xs
xsm
sm
md
lg

ครม.ผ่านร่างปฏิญญาร่วมว่าด้วยความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ระหว่างไทย-เยอรมนี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รองโฆษกรัฐบาล เผย ครม.เห็นชอบร่างปฏิญญาร่วมว่าด้วยความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ระหว่างไทยกับเยอรมนี พร้อมลงนามช่วงการเยือนประเทศไทยของประธานาธิบดีเยอรมนี ระหว่างวันที่ 24-26 มกราคม 2567

วันนี้ (16 ม.ค.) นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี มีมติเห็นชอบร่างปฏิญญาร่วมแสดงเจตจำนงระหว่างกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งราชอาณาจักรไทยกับกระทรวงการศึกษาและวิจัยแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีว่าด้วยความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ตามที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เพื่อยกระดับความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมระหว่างกันให้มีทิศทางและความสอดคล้องกับประโยชน์ของทั้งสองฝ่าย โดยจะมีการลงนามปฏิญญาร่วมฯ ในช่วงการเยือนประเทศไทยของประธานาธิบดีเยอรมนี ระหว่างวันที่ 24-26 มกราคม 2567

ร่างปฏิญญาร่วมฯ มีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้

(1) เพื่อเป็นการแสดงเจตจำนงร่วมกันในการส่งเสริมความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมในฐานะกลไกสำคัญสำหรับการพัฒนาด้านสังคมและเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศ และเป็นกรอบการดำเนินความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมระหว่างกันบนพื้นฐานของความเท่าเทียมกัน เสรีภาพทางวิชาการและผลประโยชน์ร่วมกัน

(2) ไม่จำกัดสาขาความร่วมมือ โดยหัวข้อในแต่ละสาขาความร่วมมือจะเป็นไปตามความสนใจร่วมกันของทั้งสองฝ่าย ซึ่งจะกำหนดผ่านการประชุมและข้อตกลงในภายหลัง

(3) ครอบคลุมใน 10 กิจกรรม ได้แก่ 1) การประกาศรับข้อเสนอร่วมกันสำหรับโครงการด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมทั้งในระดับทวิภาคีและพหุภาคี 2) การส่งคณะผู้เชี่ยวชาญ นักวิทยาศาสตร์ และนักวิจัย หรือผู้เชี่ยวชาญอื่นๆ โดยฝ่ายเดียวหรือทั้งสองฝ่าย 3) การจัดประชุม สัมมนา ประชุมเชิงปฏิบัติการ ประชุมวิชาการและนิทรรศการร่วมด้านวิทยาศาสตร์ 4) การส่งเสริมให้นักวิจัยจากสถาบันวิจัยในสองประเทศดำเนินความร่วมมือในโครงการวิจัยร่วม 5) การแลกเปลี่ยนข้อมูล วัสดุ และเอกสารด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 6) การส่งเสริมให้นักศึกษาและสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาใช้ประโยชน์จากโครงการแลกเปลี่ยนและความร่วมมือที่มีอยู่ รวมถึงใช้ประโยชน์จากโครงการแลกเปลี่ยนที่มีอยู่ของมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยเพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนของนักศึกษาระหว่างไทยและเยอรมนีอย่างต่อเนื่อง 7) การสร้างเครือข่ายระหว่างสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาในไทยและเยอรมนี 8) การกำหนดรูปแบบอื่นๆ ของความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีร่วมกัน 9) การแลกเปลี่ยนข้อมูลกิจกรรม นโยบาย วิธีปฏิบัติ กฎหมายและข้อบังคับเกี่ยวกับการวิจัยและพัฒนา และ 10) การสนับสนุนกิจกรรมขององค์การแลกเปลี่ยนวิชาการเยอรมัน1 (Deutscher Akademischer Austauschdienst: DAAD) ซึ่งตั้งอยู่ในกรุงเทพฯ ในฐานะสถาบันทางวิทยาศาสตร์ตามความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางวัฒนธรรม ค.ศ. 1983 ระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลเยอรมนี

(4) ทั้งสองฝ่ายจะถ่ายทอดการสนับสนุนและการสร้างมาตรการในแต่ละสาขาความร่วมมือแก่ภาคีที่สาม เช่น หน่วยงานที่บริหารโครงการ องค์กรทางวิทยาศาสตร์หรือองค์กรสนับสนุนงบประมาณ ทั้งนี้ สามารถจัดทำร่างความตกลงว่าด้วยการดำเนินโครงการ โดยกำหนดสาขาความร่วมมือ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ขั้นตอนที่ต้องปฏิบัติตาม รวมถึงข้อตกลงด้านงบประมาณ และเรื่องอื่น ๆ ที่เหมาะสมโดยการสนับสนุนงบประมาณของกิจกรรมตามปฏิญญาร่วมฯ อาจจะสร้างเป็นข้อตกลงแยกต่างหากหรือการประกาศทุนสนับสนุน ทั้งนี้ ทั้งสองฝ่ายจะแก้ไขข้อขัดแย้งใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการตามปฏิญญาร่วมฯ ฉบับนี้โดยการปรึกษาหารือกันฉันมิตร

(5) แก้ไขเมื่อใดก็ได้โดยความยินยอมร่วมกันเป็นลายลักษณ์อักษรของทั้งสองฝ่าย

(6) มีผลใช้บังคับในวันที่ลงนาม


กำลังโหลดความคิดเห็น