กรมทรัพยากรน้ำบาดาล ชี้แจงกรณีถูกกล่าวหาตั้งงบประมาณเจาะน้ำบาดาลซ้ำซ้อน ไม่เป็นความจริง ทุกอย่างดำเนินการตามหลักเกณฑ์มาตรฐานราคากลางของสำนักงบประมาณ เปิดเผย โปร่งใส แข่งขันอย่างเป็นธรรม ไม่มีเรื่องการทุจริต
เมื่อวันที่ 30 ม.ค.นายยงยุทธ นาควิโรจน์ รองอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ในฐานะโฆษกกรมทรัพยากรน้ำบาดาล เปิดเผนกรณีที่มีบุคคลภายนอกกล่าวหาว่ากรมทรัพยากรน้ำบาดาลมีการทุจริตค่าเจาะน้ำบาดาลโครงการพัฒนาน้ำบาดาลเพื่อการเกษตร ด้วยเครื่องสูบน้ำไฟฟ้าแบบจุ่มใต้น้ำ พื้นที่เกษตรขนาด 40 ไร่ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 โดยเบิกจ่ายงบประมาณการเจาะน้ำบาดาลซ้ำซ้อน รวมถึงการจัดซื้อเครื่องสูบน้ำไฟฟ้าแบบจุ่มใต้น้ำและเครื่องกำเนิดไฟฟ้าราคาแพงกว่าท้องตลาดว่า ไม่เป็นความจริง
“ข้อเท็จจริงคือโครงการดังกล่าว การตั้งงบประมาณเจาะน้ำบาดาล เพื่อให้เจ้าหน้าที่ของกรมฯ สามารถเข้าไปดำเนินการเจาะน้ำบาดาลเอง โดยมีค่าใช้จ่ายตามรายการดังนี้ 1.ค่าน้ำมันเชื้อเพลิงดีเซลหมุนเร็ว สำหรับ 1 หน่วยเจาะน้ำบาดาล มีรถยนต์รวม 5 คัน ได้แก่ รถบรรทุกเครื่องเจาะ รถบรรทุกน้ำ รถบรรทุกวัสดุอุปกรณ์ รถบรรทุกเล็ก (บริการ) และรถบรรทุกเครื่องอัดอากาศ 2.ค่าซ่อมบำรุงเครื่องจักรและอุปกรณ์ช่วยเจาะอื่นๆ 3.ค่าวัสดุอุปกรณ์ ได้แก่ หัวเจาะ โคลนผง และท่อกรุ ท่อกรอง 4.ค่าเบี้ยเลี้ยง ค่าที่พักเจ้าหน้าที่ ดังนั้น ข้าราชการหรือลูกจ้างประจำที่ได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบโครงการนี้ ก็จะมีสิทธิเบิกจ่ายงบประมาณจากโครงการดังกล่าว โดยเป็นการคำนวณราคาตามอัตราราคางานต่อหน่วย และเบิกจ่ายตามที่จ่ายจริง ซึ่งจะเบิกจ่ายจากแหล่งงบประมาณตามโครงการนี้เพียงโครงการเดียวเท่านั้น ไม่มีการเบิกจ่ายจากงบประมาณในส่วนอื่นๆ เพิ่มเติมหรือซ้ำซ้อนกันอย่างแน่นอน” นายยงยุทธ กล่าวและว่า
ส่วนการกล่าวหาว่าการจัดซื้อเครื่องสูบน้ำไฟฟ้าแบบจุ่มใต้น้ำและเครื่องกำเนิดไฟฟ้าราคาแพงกว่าท้องตลาด ก็ไม่เป็นความจริง ข้อเท็จจริงคือ กรมฯ ตั้งงบประมาณโดยมีหลักการอ้างอิงหรือราคากลางและเป็นไปตามอัตราราคางานต่อหน่วย และบัญชีราคามาตรฐานครุภัณฑ์ ดังนี้ การตั้งงบประมาณเพื่อจัดซื้อและติดตั้งเครื่องสูบน้ำไฟฟ้าแบบจุ่มใต้น้ำ (Submersible pump) ขนาด 3 แรงม้า 380 โวลต์ เป็นไปตามราคาอัตราราคางานต่อหน่วยที่กำหนดโดยกองมาตรฐานงบประมาณ 1 สำนักงบประมาณ โดยราคาดังกล่าวได้รวมถึงค่าใช้จ่ายอื่นๆ เช่น ท่อดูด และท่อส่ง วาล์วและข้อต่อต่างๆ สายไฟชนิดกันน้ำ ชุดควบคุมการสูบน้ำและการตั้งงบประมาณเพื่อจัดซื้อเครื่องกำเนิดกระแสไฟฟ้า ขนาด 5 กิโลวัตต์ เป็นไปตามบัญชีราคามาตรฐานครุภัณฑ์ที่กำหนดโดยกองมาตรฐานงบประมาณ 1 สำนักงบประมาณ
“ยืนยันว่าการตั้งงบประมาณค่าใช้จ่าย ตลอดจนการประมาณราคาค่าใช้จ่ายในการเจาะน้ำบาดาลเป็นไปตามหลักเกณฑ์มาตรฐานราคากลางของสำนักงบประมาณและการจัดซื้อเป็นไปตามกระบวนการ พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ 2560 ของกรมบัญชีกลาง อย่างเปิดเผยและให้มีการแข่งขันอย่างเป็นธรรม โดยใช้มาตรฐานเดียวกันทั้งหมด และไม่มีเรื่องการทุจริตใดๆ ตามที่ถูกกล่าวหา” โฆษกกรมทรัพยากรน้ำบาดาล กล่าว