xs
xsm
sm
md
lg

ครม.ทราบข้อเสนอส่งเสริมคุ้มครองสิทธิมนุษยชน กรณีถอนข้อสงวนข้อ 22 ของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รองโฆษกรัฐบาล เผย ครม.รับทราบข้อเสนอแนะในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน กรณีการถอนข้อสงวนข้อ 22 ของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก เพื่อสะท้อนเจตนารมณ์คุ้มครองเด็กผู้ลี้ภัย

วันนี้ (9 ม.ค.) นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบข้อเสนอแนะในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน กรณีการถอนข้อสงวนข้อ 22 ของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ตามที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เสนอ โดยมอบหมายให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เป็นหน่วยงานหลักในการพิจารณาร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงมหาดไทย สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อศึกษาแนวทางและความเหมาะสมของข้อเสนอแนะดังกล่าว โดยให้กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์สรุปผลการพิจารณา หรือผลการดำเนินการในภาพรวม ส่งให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป

นายคารม กล่าวว่า กสม.ได้ติดตามความก้าวหน้าเกี่ยวกับการถอนข้อสงวนข้อ 22 เกี่ยวกับเรื่องสถานะของเด็ก ผู้ลี้ภัย และเด็กผู้แสวงหาที่พักพิงของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กเพื่อส่งเสริมการดำเนินการของประเทศไทยให้สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชน โดยประเทศไทยได้เป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กโดยการภาคยานุวัติเมื่อปี พ.ศ. 2535 และได้ตั้งข้อสงวนไว้ 3 ข้อ เพื่อยกเว้นการดำเนินการตามบทบัญญัติของอนุสัญญาในข้อนั้น ได้แก่ 1) ข้อ 7 ว่าด้วยสถานะบุคคล 2) ข้อ 22 ว่าด้วยสถานะของเด็กผู้ลี้ภัยและเด็กผู้แสวงหาที่พักพิง และ 3) ข้อ 29 ว่าด้วยการจัดการศึกษา ต่อมาประเทศไทยได้ถอนข้อสงวนข้อ 29 เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2540 และข้อ 7 เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2553 ปัจจุบันคงเหลือเพียงข้อสงวนข้อ 22 และถือเป็นรัฐภาคีประเทศสุดท้ายที่ยังคงข้อสงวนข้อนี้

“การที่ประเทศไทยยังคงข้อสงวนข้อ 22 ของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กไว้ จะทำให้ถูกมองว่าประเทศไทยไม่มีนโยบายดูแลเด็กผู้ลี้ภัยหรือเด็กที่อยู่ในสถานการณ์เฉกเช่นเดียวกับผู้ลี้ภัยที่อยู่ในเขตอำนาจของไทย ทำให้เด็กกลุ่มดังกล่าวไม่ได้รับการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานเช่นเด็กกลุ่มอื่นในประเทศ อันไม่สอดคล้องกับหลักการไม่เลือกปฏิบัติ ประเทศไทยควรถอนข้อสงวนข้อ 22 ของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กโดยเร็ว เพื่อสะท้อนเจตนารมณ์และยืนยันความมุ่งมั่นของประเทศไทยที่จะคุ้มครองเด็กผู้ลี้ภัยและเด็กผู้แสวงหาที่พักพิงตามพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชนที่มีอยู่ โดยเฉพาะหลักการไม่เลือกปฏิบัติและการคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของเด็กตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก รวมถึงหลักการไม่ผลักดันบุคคลกลับไปสู่อันตราย” นายคารม ย้ำ


กำลังโหลดความคิดเห็น