xs
xsm
sm
md
lg

จับตา! พรุ่งนี้ ถกดันเลือกตั้งผู้ว่าฯ จังหวัดนำร่อง "สมศักดิ์" สั่ง บรรจุเพิ่มเติมร่างแผนการกระจายอำนาจฯ ฉบับใหม่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เอาแน่! ดันเลือกตั้งผู้ว่าฯ ในจังหวัดนำร่อง "รองฯสมศักดิ์" สั่ง อนุฯกกถ. ถกเพิ่มเติมพรุ่งนี้ บรรจุลงร่างแผนการกระจายอำนาจฯ ฉบับใหม่ ตามข้อเสนอ กมธ.กระจายอำนาจฯ เชิญ "มท.-ปค.-" หอบเอกสารให้ข้อมูลความเป็นไปได้ สนองฝ่ายการเมือง ดันบริหารราชการรูปแบบจังหวัดจัดการตนเอง เผย กมธ.ชูนำร่องภูมิภาคละ1 จังหวัด "เหนือ/เชียงใหม่" "อีสาน/ขอนแก่น/อุดรฯ/โคราช" "ใต้/ภูเก็ต/3จชต."

วันนี้ (30 ม.ค.2567) มีรายงานจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า ประเด็นการ "นำร่อง" เลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด ถูกหยิบยกขึ้นมาอีกครั้ง ภายหลังมีการถกเถียงกันหลายครั้งในอดีต ในประเด็นการบริหารราชการรูปแบบจังหวัดจัดการตนเอง

เฉพาะที่ คณะกรรมาธิการ (กมธ.) การกระจายอำนาจ การปกครองส่วนท้องถิ่น และการบริหารราชการ รูปแบบพิเศษ สภาผู้แทนราษฎร ซึ่งนายซูการ์โน มะทา ส.ส.ยะลา พรรคประชาชาติ ในฐานะประธานฯ เมื่อปี 2564

ได้จัดทำรายงานการศึกษา เรื่อง การบริหารราชการรูปแบบจังหวัดจัดการตนเอง เสนอต่อ ประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อนำเสนอต่อรัฐบาล

ล่าสุด วันที่ 31 ม.ค.นี้ จะมีการประชุมร่วมของคณะอนุกรรมการบริหารแผนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.)

และแผนปฏิบัติการกำหนดขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่ อปท.ด้านการถ่ายโอนภารกิจ กับหลายหน่วยงาน มีนายเลอพงศ์ ลิ้มรัตน์ นั่งเป็นประธานอนุกรรมการฯ

พบว่ามีการบรรจุวาระประชุม ในประเด็นการ "นำร่อง" เลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด โดย อนุ ก.ก.ถ. ชุดนี้ มีหนังสือ เชิญ ปลัดมหาดไทย อธิบดีกรมการปกครอง

และ ผอ.สำนักพัฒนาและส่งเสริมการปกครองส่วนถิ่น สป.มท. เข้าให้ข้อมูล ข้อเท็จจริง ในประเด็นเลือกตั้งผู้ว่าฯ

การประชุมดังกล่าว สืบเนื่องจาก นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี ประธานคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ก.ก.ถ.) มีข้อสั่งการให้ ก.ก.ถ. พิจารณาเพิ่มเติม

"ความเป็นไปได้ในการกำหนด เรื่อง การเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด ที่มีความพร้อมไว้ใน (ร่าง) แผนการกระจายอำนาจฯ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2567 - 2570 และ (ร่าง) แผนปฏิบัติการฯ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2567 - 2570"

นายสมศักดิ์ เห็นว่า เพื่อให้การจัดการปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญฯ กำหนด รูปแบบ อปท. เป็นไปตามเจตนารมณ์ของประชาชนในท้องถิ่น

โดยให้ประชาชนสามารถเลือกตัวแทนของผู้บริหารที่จะเป็นตัวแทนการพัฒนาท้องถิ่น จึงเสนอที่ประชุมพิจารณาความเป็นไปได้ดังกล่าว

สำหรับร่าง ทั้ง 2 ฉบับ มีการยกร่าง ในรัฐบาลชุดที่แล้ว นายวิษณุ เครืองาม ในฐานประธาน ก.ก.ถ. ชุดนั้น

มีคำสั่งให้ สำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) ในฐานะฝ่ายเลขานุการ รับร่างไปพิจารณาทบทวนร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอีกครั้งหนึ่งเพื่อให้ได้ข้อยุติก่อนเสนอ ครม.

สำหรับข้อเสนอ ที่ กมธ.ชุดนี้ เสนอมายังรัฐบาล และ อนุ กกถ.จะหารือวันพรุ่งนี้ มีแนวคิดจังหวัดจัดการตนเองมาจากที่รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน

บัญญัติให้จัดการปกครองส่วนท้องถิ่นตามหลักแห่งการปกครองตนเอง ตามเจตนารมณ์ของประชาชนในท้องถิ่น และการจัดตั้ง อปท.ในรูปแบบใด

ให้คำนึงถึงเจตนารมณ์ของประขาชนในท้องถิ่น และความสามารถในการปกครองตนเองในด้านรายได้ จำนวนและความหนาแน่นของประชากรและพื้นที่ ที่ต้องรับผิดชอบประกอบกัน

ส่วนการจัดทำร่างกฎหมายพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการจังหวัดจัดการตนเอง ตามหลักการซองรัฐธรรมนูญ เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนในจังหวัดที่มีความพร้อม ได้แสดงเจตนารมณ์

โดยผ่านการทำประชามติในเขตจังหวัดนั้น ๆ เพื่อยกฐานะเป็นการปกครองท้องถิ่นในรูปแบบจังหวัดจัดการตนเอง โดยพิจารณาจากความโดดเด่นในด้านต่าง ๆ

เช่น ด้านเศรษฐกิจ หรือเป็นพื้นที่เขตอุตสาหกรรม เมืองขนาดใหญ่ และมีภาคประชาสังคมเข้มแข็ง มีลักษณะโดดเด่นเกี่ยวกับภูมิประเทศ ลักษณะพิเศษด้านวัฒนธรรมหรือด้านสังคม

ข้อเสนอ ตามร่างกม. เช่น การแบ่งการปกครองท้องถิ่นเป็นสองระดับ คือ ระดับบน (จังหวัดจัดการตนเอง) และระดับล่าง (เทศบาล อบต.) และ อปท.รูปแบบพิเศษอื่น

ผู้บริหารสูงสุดจังหวัดจัดการตนเอง คือ ผู้ว่าราชการจังหวัดจัดการตนเอง ซึ่งมาจากการเลือกตั้ง เช่นเดียวกับสภาจังหวัดจัดการตนเอง

มีข้อกำหนดการจัดตั้งสภาพลเมืองจังหวัดจัดการตนเอง สภาพลเมือง เทศบาล และสภาพลเมืององค์การบริหารส่วนตำบล เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบาย วางแผน พัฒนาเศรษฐกิจ

มีรายงานว่า เมื่อปี 2565 นายซูการ์โน มะทา ส.ส.ยะลา พรรคประชาชาติ ในฐานะประธาน กมธ.ชุดนั้น เคยระบุว่า สาระสำคัญ คือการเปิดให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด หรือนำร่องภูมิภาคละ 1-2 จังหวัด

โดยเชื่อว่าทุกพรรคการเมืองให้ความสำคัญเรื่องการการจายอำนาจ ที่มีการปฏิรูปมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 จาก เวียง-วัง-คลัง-นา เป็นระบบราชการส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และข้าราชการส่วนท้องถิ่น ซึ่งกรรมาธิการเห็นว่ายังไม่ตอบโจทย์ประชาชน

ในข้อเสนอ กมธ. มีข้อเสนอแนะข้อสังเกตว่า ควรมีการนำร่องภูมิภาคละ1 จังหวัด ภาคเหนือที่ เชียงใหม่ ,ภาคอีสานอาจจะเป็น ขอนแก่น หรือ อุดรธานี หรือนครราชสีมา หรือที่ภาคใต้ เป็นภูเก็ต หรือที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้

ข้อมูลที่กระทรวงมหาดไทยกังวล เกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ ภารกิจของผู้ว่าราชการจังหวัด หากมีการเปลี่ยนแปลงไปเป็นการเลือกตั้ง จะกระทบกับความรับผิดชอบที่เกี่ยวกับกฎหมายหลายฉบับ

เชื่อมั่นว่าด้วยคุณวุฒิของผู้ว่าราชการจังหวัด ที่มาจากการเลือกตั้ง จะสามารถปรับตัวได้ เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนตัดสินใจเลือกผู้ว่าฯ ได้เอง

เพราะประเทศไทยมีการปกครองแบบรัฐซ้อนรัฐมานาน การเสนอจังหวัดจัดการตนเองเป็นการปฏิรูประบบราชการ ซึ่งรัฐธรรมนูญปี 2560 ก็กำหนดไว้.


กำลังโหลดความคิดเห็น