xs
xsm
sm
md
lg

ศาล ปค.กลางเพิกถอนคำสั่ง สบส.ให้ รพ.รามฯ คืนค่ารักษาคนไข้หลอดเลือดแดงโป่งพอง ชี้ผลวินิจฉัยไม่เข้าเกณฑ์ฉุกเฉิน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศาล ปค.กลางสั่งเพิกถอนคำสั่งอธิบดี สบส.ที่สั่งให้ รพ.รามคำแหงคืนเงินค่ารักษาพยาบาลคนไข้โรคหลอดเลือดแดงโป่งพอง และให้ทาง รพ.ไปเรียกเก็บค่าใช้จ่ายจาก สปสช.แทน เนื่องจากเห็นว่า ผลวินิจฉัยแรกรับผู้ป่วยใน 72 ชม. ยังไม่เข้าหลักเกณฑ์ตามคู่มือคัดแยกผู้ป่วยฉุกเฉิน

วันนี้ (25 ม.ค.) ศาลปกครองกลาง พิพากษาเพิกคำสั่งอธิบดีกรมสนับสนุนสุขภาพ ที่ให้ บริษัทโรงพยาบาลรามคำแหง จำกัด (มหาชน) เรียกเก็บค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลผู้ป่วยรายหนึ่งที่เข้ารับการรักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลรามคำแหงในอาการปวดขวาและขาชา เกิดขึ้นในช่วงเวลานับตั้งแต่รับผู้ป่วย เมื่อวันที่ 6 มิ.ย.2562 จนถึง 72 ชั่วโมงจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)ในอัตราตามบัญชีและอัตราค่าใช้จ่ายแนบท้ายหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขของประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการกำหนดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต ลงวันที่ 29 มี.ค.2560 และให้คืนเงินที่ผู้ป่วยหรือญาติได้ชำระมาแล้วนั้นแก่ผู้ป่วยหรือญาติของผู้ป่วยรายดังกล่าว ตามหนังสือ ที่ สธ 0702.03.4/1947 ลงวันที่ 2 ก.ย.2564 โดยให้มีผลย้อนหลังไปถึงขณะที่คำสั่งดังกล่าวมีผลใช้บังคับ ตามที่บริษัทโรงพยาบาลรามคำแหง จำกัด (มหาชน) ที่ยื่นฟ้องกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ และสถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน (สพฉ.) ว่า ออกคำสั่งดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมายและให้คืนเงินค่ารักษาพยาบาลแก่ผู้ป่วยหรือญาติของผู้ป่วยรายดังกล่าว

ศาลให้เหตุว่า แม้ข้อเท็จจริงในคดีนี้จะรับฟังได้ว่า สาเหตุการเจ็บป่วยของผู้ป่วยรายดังกล่าว เป็นผลจากการเป็นโรคหลอดเลือดแดงโป่งพองอันเป็นโรคที่มีความรุนแรงและเป็นอันตรายและเข้าข่ายผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต สพฉ.จึงมีมติและความเห็นทางการแพทย์ว่าผู้ป่วยรายนี้เข้าเกณฑ์เป็นผู้ป่วยฉุกเฉิน แต่การวินิจฉัยว่าเป็นผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตหรือไม่ ต้องพิจารณาจากหลักเกณฑ์ตามคู่มือแนวทางการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ เกณฑ์ และวิธีปฏิบัติการคัดแยกผู้ป่วยฉุกเฉินและการจัดลำดับการบริบาล ณ ห้องฉุกเฉิน ตามหลักเกณฑ์ที่ คณะกรรมการการแพทย์ฉุกเฉิน (กพฉ.)กำหนดเมื่อพิจารณาข้อเท็จจริงตามคำชี้แจงดังกล่าวและในเวชระเบียนไม่ปรากฎว่า ผู้ป่วยรายดังกล่าวมีอาการป่วย ผลการตรวจ หรือข้อเท็จจริงที่เป็นไปตามเกณฑ์การคัดแยกตามคู่มือดังกล่าวแต่อย่างใด ผู้ป่วยรายนี้จึงมิใช่ผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต ดังนั้น การที่คณะทำงานและรับเรื่องร้องเรียน สพฉ.ได้พิจารณาทบทวนผลการตรวจประเมินคัดแยกผู้ป่วยฉุกเฉินแล้วให้ความเห็นว่า อาการแรกรับของผู้ป่วยรายนี้เข้าข่ายระดับความฉุกเฉินเป็น วิกฤตแดง ESI-2 ตามคู่มือแนวทางการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ เกณฑ์ และวิธีปฏิบัติการคัดแยกผู้ป่วยฉุกเฉินและจัดลำดับการบริบาล ณ ห้องฉุกเฉินตามหลักเกณฑ์ ที่ กพฉ.กำหนด และมีมติให้เป็นผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต "เข้าเกณฑ์" จึงเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เมื่อคำสั่งดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย การที่โรงพยาบาลรามคำแหงซึ่งเป็นผู้รับอนุญาตและผู้ดำเนินการสถานพยาบาลเรียกเก็บค่ารักษาพยาบาลจากผู้ป่วย จึงมิใช่เป็นการปฏิบัติไม่ถูกต้องตามมาตรา พ.ร.บ.สถานพยาบาล พ.ศ. 2541 อธิบดี สบส.จึงไม่มีอำนาจออกคำสั่งให้โรงพยาบาลรามคำแหงเรียกเก็บค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานับตั้งแต่รับผู้ป่วยรายดังกล่าวจนถึง72ชั่วโมง จาก สปสช. ในอัตราตามบัญชีและอัตราค่าใช้จ่ายแนบท้ายหลักเกณฑ์วิธีการ และเงื่อนไขของประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการกำหนดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต ลงวันที่ 29 มี.ค.2560 และให้โรงพยาบาลรามคำแหงคืนเงินที่ผู้ป่วยหรือญาติได้ชำระค่ารักษาพยาบาลให้แก่แก่ผู้ป่วยหรือญาติ ดังนั้น คำสั่งของอธิบดี สบส. ดังกล่าว จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย


กำลังโหลดความคิดเห็น