“ช่อ พรรณิการ์” ประเมินคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญคดีล้มล้างการปกครอง หวั่นออกมาในทางแย่ที่สุด อาจนำไปสู่คดีใหม่ยุบพรรคก้าวไกล
วันที่ 25 ม.ค. 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า น.ส.พรรณิการ์ วานิช กรรมการบริหารคณะก้าวหน้า ให้สัมภาษณ์ในรายการ The politics เครือมติชน กรณีศาลรัฐธรรมนูญนัดฟังคำวินิจฉัยในคดีล้มล้างการปกครอง จากการเสนอร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา เพื่อยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 โดยใช้เป็นนโยบายหาเสียงเลือกตั้ง ในวันที่ 31 ม.ค.นี้
โดย น.ส.พรรณิการ์ กล่าวว่า คดีมาตรา 112 ในสัปดาห์หน้า ไม่ใช่เรื่องของ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อย่างเดียว แต่ใหญ่กว่านั้นมาก ซึ่งเกี่ยวกับระบบนิติรัฐ นิติธรรมของประเทศ มันคือการตอบคำถามว่า ตกลงสถานะของกฎหมาย 112 จะอยู่เหนือกฎหมายอื่นหรือไม่
ข้อกล่าวหา คือ การแก้ไขมาตรา 112 ของพรรคก้าวไกล ถือเป็นการล้มล้างการปกครองหรือไม่ ถ้าศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยออกมา ว่า การกระทำนี้ของก้าวไกลเท่ากับล้มล้าง หมายความว่า การแก้ไขกฎหมายฉบับใดฉบับหนึ่ง สามารถนำไปสู่การล้มล้างการปกครองได้
ถ้ามีแต่ 112 ที่แก้แล้วล้มล้างการปกครอง หมายความว่า กฎหมายฉบับนี้มีสถานะเหนือกฎหมายอื่น แล้วกฎหมายใดกฎหมายหนึ่งจะมีสถานะเหนือกฎหมายอื่นได้อย่างไร รัฐสภาคือฝ่ายนิติบัญญัติ มีหน้าที่ออกกฎหมาย แก้กฎหมาย ฉะนั้น การแก้กฎหมาย ย่อมเป็นวิธีทางตามระบอบการปกครอง หรือเป็นหน้าที่ของ ส.ส.ในสภาอยู่แล้ว ซึ่งมีกระบวนการว่ากฎหมายใดจะขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่
เมื่อถามว่า กองเชียร์ก้าวไกลมีความเป็นห่วงว่าการแก้มาตรา 112 ของพรรคก้าวไกล หากมีคำวินิจฉัยออกมาแล้ว จะเป็นประตูบานแรกที่จะเกิดสิ่งต่างๆ กับพรรคก้าวไกล น.ส.พรรณิการ์ กล่าวว่า ทางที่ดีที่สุดที่จะเกิด คือ ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ว่า การกระทำของก้าวไกลยังไม่เข้าข่ายการล้มล้าง
แต่มีการประเมินกันว่า อาจมีการขีดขอบเขต เพราะศาลต้องให้เหตุผลว่าแบบใดคือการล้มล้าง และเมื่อศาลให้คำวินิจฉัยว่าแบบใดล้ม แบบใดไม่ล้ม ก็จะกลายเป็นบรรทัดฐาน เพราะคำวินิฉัยของศาลรัฐธรรมนูญผูกพันกับทุกองค์กร
ส่วนแบบที่แย่ คือ ศาลรัฐธรรมนูญ ระบุว่า การกระทำนี้เข้าข่ายล้มล้างการปกครอง แต่ที่ใหญ่กว่านั้น คือ มันจะนำไปสู่คดีใหม่อีกคดี โดยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) หรือ นักร้อง ว่า พรรคก้าวไกลล้มล้างการปกครอง ซึ่งจะนำไปสู่คดียุบพรรคได้
น.ส.พรรณิการ์ กล่าวอีกว่า คนจำนวนมากไม่รู้ว่า การแก้ไข 112 แก้กันมาหลายครั้ง รวมถึงการปรับเปลี่ยนกฎหมายหมิ่นพระมหากษัตริย์ มีมาตั้งแต่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ซึ่งในปี พ.ศ. 2519 นั้นก็แก้สำเร็จ และตอนที่เสนอโดยพรรคประชาธิปัตย์ และพรรคพลังประชาชน ก็มีการเสนอแก้ แต่แก้ไม่สำเร็จ ซึ่งทั้ง 2 พรรค ก็ไม่มีใครถูกหาว่าล้มล้างการปกครอง