เมืองไทย 360 องศา
กรณีจัดซื้อเรือดำน้ำของกองทัพเรือก็ต้องเดินมาถึงจุดสำคัญอีกครั้ง หลังจากสะดุดหยุดลงด้วยเหตุผลหลายอย่าง ต่อเนื่องมาจากวิกฤตโควิด เรื่องข้อจำกัดด้านงบประมาณ เสียงคัดค้าน เสียงวิจารณ์จนเกิดดรามากันอย่างต่อเนื่อง จนตอนแรกหลายคนนึกว่า เมื่อพรรคเพื่อไทยมาเป็นรัฐบาล คงจะต้อง “จมเรือดำน้ำ” ของกองทัพเรือค่อนข้างแน่ เพราะก่อนหน้านั้น เมื่อพวกเขายังเป็นฝ่ายค้านได้อภิปรายคัดค้านโครงการดังกล่าวอย่างหนักหน่วง
แม้กระทั่งในตอนแรกที่ นายสุทิน คลังแสง มารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมใหม่ๆ ก็ยังมีท่าทีไม่เอาเรือดำน้ำ แต่หันเหหัวเรือไปสนใจการจัดซื้อเรือฟริเกตแทน แต่กลายเป็นว่าเมื่อเวลาผ่านไป ท่าทีของเขาก็เปลี่ยนแปลงไปอย่างเห็นได้ชัด ไม่พูดถึงเรื่องการซื้อเรือฟริเกต แต่จะพูดเน้นย้ำว่า จะยึดหลัก 3 อย่าง คือ ความต้องการของกองทัพเรือ ผลประโยชน์ของประเทศต้องไม่เสียหาย และ ถ้าไม่จำเป็นไม่อยากให้กระทบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ซึ่งหากพิจารณาตามหลักการดังกล่าวมันก็ย่อมชัดเจนในตัวอยู่แล้วว่า “ต้องเดินหน้าต่อไป”
แม้ว่าที่ผ่านมาจะพยายาม “ดึงเกมช้า” เพื่อให้ลดกระแสความร้อนแรงลงไปก่อน รวมไปถึงการสร้างความรัดกุมให้กับตัวเองด้วยการขอความเห็นจากอัยการสูงสุด มีการสอบถามประเด็นทางกฎหมายที่สงสัย และล่าสุดทางอัยการสูงสุดก็มีหนังสือตอบกลับมาแล้ว
ก่อนหน้านั้น นายสุทิน คลังแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ให้สัมภาษณ์ภายหลังประชุมสภากลาโหม กรณีความคืบหน้าของด้วยเรือดำน้ำหลังอัยการสูงสุดส่งคำตอบมาให้กองทัพเรือว่า อ่านแล้ว เพิ่งได้รับมาก็ต้องหารือในเร็วๆนี้ จะเชิญผู้เกี่ยวข้องโดยเฉพาะกองทัพเรือมาหารือกับฝ่ายนโยบาย และฝ่ายกฎหมาย จะคุยกันว่าจะหาข้อสรุปอย่างไร เท่าที่อ่านดูสุดท้ายก็ต้องจบที่ ครม.
ส่วนที่กองทัพเรือส่งหนังสือสอบถามเรื่องข้อกฎหมายหลายกระทรวงนั้น นายสุทิน กล่าวว่า เท่าที่ทราบมีอัยการสูงสุดเป็นหลัก เรื่องอื่นไม่ทราบอาจจะเป็นการถามความเห็นอย่างไม่เป็นทางการ ซึ่งขณะ ผบ.ทร.ไปราชการต่างประเทศ และทราบว่าเมื่อเดินทางกลับมาวันที่ 16 มกราคม ก็จะรีบหารือกันก็อยากให้จบให้เร็วที่สุด แต่หากจบเร็วแล้วเสียหาย ก็จำเป็นต้องใช้เวลา
ส่วนจุดยืนของรัฐบาลและส่วนตัว จะเปลี่ยนเป็นเรือฟริเกต หรือ เดินหน้าต่อเรือดำน้ำติดเครื่องยนต์จีน นายสุทิน ย้ำว่า ยังไปไม่ถึงตรงนั้น แต่ยึด 3 หลัก 1. ความต้องการของกองทัพเรือ 2. ผลประโยชน์ของประเทศต้องไม่เสียหาย 3. ถ้าไม่จำเป็นไม่อยากให้กระทบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ หากยึด 3 หลักนี้ก็จะออกมาเป็นแนวทาง
มีรายงานข่าวว่า หลังสำนักงานอัยการสูงสุด ตอบคำถามกองทัพเรือ 3 ข้อ เกี่ยวกับโครงการเรือดำน้ำที่จัดหาจากจีน และเกิดปัญหาเรื่องเครื่องยนต์ ประกอบด้วย 1. การปรับแก้เครื่องยนต์เป็นสาระสำคัญหรือไม่ 2. การจะเปลี่ยนเรือดำน้ำมีขั้นตอนอย่างไร 3. การอนุมัติให้แก้ไขเครื่องยนต์อำนาจอยู่ที่ใคร และกองทัพเรือ ได้ส่งรายงานให้นายสุทิน คลังแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมแล้ว
ขณะเดียวกันล่าสุด นายสุทิน เตรียมลงนามคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษาแนวทาง และ หาทางออกแก้ไขปัญหา การจัดซื้อเรือดำน้ำจากจีน โดยมีพลเอก สมศักดิ์ รุ่งสิตา ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธาน และคณะทำงาน ชุดนี้ จะมีสัดส่วน ของทหาร และพลเรือนใกล้เคียงกัน เช่น ตัวแทนอัยการสูงสุด นักวิชาการ ผู้แทนกองทัพเรือ นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ผู้อภิปรายเกี่ยวกับการจัดซื้อเรือดำน้ำมาตลอดสมัยรัฐบาลที่ผ่านมา และ นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร นายรังสิมันต์ โรม สส. บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ซึ่งสองคนหลังยังเป็นปะธานคณะกรรมาธิการ การทหาร สภาผู้แทนราษฎร และ ประธานคณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติ และการปฏิรูปประเทศ สภาผู้แทนราษฎร เป็นต้น
โดยคณะทำงานชุดนี้ มีกรอบระยะเวลาดำเนินการ 30 วัน โดยจะนำคำตอบของอัยการสูงสุดมาร่วมกันหาทางออก และ สามารถที่จะเรียกดูเอกสารหลักฐาน ที่เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อเรือดำน้ำได้ตามต้องการ
ปัญหาโครงการจัดซื้อเรือดำน้ำจากประเทศจีนของกองทัพเรือที่หยุดชะงักมานาน นอกเหนือจากเสียงคัดค้านจากฝ่ายการเมืองบางกลุ่ม บางพรรคแล้ว ยังมีปัญหาในเรื่องของเครื่องยนต์ ที่ก่อนหน้านั้นในสัญญาระบุว่าจะใช้เครื่องยนต์จากเยอรมนี แต่ด้วยปัญหาระหว่างประเทศระหว่างจีนกับตะวันตกทำให้ทางเยอรมันไม่ยอมขายเครื่องยนต์ให้กับจีน
แม้ว่าเนื้อหาในสัญญาจะเป็นเรื่องลับ เกี่ยวกับความมั่นคงของชาติ แต่เท่าที่ทราบคร่าวๆก็ประมาณว่า ทางการจีนได้พยายามต่อรองขอให้เปลี่ยนมาใช้เครื่องยนต์ที่ผลิตในจีนและใช้สเปกเดียวกับที่ใช้ในเรือดำน้ำรุ่นใหม่ที่ทางกองทัพเรือจีนใช้อยู่ ซึ่งมีรายงานว่าที่ผ่านมาทางกองทัพเรือไทยได้ส่งคณะเจ้าหน้าที่ไปทดสอบประสิทธิภาพจนเป็นที่พอใจและยอมรับ แต่ถึงอย่างไรก็ต้องรอการตัดสินใจชี้ขาดอีกครั้งจากรัฐบาล
สำหรับโครงการจัดซื้อเรือดำน้ำเป็นโครงการของกระทรวงกลาโหม โดยกองทัพเรือ เริ่มมาตั้งแต่ปี 2559 ภายใต้รัฐบาล คสช.ซึ่งคณะรัฐมนตรีในยุคนั้นได้อนุมัติกรองวงเงิน 36,000 ล้านบาท ให้จัดซื้อเรือดำน้ำ “ชั้นหยวน” ระหัส S26T จำนวน 2 ลำแถม 1 ลำ จากประเทศจีน ต่อมาภายใต้กรอบวงเงินดังกล่าวคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติให้จัดสร้างเรือดำน้ำลำแรก เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2560 โดยทำข้อตกลงแบบรัฐต่อรัฐหรือจีทูจี ด้วยวงเงินงบประมาณ 13,500 ล้านบาท โดยแบ่งชำระ 17 งวด 7 ปี โดยอ้างความจำเป็นด้านความมั่นคงทางทะเล เป็นหลักประกันความปลอดภัยของประเทศ แต่ก็ต้องสะดุดลงจากปัญหาเรื่องเครื่องยนต์ที่ตามที่ระบุว่าต้องใช้ของเยอรมันดังกล่าว รวมไปถึงปัญหาวิกฤติโควิดที่ผ่านมา
อย่างไรก็ดีเมื่อพิจารณากันถึงท่าทีล่าสุดของฝ่ายรัฐบาลพรรคเพื่อไทย โดยเฉพาะเมื่ออ่านจากท่าทางของ นายสุทิน คลังแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่อ้างหลัก 3 อย่าง คือความต้องการของกองทัพเรือ ประเทศไม่เสียประโยชน์ ไม่เสียความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ(กับจีน) มันก็ย่อมชัดเจนอยู่แล้วว่าต้อง “เดินหน้า” เพียงแต่ว่าต้องหาหลังพิงเอาไว้ให้รัดกุม โดยเฉพาะจากการตั้งคณะกรรมการเพื่อพิจารณาหาทางออก และแก้ปัญหาดังกล่าว จากหลายฝ่ายโดยมีฝ่ายที่เคยค้าน อภิปรายวิจารณ์อย่างรุนแรง ซึ่งตัวเขาก็เคยอยู่ในคนกลุ่มนั้นด้วย ก็เพื่อ “เคลียร์” ข้อครหา อีกทั้งที่ผ่านมา นายสุทิน ในฐานะรัฐมนตรีกลาโหม ที่ดูเหมือนว่าหลังจากที่ดำรงตำแหน่งนี้เขาก็เหมือนกับว่ารู้สึกเห็นใจและเข้าใจกองทัพมากขึ้น จนแทบจะเป็นเนื้อเดียวกันไปแล้ว จนน่าจับตามองเป็นอย่างยิ่ง
ดังนั้นเมื่อพิจารณาจากท่าทีและความเคลื่อนไหวล่าสุดมันก็พอมองออกได้ไม่ยากว่า โครงการจัดซื้อเรือดำน้ำของกองทัพเรือ คงต้องเดินหน้าต่อ เพียงแต่ว่าอาจมีลีลาทำให้ “ดูเนียนตา” เพื่อให้ได้รับการยอมรับมากขึ้น อีกทั้งการดึงทุกฝ่ายมาร่วมกันหาทางออก มองอีกด้านหนึ่งมันก็เหมือนกับการรับประกันโดยนัยอยู่แล้ว !!