xs
xsm
sm
md
lg

‘โรม' ชี้คำวินิจฉัยศาล รธน.สร้างคำถามให้สังคม ขู่หากขวาง-ไม่ให้พื้นที่จะนำสู่วิกฤตใหม่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



‘โรม' มองคำวินิจฉัยศาล รธน.สร้างคำถามให้สังคม ระบุหากขวางวิธีแก้-ไม่ให้พื้นที่จะนำมาสู่วิกฤตใหม่ อ้าง ‘ก้าวไกล‘ ไม่ใช่ตัวบุคคล แต่คือทุกคนที่มีความเชื่ออยากเห็นสังคมที่ดีกว่า ไม่เห็นด้วยหากปมแก้ ม.112 จะนำไปสู่การตัดสิทธิการเมือง-ยุบพรรค

เมื่อวันที่ 31 ม.ค. ที่รัฐสภา นายรังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ให้ความเห็นภายหลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย ในคดีใช้นโยบายแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 หาเสียง ของพรรคก้าวไกล และมีคำตัดสินว่า พรรคก้าวไกล เข้าข่ายล้มล้างการปกครอง และสั่งยุติการกระทำมีการประเมินความเคลื่อนไหวนอกสภาฯ อย่างไร ว่า ปกติเมื่อมีข้อที่จะต้องวินิจฉัย โดยศาลรัฐธรรมนูญจำเป็นต้องสร้างความชัดเจนให้กับสังคม ซึ่งอาจจะกลายเป็นบรรทัดฐานให้สังคมปฏิบัติต่อไป และสถานะของศาลรัฐธรรมนูญผูกพันทุกองค์กร แนวคำวินิจฉัยของศาลจึงมีความสำคัญอย่างมาก เราจึงคาดหวังให้แนวคำวินิจฉัยสร้างให้มีความเข้าใจตรงกัน ว่าจะต้องปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติอย่างไร

"ปัญหาที่เกิดขึ้นโดยทันที คือ อย่างนี้คนที่ศาลเคยตัดสินยกฟ้องคดี ม.112 ไปเท่าไร ให้ประกันตัวไปเท่าไร ประชาชนที่เข้าชื่อเสนอให้ยกเลิก ม.112 จะอย่างไร เราเสนอนโยบาย คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ก็ไม่ได้ขัดขวางอะไร สิ่งเหล่านี้เต็มไปด้วยคำถามตามมาทั้งหมด" นายรังสิมันต์ กล่าว

นายรังสิมันต์ กล่าวต่อว่า แม้ยังไม่เห็นคำวินิจฉัยของศาลตัวเต็ม แต่เฉพาะหน้าสังคมก็มีคำถามต่อเรื่องนี้อย่างมาก ตนเองไม่แน่ใจ ว่าจะมีผลกระทบทางการเมืองมากน้อยเท่าไหร่ แต่จะทำให้เราต้องรอดู ว่าจะได้คำตอบของคำถามเหล่านั้นหรือไม่ ซึ่งเป็นสิ่งที่ยากจะคาดการณ์

ส่วนกรณีที่ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า ได้ระบุว่า 'กฎหมายเขียนด้วยคน ไม่ได้ส่งแฟกซ์มาจากพระเจ้า' ยังเชื่ออย่างนั้นได้อยู่หรือไม่ นายรังสิมันต์ กล่าวว่า ตามความจริง กฎหมายเขียนด้วยคน คำวินิจฉัยวันนี้ของศาลก็เขียนด้วยคน ทุกอย่างก็เขียนด้วยคนทั้งหมด ถ้าเรามองไปที่ประเทศต่างๆ ที่ผ่านวิกฤต ถ้าเขาหาทางออกได้ ตนเองก็เชื่อว่าสังคมไทย ก็หาทางออกได้ เพียงแต่เราต้องไม่ย่อท้อ เราต้องยืนหยัดในความเชื่อ และเราต้องพิสูจน์

"วันนี้พรรคก้าวไกลพยายามพิสูจน์ตัวเอง ว่าเราไม่ได้ต้องการจะล้มระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข แน่นอนอาจจะมีคนบางกลุ่มไม่เชื่อ แต่เราก็ต้องพิสูจน์ต่อไป พิสูจน์ซ้ำๆ เพื่อยืนยันให้เห็นว่าเราต้องการเข้ามาแก้ปัญหาของบ้านเมืองจริงๆ ส่วนจะสำเร็จหรือไม่ คงต้องพิสูจน์กันด้วยเวลา" นายรังสิมันต์ กล่าว

นายรังสิมันต์ กล่าวต่อว่า การที่พรรคก้าวไกลได้รับความสนับสนุนจากพี่น้องประชาชนจำนวนมากขนาดนี้ ก็แสดงให้เห็นว่าพี่น้องประชาชนที่เลือกเรา เขาเองก็อยากจะออกจากวิกฤตทางการเมือง การเสนอนโยบาย คือการแก้ปัญหาให้กับประเทศ การที่มีคน 14 ล้านคนเห็นด้วย แต่ถูกบอกว่าห้ามเสนอ ห้ามแก้ และห้ามมีพื้นที่ด้วย ส่วนตัวมองว่า ก็จะเป็นวิกฤตใหม่ ที่วนไปวนมา หาทางออกไม่ได้ ก็พยายามทำหน้าที่ของเราให้ดีที่สุด

เมื่อถามว่า หากฉากทัศน์สุดท้ายของการแก้ ม.112 คือการยุบพรรคก้าวไกลมีแผน 2 หรือไม่ นายรังสิมันต์ กล่าวว่า อย่าเพิ่งคิดไปถึงตรงนั้น เพราะเรายังมีเวลาในการพิจารณา ยังต้องคุยกันภายในพรรค ว่าสุดท้ายแล้วจะอย่างไร อย่าพึ่งพูดถึงแผน 2 เพราะหากเราคุยกันเคลียร์ และมีทิศทางที่ชัดเจน ก่อนจะมีแผนบีก็ต้องสู้คดีก่อน จึงมองว่าอาจจะไม่ต้องรีบให้พี่น้องประชาชนทราบในตอนนี้

นายรังสิมันต์ ยังกล่าวอีกว่า อย่างหนึ่งที่ต้องบอกในโอกาสนี้ คือความคิดแบบที่ก้าวไกลคิด โดยที่เรามีจุดยืนที่จะสร้างสังคมให้ดีขึ้น มันจะไม่มีทางสูญสลาย และหายไปจากสังคมอย่างแน่นอน

”ก้าวไกลไม่ใช่ตัวบุคคล แต่ก้าวไกลคือทุกคนที่มีความเชื่อในการเห็นสังคมที่ดีกว่า“ นายรังสิมันต์ กล่าว

นายรังสิมันต์ กล่าวอีกว่า ตั้งแต่เราตั้งพรรคอนาคตใหม่ จนมาถึงพรรคก้าวไกล เจตนาของเราคือต้องการแก้ไขปัญหาการเมือง และเศรษฐกิจ ต้องยอมรับ ว่าปัญหาการเมืองหลายอย่างนั้นมีมานานแล้วก่อนจะมีพรรคอนาคตใหม่เสียด้วยซ้ำ ม.112 ก็เป็นหนึ่งในกฎหมายที่ใช้ดำเนินคดีกับคนที่วิพากษ์วิจารณ์และเห็นต่างทางการมาโดยตลอด เป็นข้อเท็จจริงที่รับรู้โดยทั่วกัน แม้แต่ในต่างประเทศ เราก็ได้รับคำเสนอแนะจากต่างประเทศ ถึงปัญหาการบังคับใช้กฎหมาย ม.112 มาโดยตลอด ดังนั้น ต้องยอมรับว่า ม.112 นำไปสู่คำถามมากมาย ก้าวไกลไม่ได้ต้องแก้ไขปัญหาเฉพาะ ม.112 เท่านั้น แต่ต้องการทำให้วิกฤติการเมืองของสังคมหมดไป

นายรังสิมันต์ กล่าวว่า เมื่อพิจารณาทั้งรัฐธรรมนูญ หรือพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ไม่มีกฎหมายฉบับใดที่ห้ามเสนอแก้ไข ม.112 ดังนั้น ขั้นตอนการเสนอแก้ไขกฎหมายที่เราได้ทำไปแล้วนั้น เป็นกระบวนการตามปกติที่กฎหมายให้อำนาจ ส่วน สส.ในสภาจะเห็นอย่างไรนั้น ก็เป็นเรื่องที่แต่ละฝ่ายใช้อำนาจวินิจฉัยกันไป

นายรังสิมันต์ กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมาเราพยายามทำ หน้าที่ให้ดีที่สุด แต่ในเมื่อคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญออกมาเช่นนี้ ก็คงต้องพูดคุยกันในพรรคว่าจะมีแนวทางกันอย่างไร แต่ส่วนตัวไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยที่ออกมา

ส่วนบรรทัดฐานการตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญในวันนี้ จะทำให้การพูดเรื่องการแก้ไข ม.112 ของ สส.ในพื้นที่สาธารณะเป็นอย่างไร นายรังสิมันต์ กล่าวว่า เชื่อว่าทุกคนต้องไปคิด เพราะเรื่องนี้เป็นประเด็นที่สังคมสนใจ สื่อมวลชนจึงนำไปถาม เพื่อรู้จุดยืนของพรรคการเมืองที่จะลงรับสมัครเลือกตั้ง แต่เมื่อมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ก็นำไปสู่คำถาม ว่าการพูดเรื่อง ม.112 จะเป็นอย่างไร ดังนั้น สังคมต้องหาพื้นที่ในการแก้ปัญหาที่มีมานาน

ทั้งนี้ ตนไม่มั่นใจว่าสภาจะเป็นพื้นที่ให้ได้หรือไม่ เราเป็นคนที่ต้องอยู่ในสังคมไปอีกนาน หลายคนยังอายุยังน้อย และต้องการจะรู้ว่าสิทธิและเสรีภาพมีมากน้อยแค่ไหน แต่น่าเสียดายที่เราไม่มีพื้นที่ในการหาคำตอบในเรื่องนี้ ตนไม่เชื่อว่าการห้ามคิด หรือห้ามพูด จะนำไปสู่ข้อยุติปัญหาที่จะเกิดขึ้น

เมื่อถามถึงกรณีที่นายรังสิมันต์เป็นหนึ่งใน สส.44 คน ที่เคยลงชื่อแก้ไข มาตรา 112 กังวลว่าจะถูกร้องจนนำไปสู่การตัดสิทธิ์ทางการเมืองหรือไม่ นายรังสิมันต์ กล่าวว่า ตนไม่เห็นด้วยหากสุดท้ายจะมีการดำเนินคดี ทั้งการยุบพรรค และการตัดสิทธิ์ สส.ทั้ง 44 คน แต่ตนคงไปห้ามไม่ได้ และเชื่อว่าต้องมีคนไปร้อง ก็คงต้องสู้คดีกันต่อไป ส่วนผลจะเป็นอย่างไร เป็นเรื่องของอนาคต


กำลังโหลดความคิดเห็น