เมืองไทย 360 องศา
แม้ว่าในญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปรัฐบาลของ สว.แบบไม่ลงมติ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 153 คงไม่อาจล้มรัฐบาลแบบทางตรงได้ แต่เชื่อว่าคงสร้างแรงสั่นสะเทือนได้ไม่น้อย เพราะเชื่อว่าคราวนี้ สว.จะมีการพุ่งเป้าไปที่ “จุดอ่อน” ของรัฐบาล ในเรื่องสำคัญหลายเรื่อง ทั้งเรื่องโครงการ “ดิจิทัล วอลเล็ต” ในแบบที่ว่า “กู้มาแจก” และที่สำคัญงานนี้จะต้องพุ่งเป้าถล่มกรณีนายทักษิณ ชินวัตร ที่กำลังถูกระบุว่าทำตัวเป็น “เทวดา” เหนือกว่าชาวบ้านทั่วไป โดยต้องไม่ลืมว่า งานนี้เป็นงานทิ้งทวนก่อนหมดวาระในเดือนพฤษภาคม ปีนี้
ทั้งนี้ การอภิปรายทั่วไปดังกล่าว สว.ต้องร่วมลงชื่อกันให้ได้ 84 เสียง โดยอาจจะต้องเผื่อเหลือเผื่อขาดเอาไว้ น่าจะให้ได้จำนวน 90 คน ซึ่งโต้โผใหญ่ครั้งนี้ก็มี นายเสรี สุวรรณภานนท์ นายกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ เป็นต้น
โดยนายกิตติศักดิ์ กล่าวถึงความคืบหน้าการล่ารายชื่อขอเปิดการอภิปรายทั่วไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 153 ของ สว. ว่า เช้านี้ได้รับรายงานว่าเสียง 84 เสียง น่าจะถึงและอาจจะเกินเล็กน้อยไปถึง 90 เสียง ซึ่งจะทำให้เปิดอภิปรายได้ โดยคาดว่า จะสามารถเสนอถึงประธานวุฒิสภาได้ในสัปดาห์หน้า เพื่อส่งต่อไปยังคณะรัฐมนตรี (ครม.) จากนั้นเป็นเรื่องของรัฐบาลว่า หากได้รับเอกสารแล้วจะเปิดการอภิปรายได้เมื่อไหร่
ส่วนกระแสข่าวมีขบวนการล็อบบี้ไม่ให้เปิดอภิปรายได้นั้น นายกิตติศักดิ์ กล่าวว่า อย่าเรียกเป็นการล็อบบี้ หรือการสกัด เพราะ สว.250 คน มีเอกสิทธิ์ในการที่จะโหวตอย่างไรก็ได้ การจะร่วมลงชื่อหรือไม่ลงถือเป็นเอกสิทธิ์ของสว. แต่ละคน
เมื่อถามถึงการโน้นน้าวไม่ให้ สว. ร่วมลงชื่อ โดยอ้างเรื่องว่า รัฐบาลเพิ่งเข้ามาบริหารประเทศและมีความกังวลในเรื่องของชั้น 14 ที่นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เข้าพักรักษาตัวนั้น นายกิตติศักดิ์ กล่าวว่า จากการได้ฟังหลายฝ่าย บอกได้เลยว่า อนาคตจะเป็นสิ่งมหัศจรรย์ของโลก เพราะเป็นเรื่องที่สลับซับซ้อนมากมาย ว่างๆ ถ้ามีเวลาจะเล่าให้ฟัง สำหรับเรื่องที่ฝ่ายที่ต้องการไม่ให้อภิปราย เพราะกังวลเรื่องของนายทักษิณ จะกระทบต่อเรื่องกระบวนการยุติธรรมเป็นหลัก ซึ่งจะเป็นการจารึกไว้ว่ามันเป็นเรื่องประหลาดไม่ใช่เฉพาะแต่ประเทศไทย “ผมถึงบอกว่าไม่เกินที่จะเป็นสิ่งมหัศจรรย์ของโลก”
เมื่อถามย้ำว่า สว. ส่วนใหญ่ มองว่าเรื่องชั้น14 เป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องกับกระบวนการยุติธรรม นายกิตติศักดิ์ กล่าวว่า ก็แล้วแต่คนที่มีข้อมูลและมีหลักฐานที่จะมาอภิปรายให้ประชาชนรับฟัง ซึ่งเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะมาตอบ ทั้งเรื่องของเงินดิจิทัล เรื่องนายทักษิณ และเรื่องเศรษฐกิจ เพราะ สว.หลายคนทำการบ้าน และหาข้อมูลเรื่องนี้ที่จะอภิปราย และเรื่องของนายทักษิณ ไม่พ้นที่จะถูกนำมาอภิปรายอยู่แล้ว
ส่วนมีข้อมูลอะไรแตกต่างจากที่หลายฝ่ายตรวจสอบอยู่แล้วขณะนี้นั้น นายกิตติศักดิ์ กล่าวว่า ขึ้นอยู่กับ สว. ที่ศึกษาและเก็บข้อมูล ซึ่งมีไว้มากพอสมควร ถ้าบอกไปก่อนเดี๋ยวมันจะจืด ส่วนเป็นข้อมูลใหม่หรือไม่ขอให้ไปสอบถามคนที่จะอภิปราย ซึ่งไม่สามารถเปิดเผยได้ว่าใครจะเป็นผู้อภิปรายถือเป็นความลับ
ก่อนหน้านั้น นายเสรี สุวรรณภานนท์ ที่ถือว่าเป็นหนึ่งใน ส.ว.ที่เคลื่อนไหวให้เปิดอภิปรายรัฐบาลเป็นการทั่วไป โดยไม่ลงมติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 153 ก็เคยบอกว่า มีความพยายามล็อบบี้สกัดกั้นไม่ให้มีการอภิปรายเกิดขึ้น
“บางคนก็พูดกันตรงๆว่า มีคนขอกันบ้าง มีพวกกันบ้าง ซึ่งเราพยายามอธิบาย ว่าเป็นเรื่องของหน้าที่สมาชิกวุฒิสภา จึงเป็นความยากลำบากอยู่ระดับหนึ่ง ว่าจาก สว. 250 คน ต้องใช้ 84 เสียง จริงๆ ถ้าไม่มีใครมาล็อบบี้ปล่อยตามธรรมชาติก็ครบไปนานแล้ว” นายเสรีระบุ
เขาย้ำว่า สิ่งที่เราทำไม่ใช่การจะไปล้มรัฐบาล แต่เป็นเรื่องที่ สว. เสนอญัตติ เพื่อให้รัฐบาลมาชี้แจงหาทางออกของประเทศใน 7 ประเด็น ที่จะเป็นประโยชน์ต่อการบริหารราชการแผ่นดิน ดังนั้น ไม่ว่าใครก็ตามที่มีแนวคิดจะไม่ให้มีผู้สนับสนุนญัตติครบ ตนว่าคิดผิด หากรัฐบาลตอบได้ สามารถที่จะดำเนินการตามที่เสนอญัตติไป ก็เป็นเครดิตของรัฐบาล อย่าไปปิดกั้น ควรจะให้ สว.ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ที่รธน. ได้บัญญัติไว้ เราตั้งใจจะทำให้ดีที่สุด ถือเป็นผลงานสุดท้ายที่เราพยายามทำเพื่อประชาชน แม้ว่าเราจะไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง แต่ความรับผิดชอบในอำนาจหน้าที่เป็นสิ่งที่วุฒิสภาควรจะต้องทำ
ส่วนเรื่องที่มีความพยายามไม่ให้ สว. แตะเรื่องคนชั้น 14 หรือไม่ นายเสรี ระบุว่า มีหลายเรื่อง ในส่วนกระบวนการยุติธรรมก็ส่วนหนึ่ง ส่วนเรื่องของเศรษฐกิจการแจกเงินดิจิทัล ก็ส่วนหนึ่ง ส่วนการแก้รัฐธรรมนูญก็ส่วนหนึ่ง เพราะฉะนั้น ตนมองว่าการนำมาพูดกันในสภาฯ ก็เป็นเรื่องที่ดีที่เป็นทางการ ซึ่งเป็นส่วนของอำนาจหน้าที่ที่เราต้องทำ
หากพิจารณาจากแบ็กกราวด์ของทั้งคู่ ก็ต้องบอกว่าอยู่ในระดับที่เรียกว่า “ตัวจี๊ด” เพราะที่ผ่านมาเคยปะทะกันมาในสภากับพรรคเพื่อไทยเมื่อครั้งที่เป็นฝ่ายค้านในรัฐบาลที่ผ่านมา แม้ว่าต่อมาเมื่อการเมือง “ย้ายข้าง” จำต้องยกมือหนุน นายเศรษฐา ทวีสิน จากพรรคเพื่อไทยก็ตาม แต่พวกเขาบอกว่า “มันคนละสถานการณ์” และต่างคนต่างทำหน้าที่
เมื่อมองตามรูปการณ์ก็พอเดาทางออกว่า เป้าหมายการ “ซักฟอก” รัฐบาลในครั้งนี้จะมี “สองเรื่องหลัก” คือ “เงินดิจิทัล” กับ “เทวดา ชั้น14” กรณี นายทักษิณ ชินวัตร นั่นแหละ แน่นอนว่าแค่จั่วหัวเรื่องมาแค่นี้รับรองว่า “มันแน่นอน” เพราะต้องไม่ลืมว่าบรรดา ส.ว.ชุดนี้ผ่านงานสภามาอย่างยาวนาน บางคนอยู่มาตั้งแต่สมัยเป็นสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) จนมาถึงเป็นสมาชิกวุฒิสภาในปัจจุบัน เรียกว่าผ่านประสบการณ์มานานเกือบสิบปี ย่อมไม่ธรรมดาอยู่แล้ว หลายคนก็ถือว่าเป็น “ดาวอภิปราย” มีข้อมูลอยู่ในมือแน่นปึ้ก เพียงแต่ว่าจะปล่อยออกมามากน้อยแค่ไหน
แม้ว่าการอภิปรายคงไม่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลได้โดยตรง เพราะไม่มีการลงมติ แต่หากมีข้อมูล มีลีลาโวหารใช้ได้ มันก็ย่อมสร้างแรงสั่นสะเทือนได้พอสมควรเหมือนกัน โดยเฉพาะเมื่อแตะไปที่จุดอ่อน สร้างอารมณ์ให้กับสังคมกรณีของ “นักโทษเทวดา” อย่าง นายทักษิณ ชินวัตร ที่ทั้งรัฐบาลตั้งแต่ นายกรัฐมนตรีลงมาพยายามบ่ายเบี่ยงมาตลอด ไม่จำเป็นไม่พูดถึงเด็ดขาด
ขณะเดียวก็ให้จับตาการล็อบบี้ขัดขวางไม่ให้ ส.ว.ได้อภิปราย โดยการล็อบบี้ให้มีการถอนชื่อออกมา ทำให้มีเสียงไม่ครบ 1 ใน 3 หรือไม่น้อยกว่า 84 คน แต่เชื่อว่าไม่ใช่งานง่ายเหมือนกัน เพราะ ส.ว.หลายคนต้องการฝากชื่อไว้ลายเป็นการทิ้งทวนก่อนหมดวาระไปในเดือนพฤษภาคม ซึ่งอาจเป็นการอภิปรายแบบน้เป็นครั้งสุดท้าย ดังนั้นเชื่อว่าต้อง “จัดเต็ม” แน่นอน
นอกจากนี้ยังมีกรณี “เงินดิจิทัล” ที่ต้องตกเป็นเป้าหมายหลักเหมือนกัน เพราะทั้งสองเรื่องถือว่าเป็น “เรื่องอ่อนไหว” สำหรับรัฐบาล และพรรคเพื่อไทย ขณะเดียวกันก็กลายเป็น “จุดอ่อน” ทั้งสองเรื่อง
ดังนั้นเชื่อว่าหากมีการ “ซักฟอก” เกิดขึ้นจริง เชื่อว่าจะได้รับความสนใจจากสังคมไม่น้อย เพราะทั้งสองเรื่องล้วนถูกจับจ้องจากคนส่วนใหญ่ ขณะเดียวกันหากมีข้อมูลดี อภิปรายแน่นก็น่าจะทำให้มีแรงกระแทกเข้าใส่รัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน แรงๆ เป็นครั้งแรก แต่ขณะเดียวกันก็ต้องจับตาการล็อบบี้ ขัดขวางไม่ให้แตะไปถึง “เทวดา” เสียก่อน !!