"เรืองไกร" เร่ง ป.ป.ช. รีบส่งศาลฎีกาวินิจฉัย ส.ส.ก้าวไกล 44 คน ฝ่าฝืนจริยธรรม หรือไม่ มีพฤติการณ์จงใจปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจขัดต่อรธน.
วันนี้ (4ก.พ.) นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ เปิดเผยว่า วันนี้ได้ส่งหนังสือทางไปรษณีย์ EMS เพื่อขอให้ ป.ป.ช. รีบนำคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ณ วันที่ 31 มกราคม 2567 มาตรวจสอบเพิ่มเติมว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกล จำนวน 44 คน มีพฤติการณ์จงใจปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ หรือฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 234 (1) หรือไม่ และจะต้องเสนอเรื่องต่อศาลฎีกาตามความในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 87 หรือไม่ โดยมีเนื้อหาในหนังสือ สรุปได้ดังนี้
ข้อ 1. เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2564 ข้าฯ เคยร้องขอให้ ป.ป.ช. ตรวจสอบสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกล จำนวน 44 คน ว่ามีพฤติการณ์จงใจปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ หรือฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 234 (1) หรือไม่
ข้อ 2. เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2565 สำนักงาน ป.ป.ช. ได้มีหนังสือที่ ปช 0019/0142 เรื่อง ชี้แจงผลการตรวจสอบข้อเท็จจริง ที่ระบุไว้บางส่วน ดังนี้
“… กรณีดังกล่าวมีข้อเท็จจริงว่าเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2564 ผู้ถูกร้องกับคณะ ได้เสนอร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. (แก้ไขเกี่ยวกับความผิดฐานหมิ่นประมาท) ซึ่งสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรได้ตรวจสอบพบข้อบกพร่องและได้แจ้งให้ผู้ถูกร้องทราบ โดยผู้ถูกร้องได้มีหนังสือแจ้งขอถอนการเสนอร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. (แก้ไขเกี่ยวกับความผิดฐานหมิ่นประมาท) ดังกล่าว ต่อมาเมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2564 ผู้ถูกร้องกับคณะ ได้เสนอร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. (แก้ไขเกี่ยวกับความผิดฐานหมิ่นประมาท) เป็นครั้งที่สอง ซึ่งสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรได้เสนอความเห็นต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร จำนวน 2 ครั้ง
ปัจจุบันร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการตามดำริของนายสุชาติ ตันเจริญ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ประธานสภาผู้แทนราษฎร ที่ให้สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรแจ้งผู้เสนอ (ผู้ถูกร้อง) ให้แก้ไขข้อบกพร่องตามข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2562 ข้อ 111 ที่กำหนดว่า ร่างพระราชบัญญัติที่มีผู้เสนอตามมาตรา 133 ของรัฐธรรมนูญให้ประธานสภาทำการตรวจสอบ และหากมีข้อบกพร่อง ให้ประธานสภาแจ้งผู้เสนอทราบภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่ได้รับ ซึ่งสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรได้แจ้งให้ผู้ถูกร้องทราบแล้ว เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2564 ดังนั้น ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. (แก้ไขเกี่ยวกับความผิดฐานหมิ่นประมาท) จึงยังไม่ได้รับการอนุญาตให้บรรจุระเบียบวาระการประชุมสภาผู้แทนราษฎร และยังไม่ได้จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นและวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ ตามข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2562 ข้อ 110 วรรคสี่ ร่างพราชบัญญัติฉบับนี้จึงยังไม่มีผลบังคับใช้เป็นกฎหมาย
กรณีการร่างรัฐธรรมนูญที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย นั้น ไม่พบว่ารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 และข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2562 มีการกำหนดบทลงโทษผู้เสนอร่างกฎหมายในเรื่องนี้ไว้เป็นการเฉพาะแต่อย่างใด”
ข้อ 3. ต่อมาวันที่ 31 มกราคม 2567 ตามข่าวสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ที่ 5/1567 ได้เผยแพร่ผลคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญว่า “ศาลรัฐธรรมนูญโดยมติเอกฉันท์ วินิจฉัยว่า การกระทำของผู้ถูกร้องทั้งสองเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง และสั่งการให้ผู้ถูกร้องทั้งสองเลิกการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่นเพื่อให้มีการยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 อีกทั้งไม่ให้มีการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ด้วยวิธีการซึ่งไม่ใช่กระบวนการทางนิติบัญญัติโดยชอบ ที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคตด้วย ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคสอง และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 74”
ข้อ 4. คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 31 มกราคม 2567 เป็นกรณีที่มีกล่าวหาเกี่ยวกับการที่ผู้ถูกร้องทั้งสองเสนอร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….ด้วย ซึ่งน่าจะเป็นมูลกรณีในทำนองเดียวกันกับคำร้องของข้าฯ ซึ่งสำนักงาน ป.ป.ช. ระบุไว้ท้ายหนังสือดังกล่าวส่วนหนึ่งว่า หากข้าฯยังมีข้อมูลหรือข้อเท็จจริงที่จะสนับสนุนว่าข้อกล่าวหามีรายละเอียดเพิ่มเติมเพียงพอที่จะดำเนินการต่อไป โปรดแจ้งข้อเท็จจริงพร้อมเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องไปยังสำนักงาน ป.ป.ช.
ข้อ 5. เนื่องจากมาตรฐานทางจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ รวมทั้งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน และหัวหน้าหน่วยงานธุรการของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ พ.ศ. 2561 ข้อ 3 วรรคสอง ระบุว่า “มาตรฐานทางจริยธรรมนี้ให้ใช้บังคับแก่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา และ คณะรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 219 วรรคสอง ด้วย” หมวด 1 มาตรฐานทางจริยธรรมอันเป็นอุดมการณ์ ข้อ 5 ระบุว่า “ต้องยึดมั่นและธํารงไว้ซึ่งการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย” ข้อ 6 ระบุว่า “ต้องพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ เอกราช อธิปไตย บูรณภาพ แห่งอาณาเขตและเขตที่ประเทศไทยมีสิทธิอธิปไตย เกียรติภูมิและผลประโยชน์ของชาติ ความมั่นคงของรัฐ และความสงบเรียบร้อยของประชาชน” ข้อ 27 วรรคหนึ่ง ระบุว่า “การฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมในหมวด 1 ให้ถือว่ามีลักษณะร้ายแรง”
ข้อ 6. ประกอบกับพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 87 บัญญัติว่า
“มาตรา 87 เมื่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ไต่สวนและมีความเห็นว่า ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ หรือผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. เสนอเรื่องต่อศาลฎีกาเพื่อวินิจฉัย
การเสนอเรื่องต่อศาลฎีกาตามวรรคหนึ่ง และการพิจารณาพิพากษาของศาลฎีกาให้เป็นไปตามระเบียบของที่ประชุมใหญ่ของศาลฎีกาซึ่งต้องกําหนดให้ใช้ระบบไต่สวนและให้ดำเนินการโดยรวดเร็ว
ให้นําความในมาตรา 81 และมาตรา 86 มาใช้บังคับด้วยโดยอนุโลม
การเสนอเรื่องต่อศาลฎีกาตามวรรคหนึ่ง คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีอำนาจมอบหมายให้พนักงาน เจ้าหน้าที่ดำเนินการในศาลแทนได้”
ข้อ 7. ดังนั้น โดยผลของคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 31 มกราคม 2567 จึงควรถือเป็นรายละเอียดเพิ่มเติมเพียงพอที่จะขอให้ ป.ป.ช. ดำเนินการต่อไปได้ กรณีจึงมีเหตุอันควรขอให้ ป.ป.ช. นำคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ณ วันที่ 31 มกราคม 2567 มาเป็นรายละเอียดเพิ่มเติมเพื่อนำไปประกอบการตรวจสอบว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกล จำนวน 44 คน มีพฤติการณ์จงใจปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ หรือฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 234 (1) หรือไม่