรมทางหลวงได้ดำเนินการจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในเขตพื้นที่โครงการ ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ. 2548 แล้ว ซึ่งส่วนใหญ่เห็นด้วยกับโครงการดังกล่าว คิดเป็นร้อยละ 68.90
ส่วนร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืน ตามข้อ 3 เนื่องจากโครงการก่อสร้างทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 3329 ทางสายตาคลี-หนองหลวง ตอนตาคลี-หนองหลวง ที่ กม.11+341 เป็นการก่อสร้างสะพานข้ามทางรถไฟ บนทางหลวงหมายเลข 3329 จังหวัดนครสวรรค์ เพื่อแก้ปัญหาจุดตัดทางรถไฟ ลดอุบัติเหตุบริเวณจุดตัดทางหลวงกับทางรถไฟ อีกทั้งยังเป็นการรองรับรถไฟสายทางคู่ สายลพบุรี-ปากน้ำโพ และเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพความคล่องตัวในการเดินทาง (Mobility) บริเวณดังกล่าว และเป็นไปตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศในส่วนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมและโลจิสติกส์ และตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านระบบขนส่ง รวมทั้งโครงการดังกล่าวยังสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์กระทรวงคมนาคมเพื่อสนับสนุนการพัฒนาโลจิสติกส์ ฉบับที่ 3 ดังนั้น โครงการก่อสร้างทางหลวงดังกล่าว จะเป็นแนวทางหนึ่งในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น และยังเป็นการสนับสนุนการพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งของประเทศ และระหว่างประเทศอีกทางหนึ่ง โดยกรมทางหลวงได้ดำเนินการจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในเขตพื้นที่โครงการ ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ. 2548 แล้ว ซึ่งส่วนใหญ่เห็นด้วยกับโครงการดังกล่าว คิดเป็นร้อยละ 75.50