เมืองไทย 360 องศา
นโยบายแจกเงินดิจิทัลคนละหมื่นบาทของรัฐบาลพรรคเพื่อไทย ที่จนถึงขณะนี้ยังไม่มีความคืบหน้าไม่ไปไหน ขณะที่ระดับแกนนำรัฐบาลตั้ง นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะแม่งานโครงการนี้ ต่างก็ยืนยันว่าต้องเดินหน้าให้ได้ แต่ก็ไม่มีความเคลื่อนไหวอะไรที่เป็นรูปธรรม มีแต่ยอมรับว่าการแจกเงินต้องล่าช้าออกไป จากเดิมที่เคยกำหนดเอาไว้ในราวเดือนพฤษภาคม ก็ต้องเลื่อนออกไป แม้จะบอกว่าไม่ช้า แต่ก็ไม่มีการกำหนดเวลาออกมาให้แน่ชัดว่าจะเป็นเมื่อใดกันแน่
ล่าสุดเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคลัง เปิดเผยว่า ช่วงบ่ายจะเข้าหารือนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง เพื่อหารืออย่างเป็นไม่เป็นทางการ ถึงความคืบหน้าโครงแจกเงิน 10,000 บาท ผ่านระบบดิจิทัลวอลเล็ต โดยประเด็นหารือ จะเป็นไปตามที่นายกรัฐมนตรี เคยให้สัมภาษณ์ไว้ ว่าระหว่างที่รอคำแนะนำจากคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่ยังไม่ส่งข้อแนะนำมายังรัฐบาลอย่างเป็นทางการ จะสามารถดำเนินการได้อย่างไร เนื่องจากนโยบายนี้จะต้องดำเนินการอย่างรวดเร็ว ตามนโยบายของรัฐบาล
นอกจากนี้นายกรัฐมนตรี ได้โพสข้อความระบุว่าได้เชิญนายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์" ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท.และนาย นายคงกระพัน อินทรแจ้ง ว่าที่ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท. ใหม่มาพบปะพูดคุยว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป เพราะนี่อาจจะเป็นช่วงเวลาที่ดีที่ ปตท. จะไปลงทุนต่างประเทศ
ที่ผ่านมาทางคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ปปช.) ได้ออกคำเตือนรัฐบาลเกี่ยวกับโครงการดังกล่าวว่ามีความเสี่ยงจะเกิดการทุจริตตามมามากมาย ซ้ำรอยโครงการรับจำนำข้าวในอดีต แม้ว่าที่ผ่านมาจะมีเอกสารที่อ้างว่าเป็นของ ปปช.จะหลุดออกมา แต่ก็ยังไม่มีเอกสารที่เผยแพร่ออกมาอย่างเป็นทางการ และทางฝ่ายรัฐบาล โดยเฉพาะนายกรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน ก็อ้างว่าต้องรอหนังสือจาก ปปช.ก่อนดังกล่าว
ขณะเดียวกันนอกเหนือจาก ปปช.แล้ว ก่อนหน้านี้ก็ยังมีหน่วยงานอื่น เช่น คณะกรรมการกฤษฎีกา ที่มีหนังสือตอบรัฐบาลทำนองว่าให้ระมัดระวังเรื่องการทำผิดกฎหมาย และเตือนว่าต้องอยู่ภายใต้กรอบของกฎหมาย รวมไปถึงทางสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ธนาธารแห่งประเทศไทย ที่ออกมาเตือนเรื่องความเสี่ยง ยังไม่รวมบรรดานักวิชาการชั้นนำนับร้อยคนที่ร่วมกันลงชื่อคัดค้านไปก่อนหน้านี้
จนทำให้ที่ผ่านมารัฐบาลยังไม่เดินหน้าโครงการ เหมือนกับทุกอย่าง “หยุดนิ่ง” มานานหลายเดือนแล้ว ที่น่าสังเกตก็คือ คณะกรรมการดิจิทัลระดับชาติ ที่มี นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานยังไม่เคยมีการประชุมกันเลย และหากมีการประชุมกันในบ่ายวันที่ 5 กุมภาพันธ์ ตามที่ นายจุลพันธ์ เปิดเผย ก็เป็นเพียงการหารือกันแบบไม่เป็นทางการ เพียงสองสามคนเท่านั้น
ก่อนหน้านี้บรรดาแกนนำรัฐบาลต่างพยายามย้ำให้เห็นอยู่ตลอดเวลา เศรษฐกิจกำลังอยู่ในภาวะวิกฤติต้องใช้การกระตุ้นอย่างเร่งด่วน และทันท่วงที ซึ่งก็คือต้องใช้นโยบายแจกเงินหมื่นบาทผ่านระบบดิจิทัลวอลเล็ต แต่ก็จนแล้วจนรอดรัฐบาลก็ยังไม่ขยับสักที และทุกอย่างดูเหมือนตรงกันข้าม ที่บอกว่าเศรษฐกิจกำลังวิกฤติต้องแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วน แต่แทนที่จะออกเป็นพระราชกำหนดกู้เงินทันที แต่รัฐบาลกลับใช้วิธีการออกพระราชบัญญัติ ซึ่งต้องใช้เวลานาน เพราะหากวิกฤติจริงๆก็ไม่น่าจะทันการณ์
อย่างไรก็ดีอีกด้านหนึ่งที่รัฐบาลมักนำมาอ้างก็คือ ชาวบ้านต้องการโครงการนี้ ต้องการนโยบายแจกเงินดิจิทัลหมื่นบาท โดยนายเศรษฐา ยอมรับว่าจะต้องรอคำเสนอแนะจากคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ซึ่งก็รอมานานแล้ว ตนคิดว่าต้องมีวิธีการอื่นรองรับ เพราะคำเสนอแนะยังไม่มาสักที พี่น้องประชาชนเขาคอยไม่ได้
เมื่อถามว่า ทาง ป.ป.ช. รอการดำเนินการชัดเจนจากรัฐบาล และรัฐบาลก็รอขอเสนอแนะจาก ป.ป.ช. จะทำให้ไทม์ไลน์ขยับไปมากหรือไม่ นายเศรษฐา กล่าวว่า ตนไม่ค่อยแน่ใจว่า ป.ป.ช.รอรัฐบาลเรื่องอะไร จึงต้องขอสอบถามก่อนดีกว่า อย่าให้พูดไปโดยไม่มีข้อมูล ขอเป็นต้นสัปดาห์หน้า
ขณะที่ นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี อ้างอิงถึง ผลการศึกษาของสำนักวิจัยซูเปอร์โพลเรื่องเงินดิจิทัลที่ประชาชนเชื่อมั่นและรอคอยว่า ตัวอย่างประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ ระหว่างวันที่ 1–3 ก.พ.2567 ที่ผ่านมา พบว่า ในกลุ่มผู้มีรายได้น้อยคือรายได้ต่ำกว่า 15,000 บาทมีความเชื่อมั่นร้อยละ 71.3 และ กลุ่มผู้มีรายได้ระหว่าง 15,000 – 35,000 บาทต่อเดือน มีความเชื่อมั่นร้อยละ 71.6 ในขณะที่ กลุ่มรายได้เกิน 35,000บาทขึ้นไป มีความเชื่อมั่นร้อยละ 57.5 ว่าการแจกเงินดิจิทัลจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ
โดยเมื่อแบ่งออกตามภูมิภาคของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง พบว่าในกลุ่มคนในภาคเหนือ มีความเชื่อมั่นสูงสุด คือร้อยละ 75.4 รองลงมา กลุ่มคนในภาคกลางมีความเชื่อมั่นร้อยละ 74.2 กลุ่มคนในภาคอีสาน มีความเชื่อมั่นร้อยละ 73.6 กลุ่มคนกรุงเทพมหานครมีความเชื่อมั่นร้อยละ 68.7 และกลุ่มคนในภาคใต้มีความเชื่อมั่นร้อยละ 65.8 ตามลำดับ
ทั้งนี้ เมื่อแบ่งกรณีศึกษาตามอายุ กลุ่มคนรุ่นใหม่ ทั้งกลุ่มคนอายุน้อยคือต่ำกว่า 20 ปี ร้อยละ 54.1 และกลุ่มคนอายุระหว่าง 20 – 29 ปี ร้อยละ 47.2 กลุ่มคนอายุ 60 ปีขึ้นไป ร้อยละ 42.5 กลุ่มคนอายุ 40 – 49 ปี ร้อยละ 31.7 และกลุ่มคน อายุ 50 – 59 ปี ร้อยละ 26.7 ระบุว่าควรเดินหน้านโยบายแจกเงินดิจิทัลต่อ
“รัฐบาลรับฟังทุกความคิดเห็น และเข้าใจดีถึงระดับความวิกฤตทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นกับประชาชน โดยรัฐบาลพร้อมเดินหน้าตามนโยบายที่เชื่อมั่นว่าจะเกิด ประโยชน์สูงสุดกับประเทศและประชาชนไทย” โฆษกรัฐบาล ระบุ
หากประมวลจากท่าทีและความเคลื่อนไหวทั้งหมดที่กล่าวมา จะเห็นว่าจนถึงเวลานี้ นโยบายแจกเงินดิจิทัลหมื่นบาทของรัฐบาลและพรรคเพื่อไทยยังไม่มีความคืบหน้าเลยแม้แต่น้อย ทำให้เหมือนกับว่ารัฐบาล “ไม่ไปต่อแล้ว” เพียงแต่ว่ายังหาทางลงไม่เจอเท่านั้นเอง
โดยก่อนหน้านี้มองกันว่าอาจต้องยืมมือศาลรัฐธรรมนูญวินิฉัยให้ตีตก หลังจากที่มีการเสนอร่างกฎหมายกู้เงิน 5 แสนล้านบาทเข้าสภาแล้วต้องมีคนไปร้องศาลให้วินิจฉัย แต่หากทำแบบนั้นก็อาจเข้าข่ายความผิดสำเร็จแล้ว เพราะตัวเองได้เสนอกฎหมายเข้าสภาโดยมิชอบ หลายฉบับหลายมาตรา ที่เกี่ยวกับวินัยการเงินการคลัง การก่อหนี้สาธารณะ เป็นต้น ดังนั้นล่าสุดการที่ทาง ปปช.จะออกหนังสือเตือนมาอย่างเป็นทางการ ก็อาจทำให้รัฐบาลใช้เป็นบันใดหาทางลง เพียงแต่ว่าต้องเหน็บแนมตำหนิสักหน่อยให้ดูเนียนๆทำนองว่าพยายามเต็มที่แล้วแต่มีคนขัดขวางจนไปต่อไม่ได้อะไรประมาณนั้น
ดังนั้นหากพิจารณากันตามรูปการณ์แล้วก็ค่อนข้างมั่นใจได้แล้วว่า โครงการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ตของรัฐบาลคงไม่ไปต่อแล้ว เพียงแต่ว่าจะหาทางลงอย่างไรให้เนียนต่างหาก รวมถึงต้องรอดูว่าจะหาใครเป็น “แพะ” ว่าเป็นพวกไม่เข้าใจคนจน หรือที่เคยว่า “ทุนไร้น้ำใจ” อะไรประมาณนั้นหรือเปล่า !!