คนเมืองสุขภาวะดี! สสส. สานพลังภาคี จัดการระบบสุขภาวะชุมชนเมืองนำร่อง 3 ชุมชน พบเจอปัญหาแออัด-ขยะล้น-ป่วย NCDs ชูขับเคลื่อนใช้ชุมชนเป็นฐาน-คำนึงถึงสุขภาพทุกนโยบาย สร้างความเข้มแข็งของชุมชน สู่การจัดการตนเองได้อย่างยั่งยืน
วันที่ 28 ม.ค.67 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) มูลนิธิช่วยไร้พรมแดน จัดกิจกรรม “สานสามัคคี สามชุม สุขภาพดี” ลงพื้นที่ส่งเสริมการจัดการระบบสุขภาวะใน 3 ชุมชนรอบ สสส. อาคารศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ ชุมชนหน้าสมาคมธรรมศาสตร์ ชุมชนบ้านมั่นคงสวนพลู และชุมชนบ้านเอื้ออาทรสวนพลูพัฒนา พร้อมเสวนา “เสียงจากคนละแวกบ้านเดียวกัน”
นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่าข้อมูลจากสำนักการวางผังและพัฒนาเมือง พบว่า จำนวนชุมชนในกรุงเทพฯ มี 2,071 ชุมชน เป็นชุมชนแออัด 638 ชุมชน ชุมชนเมือง 537 ชุมชน หมู่บ้านจัดสรร 425 ชุมชน ชานเมือง 323 ชุมชน เคหะชุมชน และอาคารสูง 148 ชุมชน คนเมืองเผชิญกับปัญหาที่ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตทั้ง ชุมชนที่หนาแน่น แออัด และสภาพแวดล้อมที่ทรุดโทรม ใช้ชีวิตเร่งรีบ ขยะล้น ด้านสุขภาพพบผู้ป่วยกลุ่มโรคไม่ติดต่อ NCDs โดยวัยแรงงาน 8-10% ในชุมชนเป็นโรคความดันสูง และเบาหวาน น้ำหนักตัวเกินมาตรฐานเพิ่มขึ้น จากพฤติกรรมการบริโภคอาหาร การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เครื่องดื่มชูกำลัง ขาดการออกกำลังกาย และยังพบผู้ป่วยติดเตียงจากความดันโลหิต และโรคหลอดเลือดในสมองตีบ ป่วยเป็นโรค NCDs เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะคนวัยทำงาน ขณะที่ชุมชนยังไม่มีการป้องกันความเสี่ยง หรือกลไกเฝ้าระวังและการสร้างความตระหนักในระดับชุมชน
“สสส. ได้ทำงานขับเคลื่อนสร้างสุขภาวะชุมชนร่วมกับ 3 ชุมชนตั้งแต่ปี 2553 อาทิ โครงการของบางกอกฟอรั่มทำงานกับเยาวชนและผู้นำของ 3 ชุมชน โครงการ forOldy พัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ อสส.ชุมชน “เพื่อนดูแลเพื่อน” สวนผักคนเมือง จัดการขยะ กลุ่มแม่บ้านชุมชน เป็นต้น ซึ่งจุดเด่นของทั้ง 3 ชุมชน 1.มีกลไกของ คกก.ชุมชน และมีบทบาทสำคัญขับเคลื่อนงานชุมชน 2.ผู้นำมีบทบาทสำคัญต่อชุมชน 3.ชุมชนต้องการการแก้ไขปัญหาเชิงระบบ การลงพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ครั้งนี้ สสส. ได้ขับเคลื่อนส่งเสริมการจัดการระบบสุขภาวะชุมชนรอบศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ พัฒนาระบบการจัดการพื้นที่ นวัตกรรมจัดการปัญหาของชุมชน นํามาสู่การจัดการตนเอง บูรณาการเชื่อมโยงพัฒนาระบบสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพชุมชน ด้วยแนวคิด 1.เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 2.ใช้พื้นที่เป็นฐานในการพัฒนา 3.คำนึงถึงสุขภาพในทุกงานหรือทุกนโยบาย 4.การเฝ้าระวังร่วมกันในละแวกบ้าน เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนอย่างยั่งยืน” นพ.พงศ์เทพ กล่าว
นายประทุม ไทรแช่มจันทร์ ประธานชุมชนหน้าสมาคมธรรมศาสตร์ ตัวแทนคณะทำงานจาก 3 ชุมชน กล่าวว่า ปัจจุบันทั้ง 3 ชุมชนอยู่ในบริเวณใจกลางกรุงเทพฯ ใกล้ย่านสาทรและสีลมมี 1,115 หลังคาเรือน 7,712 คน และมีประชากรเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ชาวชุมชนครึ่งหนึ่งทำห้องเพิ่มเพื่อแบ่งเช่า สภาพชุมชนเริ่มแออัดมากเพิ่มขึ้น แต่ความร่วมมือการบูรณาการทำงานร่วมกันยังน้อย เด็ก และเยาวชนต้องการพื้นที่และทำกิจกรรม ยังไม่มีการคัดแยกและจัดการขยะ ผู้สูงอายุมีจำนวนมากขาดแรงจูงใจ ในการพบปะกับคนในชุมชน ขาดกิจกรรมทางสังคม จึงต้องการกลไกการทำงานที่เป็นระบบเข้ามาจัดการชุมชน เช่น การบริหารจัดการพื้นที่ การใช้พื้นที่กลางร่วมกัน ฝึกซ้อมอพยพหนีไฟ การจัดการขยะ ที่กิจกรรมที่เกี่ยวเนื่องส่งผลต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของชาวชุมชนทุกช่วงวัย รวมถึงการส่งเสริมให้เกิดการรวมกลุ่ม และพัฒนากลุ่มต่าง ๆ ในชุมชน เช่น กลุ่มเยาวชน กลุ่มอาชีพ และกลุ่มผู้สูงอายุ ให้มีความเข้มแข็ง สามารถพัฒนาและเข้าถึงสิทธิสวัสดิการขั้นพื้นฐาน