xs
xsm
sm
md
lg

กำชับ "ผู้ว่าฯ" เข้มคู่ค้า "นมโรงเรียน" รับเทอมสอง ปีการศึกษานี้ ตามข้อเสนอ ป.ป.ช. หวั่นซ้ำรอย! “ฮั้ว” เช่นในอดีต

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กำชับ "ผู้ว่าฯ"ทั่วประเทศ เข้มส่งรับมอบ "นมโรงเรียน" รับเทอมสอง ปีการศึกษาใหม่ ตามข้อเสนอ ป.ป.ช. หวั่นซ้ำรอย! สมยอม “ฮั้ว” กับผู้ประกอบการ เฉกเช่นในอดีต หลัง "มหาดไทย" เคยแนะผู้ว่าฯ ใช้กลไกระดับจังหวัด-อำเภอ คุมเข้มดับเบิ้ลเชก เจาะจงท้องถิ่น ในฐานะหน่วยจัดซื้อต้องให้ความสำคัญ เข้มงวดทุกขั้นตอน

วันนี้ (24 ม.ค.2567) มีรายงานจากกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า ต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) ได้รับแจ้งจาก กรมปศุสัตว์ ในฐานะเลขานุการคณะอนุกรรมการบริหารกลางโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน

เพื่อแจ้งผ่านไปยังผู้ว่าราชการจังหวัด ในฐานะประธานคณะกรรมการอาหารเสริม (นม) โรงเรียนระดับจังหวัด ให้หน่วยงานที่รับผิดชอบในการจัดซื้อนมโรงเรียน ภาคเรียนที่ 2/2566

ติดตามการส่งมอบและรับมอบนมโรงเรียน ให้เป็นไปตามข้อเสนอแนะของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)

ที่เสนอให้ อปท. และโรงเรียนเอกชน ในฐานะหน่วยงานที่รับผิดชอบในการจัดซื้อนมโรงเรียน ต้องให้ความสำคัญและเข้มงวด ในขั้นตอนการส่งมอบและรับมอบนมโรงเรียน

"เนื่องจาก อ.ส.ค. ไม่ได้เป็นผู้ดำเนินการเอง แต่ได้มอบอำนาจให้ผู้ประกอบการแต่ละรายเป็นผู้ปฏิบัติแทน จึงมีโอกาสที่จะเกิดการสมยอมการเสนอราคา (ฮั้ว) หรือร่วมมือกัน ทุจริตระหว่างหน่วยจัดซื้อกับผู้ประกอบการ”

โดยให้เป็นไปตามประกาศคณะกรรมการอาหารนมเพื่อเด็กและเยาวชน เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินงานโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน ประจำปีการศึกษา 2566 ฉบับที่ 2 ลงวันที่ 3 พฤษภาคม 2566

หนังสือดังกล่าว เจาะจงไปยัง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ในฐานะหน่วยจัดซื้อต้องให้ความสำคัญและเข้มงวดทุกขั้นตอน

"หากพบว่าผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์นม ไม่จัดส่งนมโรงเรียนให้ครบถ้วนตามสัญญาซื้อขายหรือปฏิบัติไม่เป็นไปตามประกาศ ให้เร่งคณะอนุกรรมการฯ เพื่อดำเนินการตามมาตรการควบคุมและกำกับดูแลโครงการ"

และให้รายงานผลการทำสัญญาซื้อขายและจัดส่งนมโรงเรียน ภาคเรียนที่ 2/2566 ที่เป็นข้อมูลปัจจุบัน

สำหรับขั้นตอนการส่งมอบและรับมอบอาหารเสริม (นม) โรงเรียน จากผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์นมที่ได้รับมอบอำนาจจาก อ.ส.ค. ในการเป็นคู่สัญญาฯ กับ อปท.

เช่น ให้สุ่มตรวจคุณภาพนมที่ให้เด็กนักเรียนดื่ม และเปิดโอกาสให้ตัวแทนภาคประชาชนหรือผู้บริโภคได้เข้ามามีส่วนร่วมในการตรวจสอบเพื่อลดความเสี่ยงในเรื่องคุณภาพนมโรงเรียนและปัญหาการทุจริตต่างๆ

แนวปฏิบัติในการจัดซื้อนมโรงเรียนของ อปท. และโรงเรียนเอกชน ต้องระบุประเภทของผลิตภัณฑ์นม ว่าเป็นนมพาสเจอร์ไรส์ หรือนม ยู.เอช.ที.ชนิดกล่อง/ชนิดซอง พร้อมให้ระบุจำนวนและราคาไว้อย่างชัดเจน

หากโรงเรียนหรือหน่วยงานจัดซื้อตรวจพบปัญหาคุณภาพนมโรงเรียน และไม่ได้รับการแก้ไขปัญหา ก็ให้แจ้งมายัง อ.ส.ค.

หรือในกรณีที่ผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์นมถูกร้องเรียนเรื่องคุณภาพและบริการ ก็ให้มีคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงให้ดำเนินการภายใน 15 วัน นับตั้งแต่วันที่ได้รับเรื่อง เป็นต้น.

มีรายงานว่า ข้อเสนอแนะของ ป.ป.ช. ข้อหนึ่ง มุ่งหวังให้กระทรวงศึกษาธิการ เป็นหน่วยงานหลักตรวจสอบ ประเมินผลถึงความสัมฤทธิ์ผลของโครงการ อย่างน้อยภาคเรียนละ 1 ครั้ง

"ไม่ควรให้หน่วยงานในกระทรวงเกษตรฯ ในฐานะผู้ปฎิบัติเป็นผู้ดำเนินการเองทั้งหมด ควรให้มีหน่วยงานนอกกระทรวงจากภาครัฐอื่นมาเป็นทำเป็นรูปแบบคณะกรรมการร่วม"

เพื่อถ่วงดุลการตรวจสอบอย่างมีประสิทธิภาพขึ้น และกำหนดให้รายงานผลตัวชี้วัดให้ ครม.อย่างปีละ 1 ครั้งที่วิเคราะห์ให้เห็นเด็กนักเรียนได้ดื่มนมที่มีคุณภาพในปริมาณที่เหมาะสมอย่างแท้จริง

ทั้งนี้ รัฐบาลชุดที่แล้ว ได้ปรับเพิ่มราคากลางในการจําหน่ายผลิตภัณฑ์นม โครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน เพิ่มขึ้นถุงหรือกล่องละ 0.31 บาท

โดย นมโรงเรียนชนิดพาสเจอร์ไรส์ ราคากลางเดิม 6.58 บาท/ถุง ราคากลางใหม่ 6.89 บาท/ถุง นมโรงเรียนชนิดยูเอชที ราคากลางเดิม 7.82 บาท/กล่อง ราคากลางใหม่ 8.13 บาท/กล่อง.


กำลังโหลดความคิดเห็น