xs
xsm
sm
md
lg

แต่งตั้ง “หมอสิริฤกษ์” อดีตปลัด อว.เป็นประธานบอร์ด สกสว.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล
ครม.มีมติแต่งตั้ง “ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล” อดีตปลัด อว. เป็นประธานบอร์ด สกสว. พร้อม กก.อีก 4 ราย พลิกปูม “หมอสิริฤกษ์” เกรียรตินิยมเหรียญทอง แพทย์มหิดล นักเรียนทุนอานันทมหิดล ผู้เชียวชาญด้านการวิจัย-นาโนเทคฯ ที่ต่างชาติซูฮก

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 30 ม.ค.67 มีมติเห็นชอบแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ในคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) จำนวน 5 ราย ประกอบด้วย 1. ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล เป็นประธานกรรมการ, 2. ศ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านวิทยาศาสตร์, 3. รศ.ดร.วีระพงษ์ แพสุวรรณ เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านวิทยาศาสตร์, 4. ศ.ดร.ปังปอนด์ รักอำนวยกิจ เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านสังคมศาสตร์ และ 5. ดร.อาร์ม ตั้งนิรันดร เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านมนุษยศาสตร์ โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 30 ม.ค.67 เป็นต้นไป

สำหรับ ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ เป็นอดีตปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ปัจจุบันเป็นภาคีสมาชิกราชบัณฑิตสภา สำเร็จการศึกษาแพทยศาสตร์บัณฑิต เกียรตินิยมเหรียญทอง อันดับ 1 จากคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล และได้รับพระราชทานทุนมูลนิธิอานันทมหิดล ศึกษาต่อที่ประเทศอังกฤษ และสหรัฐอเมริกา สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอก ด้านวิทยาภูมิคุ้มกันระดับโมเลกุล จากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ประเทศอังกฤษ และระดับหลังปริญญาเอกด้านอณูชีววิทยาจากมหาวิทยาลัยโคโลราโด ประเทศสหรัฐอเมริกา

หลังสำเร็จการศึกษา ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ เข้าปฏิบัติงานเป็นอาจารย์แพทย์ที่คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล โดยได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็น ศาสตราจารย์ ตั้งแต่ปี 2543 ในวัยเพียง 37 ปี และศาสตราจารย์เกียรติคุณ เมื่อปี 2559

นอกจากนี้ยังได้ศึกษาในด้านการบริหารได้รับประกาศนียบัตรชั้นสูงด้านการบริหารงานภาครัฐและกฎหมายมหาชน และด้านการกำกับดูแลกิจการสำหรับกรรมการและผู้บริหารระดับสูงของรัฐวิสาหกิจและองค์การมหาชนจากสถาบันพระปกเกล้า, ประกาศนียบัตรสำหรับผู้บริหารระดับสูงจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ประเทศสหรัฐอเมริกา, Director Certification Program จากสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) รวมไปถึงวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร รุ่นที่ 60 (วปอ.60)

ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ เป็นนักวิจัยชั้นนำที่ได้รับการยอมรับในระดับประเทศ และในระดับนานาชาติ โดยเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านนาโนเทคโนโลยี, เทคโนโลยีชีวภาพ และวิทยาภูมิคุ้มกัน ได้รับรางวัลสำคัญทางวิชาการทั้งในระดับประเทศ และนานาชาติ โดยได้รับพระราชทานรางวัลนักเทคโนโลยีดีเด่น, รางวัลนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ของมูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์ และรางวัล ASEANYoung Scientist and Technologist Award ของภูมิภาคอาเซียน เป็นต้น ตลอดจนได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์จากหลายสถาบัน ทั้งในและต่างประเทศ

ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ยังมีบทบาทในด้านการบริหาร ทั้งในส่วนการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์วิจัย และนวัตกรรม โดยดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ช่วงปี 2551-2559, เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ช่วงปี 2559-2563 ก่อนได้รับโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่ง ปลัดกระทรวง อว. เมื่อปี 2563 เกษียณอายุราชการเมื่อเดือน ก.ย.66

ช่วงที่ดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวง อว. ได้ผลักดันการปฏิรูปการอุดมศึกษา, การจัดแบ่งกลุ่มมหาวิทยาลัย, โครงการมหาวิทยาลัยสู่ตำบล U2T, ติดตามการสร้างและทดสอบดาวเทียมธีออส-2 กับประเทศฝรั่งเศสที่นำไปสู่การปล่อยขึ้นสู่วงโคจร เมื่อเดือน ต.ค.66 ที่ผ่านมา และในช่วงวิกฤตการณ์โควิด-19 ก็ได้มีส่วนร่วมในการบริหารสถานการณ์โควิดของ ศบค. โดยดูแลข้อมูลทางวิชาการ และนวัตกรรม, วิเคราะห์ข้อมูลกราฟการระบาดที่ได้รับการเผยแพร่มากที่สุด รวมถึงผลักดันการตั้งโรงพยาบาลสนามทั่วประเทศ และการฉีดวัคซีนโควิดกว่า 1 ล้านโดสด้วย

ขณะเดียวกันก็ได้ผลักดันความร่วมมือในระดับประเทศ ต่างประเทศ อาทิ การตกลงความร่วมมือใช้ดาวเทียมสำรวจกับประเทศญี่ปุ่น และจีน, การขับเคลื่อนโครงการซินโครตรอนเครื่องใหม่กับประเทศญี่ปุ่น, การพัฒนาบุคลากรร่วมกับประเทศเพื่อนบ้านใน CLMV โดยเฉพาะกับลาว กัมพูชา และเมียนมา, การเชื่อมโยงนวัตกรรมทางการแพทย์และการเกษตรระหว่างอิสราเอล กับประเทศไทย, การจัดตั้งศูนย์วิจัยร่วมกับวิทยสถานสังคมศาสตร์จีน รวมทั้งกิจกรรมกับเครือข่ายสมาคมนักวิชาชีพ และนักศึกษาไทย ทั้งในสหรัฐอเมริกา และยุโรป ทำให้เกิดโครงการพัฒนามาตรฐานของหลักสูตรระดับอุดมศึกษาของประเทศไทยเป็นจำนวนมาก เป็นต้น

ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ได้รับเลือกเป็นประธานสมาพันธ์นาโนเทคโนโลยีแห่งเอเชีย ระหว่างปี 2557-2559 และเป็นผู้แทนประเทศไทยในคณะกรรมการนานาชาติทั้งในระดับอาเชีย เอเปค ประชาคมยุโรป และองค์การระหว่างประเทศต่างๆ และได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ให้เป็นกรรมการที่ปรึกษาวิชาการ ของมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลในพระบรมราชูปถัมภ์ และได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นสูงสุด มหาปรมาภรณ์ช้างเผือก (ม.ป.ช.) และมหาวชิรมงกุฎ (ม.ว.ม.).


กำลังโหลดความคิดเห็น