xs
xsm
sm
md
lg

จุ๊ๆๆ..จิ๊งจกทัก "SCBX"วอนท์ จ้องจะทำซูเปอร์ดีลกับ "บิทคับ" อีกแว้ว !!? **ฟัง 4 เหตุผล ที่“พิธา” ถือหุ้น ไอทีวี ส่อเข้าข่ายลักษณะต้องห้าม-ขาดคุณสมบัติสส.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ข่าวปนคน คนปนข่าว

**จุ๊ๆๆ..จิ๊งจกทัก "SCBX"วอนท์ จ้องจะทำซูเปอร์ดีลกับ "บิทคับ" อีกแว้ว !!?

ความลับไม่มีในโลกฉันใด ข่าวความเคลื่อนไหวของกลุ่ม SCBx ต้องการทำซูเปอร์ดีล เข้าซื้อ "บิทคับ" อีกครั้งก็รู้ถึงหูหมู่มวลคนในแวดวงคริปโต ฉันนั้น


ว่ากันว่า จิ้งจกแถวสำนักงานใหญ่ร้องทักกันเสียงขรม สัญญาณนี้ย่อมไม่ใช่ข่าวโคมลอย เพราะมีคนวงในที่เคยเป็น"คีย์แมน" มือทำงาน มือประสาน เหล่าอะเวนเจอร์ ทีมดีลยักษ์ขยับตัวเข้าๆ ออกๆ ตึกถี่ๆ

แว่วว่า เหตุผลในการรื้อฟื้นดีลขึ้นมาใหม่ สภาพแวดล้อมของธุรกิจคริปโตที่เคยตกต่ำดำมืด เริ่มกลับมาโงหัว หลังจากตลาดโลก และ "บิทคอยน์" กลับมามีชีวิตชีวา "บิทคับ" พอจะได้ใบบุญฟื้นคืนชีพขึ้นมา ก็อาจจะถึงเวลา "เชื่อมจิต" ผูกมิตรไมตรี หาคำมาอธิบายได้

แม้ว่า มูลค่าหากเกิดการซื้อขายใหม่จะไม่อู้ฟู่เหมือนสมัยบิทคับ เป็น "ยูนิคอร์นทิพย์" ฟองสบู่อาบไล้ทั่วร่าง แต่ก็เชื่อว่า "ไม่น้อย" เพียงพอให้คนที่อยู่เบื้องหลัง "มันปาก" ในผลประโยชน์ต่างตอบแทนกันได้

ประเด็นสำคัญ รัฐบาลเปลี่ยนเลขาก.ล.ต. คนคุมกฎเข้มงวดเปลี่ยน อะไรๆที่ว่ายากก็น่าจะเป็นใจให้ว่ากันเช่นนั้น

มาย้อนความจำกันสักหน่อยถึง สตอรี่ดีลยักษ์ก่อนนี้ดีไหม ?

เรื่องมีอยู่ว่า เมื่อพฤศจิกายน 2564 ช่วงตลาดคริปโตกำลังเฟื่องเคยปรากฏข่าวฮือฮาสะท้านสะเทือนวงการการเงินและคริปโต เมื่อ "อาทิตย์ นันทวิทยา" ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และประธานกรรมการบริหาร บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) ขณะนั้น ประกาศว่า กลุ่มเอสซีบี เอกซ์ เดินหน้ายุทธศาสตร์ "ยานแม่" ด้วยการประกาศส่ง SCBS บริษัทลูก เข้าเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ใน “บิทคับ ออนไลน์” พร้อมร่วมเป็นพันธมิตรวางรากฐานธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล เพื่อเตรียมพร้อมสู่โลกการเงินอนาคต

จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา
เรียกว่า คอนเฟิร์มข่าวที่แพร่สะพัดในวงการ ที่ต่อมาทำให้เหรียญของบิทคับ หรือ KUB ที่เปิดขายราคา 30 บาท ถูกปั่นขึ้นไปสู่ฟ้าแตะเกือบๆ 600 บาท

"ท็อป" จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา Group CEO ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด ตอนนั้นกำลังเปล่งแสงเป็นคนโด่งดัง มีป้ายโฆษณาตามทางด่วนให้ใครเห็นเด่นชัดทั่วเมืองถึงกับคุยไปสามบ้านแปดบ้านว่า ในการร่วมมือกันครั้งนี้ การที่ “กลุ่มเอสซีบี เอกซ์” เข้ามาซื้อหุ้นทั้งหมด 51% ของบริษัท บิทคับ ออนไลน์ จำกัด คิดเป็นเงินจำนวน 17,850 ล้านบาท จากที่มูลค่าบริษัททั้งหมด 35,000 ล้านบาท จากบริษัท บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด เป็นการประทับตรา “ยูนิคอร์น” อีก 1 ตัว ให้คนไทยทุก ๆ คนได้ภาคภูมิใจ!

แต่ “ท็อปกับอาทิตย์” ลืมไปว่า คนคำนวณไม่สู้ฟ้าลิขิต!

เพราะ ดีลระหว่าง scbs กับบิทคับ ถูกตั้งคำถามมากมาย โดยเฉพาะ มูลค่าของบิทคับที่ "ท็อป" เคลมว่าสูงถึง 35,000 ล้าน และมูลค่าการซื้อขาย 17,850 ล้านนั้น เว่อวังเกินไปมาก

ราคาโอเวอร์ไม่สอดคล้องกับเนื้อใน ซึ่งใครๆ ก็รู้ว่า "ยูนิคอร์นทิพย์ บิทคับ" ข้างนอกสุกใส ข้างในเป็นโพรง ไม่ได้มีอะไรพิเศษแตกต่าง

ได้ดำเนินการพัฒนา ครอบครอง หรือ กุมเทคโนโลยีอะไรที่ก้าวล้ำกว่าตลาดซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลอื่นๆ หรือ มีนวัตกรรมการบริหารจัดการอะไรที่คนอื่นไม่มี ?

ตอนนั้นราคาที่สูงสุดสอยของบิทคับ ที่กลุ่มเอสซีบีเอ็กซ์ ก็เต็มใจจะซื้อเสียด้วย คิดได้อย่างเดียวว่า เป็นราคา "ปั่น"นั่นเอง

เดชะบุญขณะที่ทำดีลกันอยู่ ตลาดคริปโตเกิดเปลี่ยนแปลงผกผันดิ่งเหว พร้อมๆ กับข้อมูลบิทคับถูกขุดคุ้ย

ราคาคุยไม่สู้ราคาจริง ในที่สุด ดีลก็ล่ม! โดยไทยพาณิชย์ ลงมติในการประชุมผู้ถือหุ้นในเดือนสิงหาคมปี 2565 บอกศาลาเลิกธุรกรรมดังกล่าว

ตอนนั้นคนที่ดีใจที่สุดก็น่าจะเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ และพนักงานของ SCB x ที่เซฟเงินในกระเป๋าไปเกือบๆ สองหมื่นล้าน

ถ้าดีลจบตอนนั้น ป่านนี้แบงก์จะเป็นอย่างไร? ไม่มีใครจะกล้าจินตนาการเพราะน่าสะพรึงเหลือเกิน คำว่า "ยับเยิน" ก็ไม่น่าจะเพียงพอ!

อาทิตย์ นันทวิทยา
จากนั้นชื่อของ “บิทคับ และ ท๊อป จิรายุ” ก็หายเข้ากลีบเมฆ แม้ต่อๆมาจะพยายามผลุบๆ โผล่ๆ ตามสื่อต่างๆ ประสาของคน "ขาดแสง" ไม่ได้ก็ไม่ได้เป็น "ไอดอล" ของคนรุ่นใหม่เหมือนสมัยรุ่งๆ

ปีที่แล้วถือเป็นปีที่ย่ำแย่ของบิทคับตามาภาวะเงียบเหงาซบเซาของตลาด จากยูนิคอร์นทิพย์ เหาะเหินเดินอยู่บนฟ้าบิทคับ กลับไปเป็นดินเหมือนเดิม ราคา Kub ต่ำเตี้ยเรี่ยดิน ล่าสุดเพิ่งจะไต่ขึ้นมา 66-67บาท แต่ก็ห่างไกลเทียบไม่ได้กับราคาที่ปั่นไปไว้ ทิ้ง "เอฟซี" ติดให้อยู่บนดอยสูงหาที่ลงไม่ได้

วันนี้พอกระแสคริปโตฯทำท่าว่าจะดี “ท็อป-จิรายุ” ก็กลับมา"ปั่นแสง"ในตัว อย่างที่ชอบๆ อีกครั้ง

ตีเกราะเคาะปี๊บ บอกให้โลกรู้ว่าบิทคับนั่นยังเจ๋งแจ๋ว เดินทางไปร่วมเวที World Economic Forum 2024 กับคณะนายกฯ "เศรษฐา ทวีสิน" และ นักธุรกิจใหญ่ของไทย ก็เห็นว่า ออกข่าวได้กระทบไหล่คนดังในวงการธุรกิจโลกแทบจะทุกคน เห็นใครก็ปรี่เข้าไปถ่ายเซลฟี่ แสงท่วมตัวเลยทีเดียว

แหม..ก็ช่างบังเอิญเป็นช่วงจังหวะมีข่าวหลุด โดนจิ้งจกทัก SCBx ตั้งท่าจะหวนกลับมาเข้าทำดีลอีกหน

งานนี้คนอยู่เบื้องหลังจะทางสะดวกสมหวัง หรือเขมือบไม่ลง ล่มไม่เป็นท่าซ้ำรอยเดิม เพราะ "คนรู้ทัน" มิหนำซ้ำปัจจัยพื้นฐานของบิทคับ ก็ยังเป็นที่สงสัยไม่เปลี่ยนแปลง SCBx ยังจะวอนท์ อีกหรือ?

นี่ก็ต้องติดตามอย่ากระพริบตาว่าความเป็นไปจะเป็นเช่นไร

จุ๊ๆๆๆ...จิ้งจกทักแล้วนะจ๊ะ

**ฟัง 4 เหตุผล ที่“พิธา” ถือหุ้น ไอทีวี ส่อเข้าข่ายลักษณะต้องห้าม-ขาดคุณสมบัติสส.

พิธา ลิ้มเจริญรัตน์
บ่ายวันนี้ (24 ม.ค.) “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” และพลพรรคก้าวไกล ต้องลุ้นระทึก เมื่อศาลรัฐธรรมนูญ นัดพิจารณาวินิจฉัยคดี “พิธา” ถือหุ้นไอทีวี 42,000 หุ้น เป็นการ “ถือหุ้นสื่อ” อันเป็นเหตุให้มีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญและทำให้ต้องพ้นจากตำแหน่งส.ส. ตามรธน.มาตรา 101(6) ประกอบมาตรา 98(3) หรือไม่

ก่อนหน้านี้ ไม่กี่วัน พรรคก้าวไกล ได้เผยแพร่คลิป ความยาว 7.03 นาที ทำนองเปิดหลักฐาน ข้อเท็จจริง พร้อมฟันธงแบบให้กำลังใจ “ด้อมส้ม” ว่า “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” จะรอดพ้นจาก คดีหุ้นสื่อ (ไอทีวี) ได้กลับมาเป็นสส. ได้เข้ามาปฏิบัติหน้าที่ในรัฐสภาอีกครั้ง อย่างแน่นอน

เพราะ... ไอทีวีไม่ใช่สื่อ...ไอทีวีไม่มีคลื่นความถี่...ไอทีวีไม่มีใบอนุญาต...ไอทีวี ไม่มีรายได้จากการทำสื่อ ...“พิธา” ถือหุ้นในฐานะผู้จัดการมรดก และ“พิธา”ถือหุ้นเพียงน้อยนิด ไม่สามารถสั่งการ ครอบงำใดๆได้

ดังนั้น “พิธา”หลุดชัวร์!!

ล่าสุด “สว.สมชาย แสวงการ” นักกฎหมาย ที่ได้เห็น ได้ฟัง คลิปของพรรคก้าวไกล แล้วอดรนทนไม่ได้ ด้วยเห็นว่า การที่พรรคก้าวไกล ออกมาสื่อสารกับสังคมเช่นนั้น อาจทำให้สังคมไขว้เขว หรือทำให้คำวินิจฉัยศาลรธน. เบี่ยงเบน ขาดความน่าเชื่อถือ จึงออกมาโพสต์เฟซบุ๊ก แจกแจงแสดงความเห็นในอีกมุม ว่า หุ้น itv ยังเป็นหุ้นสื่อมวลชน และ“พิธา” น่าจะมีลักษณะต้องห้าม และอาจขาดคุณสมบัติ สส. โดยมีเหตุผล 4 ข้อ ดังนี้

1.บริษัท itv ยังคงเป็นสื่อมวลชน มีสถานะความเป็นบริษัทจดทะเบียน ที่มีมีวัตถุประสงค์จดแจ้งไว้กับกรมพัฒนาธุรกิจการค้าเกี่ยวกับสื่อ รวม 5 ข้อ เช่น รับบริหาร และดำเนินกิจการสถานีวิทยุ โทรทัศน์ โทรทัศน์ระบบบอกรับเป็นสมาชิกและโทรภาพทางสาย (เคเบิลทีวี) เป็นที่ปรึกษา ให้คำแนะนำ บริการประชาสัมพันธ์และจัดรายการทางวิทยุโทรทัศน์ โทรทัศน์ระบบบอกรับเป็นสมาชิก และโทรภาพทางสาย (เคเบิลทีวี) แพร่ภาพโทรทัศน์ ผลิตรายการ ประชาสัมพันธ์ รับจ้างผลิตสื่อ ฯลฯ จนถึงปัจจุบัน itv ยังไม่มีการจดทะเบียนเลิกบริษัท หรือจดยกเลิกวัตถุประสงค์ที่เกี่ยวข้องกับสื่อมวลชนทั้ง 5 ข้อดังกล่าว

จึงเห็นว่า นายพิธา น่าจะขาดคุณสมบัติและมี ลักษณะต้องห้าม เทียบเคียงได้กับ คำวินิจฉัยศาลรธน. กรณี “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” ขาดคุณสมบัติและมีลักษณะต้องห้าม ในคดีการถือหุ้น บริษัท วีลัคมีเดีย ที่อ้างว่าปิดกิจการแล้ว แต่ไม่จดทะเบียนยกเลิกบริษัท ซึ่ง ศาลรธน.เห็นว่า ยังสามารถประกอบกิจการสื่อมวลชนได้ตลอดเวลา ตราบใดที่ไม่ได้จดเลิกบริษัท

เช่นเดียวกับคำพิพากษาศาลฎีกา ในทำนองเดียวกันกับผู้สมัครเลือกตั้ง สส. 4 ราย ที่ไม่ได้จดทะเบียนเลิกประกอบกิจการสื่อ ก็ขาดคุณสมบัติ และมีลักษณะต้องห้ามเช่นกัน

2) บริษัท ITV ชนะคดีเบื้องต้นแล้ว 2 ยก รัฐต้องคืนคลื่นความถี่ และชดใช้ค่าเสียหาย โดย itv ที่ได้ถูกปิดสถานี และยึดคลื่นคืน เพราะไม่ชำระหนี้ค่าสัมปทานแก่รัฐ เมื่อ 17 ปีก่อน ได้ยื่นคำเสนอข้อพิพาทต่อสถาบันอนุญาโตตุลาการ หมายเลขดำ ที่ 29/2545 โดยอ้างว่า รัฐให้สัมปทานกับบุคคลอื่น เป็นเหตุให้บริษัทฯได้รับผลกระทบต่อฐานะการเงินอย่างรุนแรง จึงขอให้สำนักปลัดสำนักนายกฯ ชดเชยความเสียหายตามสัญญาเข้าร่วมงานฯ

คณะอนุญาโตตุลาการชี้ขาดให้ itv ชนะ ได้รับเงินเยียวยา และคืนคลื่นความถี่

สมชาย แสวงการ
สปน. นำคดีสู่ ต่อศาลปกครองกลาง แต่ศาลพิพากษายกคำร้อง สปน. ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาต่อ สถานะปัจจุบัน ศาลปกครองสูงสุด ยังไม่มีคำพิพากษาในคดีนี้

จึงเห็นว่า “พิธา” น่าจะขาดคุณสมบัติ และมีลักษณะต้องห้าม เพราะคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ และศาลปกครองกลาง ให้ itv เป็นผู้ชนะคดี ได้รับการเยียวยา และคืนสัมปทานคลื่นความถี่โทรทัศน์ itv จึงอยู่ในฐานะที่พร้อมประกอบกิจการสถานีโทรทัศน์ได้

3) บริษัท itv ไม่ได้ประกอบกิจการแล้ว แต่ยังมีบริษัทลูกประกอบกิจการสื่อ และมีรายรับจาก บริษัทอาร์ตแวร์ มีเดีย ที่ itv เป็นผู้ถือหุ้น 99% โดยมีผลประกอบกิจการจดทะเบียนทำสื่อโฆษณา รายการ ให้เช่าเครื่องมือ ลิขสิทธิ์ แลอื่นๆ ฯลฯ ที่ถือได้ว่าเป็นธุรกิจสื่อมวลชน

จึงเห็นว่า “พิธา” น่าจะขาดคุณสมบัติ และมีลักษณะต้องห้าม เทียบเคียงได้กับ คำวินิจฉัยศาลรธน. ที่ให้ นายธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ อดีต สส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ และพรรคก้าวไกล พ้นจากสส. ด้วยเหตุถือหุ้นสื่อสารมวลชน บริษัท เฮด อัพ โปรดักชั่น จำกัด และบริษัท แอมฟายน์ โปรดักชั่น จำกัด

4) พิธา ถือหุ้น itv เพียงแค่เล็กน้อย ทำไมจึงผิด... ศาลรธน.เคยมีคำวิจฉัย ที่12-14/2553 ในคดีถือหุ้นสื่อและหุ้นสัมปทานรัฐ ที่วินิจฉัยให้ รมต.- สส.- สว. พ้นจากสมาชิกภาพ และเคยวินิจฉัยไว้ว่า หุ้นสื่อ และหุ้นสัมปทาน เป็นลักษณะต้องห้าม แม้ถือหุ้นเพียง 1หุ้น ก็ขาดคุณสมบัติ

การที่ “พิธา” อ้างว่า ถือหุ้น itv เพียง 42,000 หุ้น จาก 1,206,697,400 หุ้น คิดเป็น 0.0035 เปอร์เซ็นต์ ไม่มีอํานาจ สั่งการบริษัท ข้อโต้แย้งนี้จึงฟังไม่ขึ้น และไม่อาจหักล้างคำวินิจฉัยศาลรธน. ที่เคยวางแนวไว้เดิม

จาก 4 ข้อดังกล่าว “สว.สมชาย”เห็นว่า “พิธา” รอดยาก!!

อย่างไรก็ตาม บรรดานักกฎหมายที่อยู่ในแวดวงศาลรธน. มองว่า ประเด็นที่เป็นสำคัญ ที่ศาลรธน. จะวินิจฉัย คือบริษัท ไอทีวี ยังคงความเป็นสื่อมวลชนอยู่อีกหรือไม่
และเห็นช่องว่า “พิธา”อาจรอดได้

เพราะก่อนหน้านี้ “คิมห์ สิริทวีชัย” ประธานกรรมการ ประชุมผู้ถือหุ้น บ.ไอทีวี ก็ยืนยันต่อศาล ว่า บ.ไอทีวี ไม่มีพนักงาน ไม่มีรายได้จากการทำสื่อ และไม่มีแผนที่จะทำสื่อต่อ ศาลปกครองสูงสุดเคยวินิจฉัยว่า ไม่ปรากฏหลักฐานว่า บ.ไอทีวี ทำสื่อวิทยุโทรทัศน์แล้ว อีกทั้ง ไอทีวี ไม่มีใบอนุญาตประกอบกิจการภาพยนตร์ วีดิทัศน์ และสื่อโฆษณา ที่จะถือว่าเข้าข่ายประกอบกิจการ รวมทั้ง “พิธา” ได้แจ้งการยื่นบัญชีทรัพย์สิน เมื่อครั้งเป็นส.ส.ปี 2562 ต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ว่าถือหุ้นดังกล่าว ในฐานะผู้จัดการมรดกแทนบิดาที่เสียชีวิต และแสดงเจตนาสละหุ้นดังกล่าว

ดังนั้น มีความเป็นไปได้ที่ศาลรธน. จะวินิจฉัยว่าไอทีวี ไม่มีสภาพของความเป็นสื่อแล้ว

“ไอทีวี”เป็นสื่อหรือไม่ “พิธา” ไม่มีลักษณะต้องห้ามของการดำรงตำแหน่งส.ส. และ ไม่สิ้นสมาชิกภาพความเป็นส.ส.หรือไม่ มีคำตอบสุดท้าย บ่ายวันนี้ (24ม.ค.) ที่ศาลรัฐธรรมนูญ


กำลังโหลดความคิดเห็น