รองโฆษกรัฐบาล เผย ครม.เห็นชอบแผนปรับปรุงและขยายระบบจำหน่ายพลังไฟฟ้า ฉบับที่ 12 ปี 2560-2564 (ฉบับปรับปรุง) และโครงการปรับปรุงและขยายระบบจำหน่ายพลังไฟฟ้า ระยะที่ 13 ส่วนที่ 1 ของการไฟฟ้านครหลวง
วันนี้ (9 ม.ค.) นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ดำเนินการตามแผนปรับปรุงและขยายระบบจำหน่ายพลังไฟฟ้า ฉบับที่ 12 ปี 2560-2564 (แผนฯ ฉบับที่ 12) (ฉบับปรับปรุง) วงเงินลงทุนรวม 73,086.90 ล้านบาท ประกอบด้วย เงินกู้ในประเทศ จำนวน 46,800 ล้านบาท เงินรายได้ของ กฟน. จำนวน 26,206.20 ล้านบาท และเงินอุดหนุนจากรัฐบาล จำนวน 80.70 ล้านบาท และโครงการปรับปรุงและขยายระบบจำหน่ายพลังไฟฟ้า ระยะที่ 13 (โครงการฯ ระยะที่ 13) ส่วนที่ 1 วงเงินลงทุนรวม 7,403.50 ล้านบาท ประกอบด้วย เงินกู้ในประเทศ จำนวน 5,600 ล้านบาท และเงินรายได้ของ กฟน. จำนวน 1,803.50 ล้านบาท ตามที่กระทรวงมหาดไทย (มท.) เสนอ
นายคารม กล่าวว่า ปัจจุบัน กฟน. อยู่ระหว่างดำเนินการตามแผนฯ ฉบับที่ 12 วงเงินลงทุนรวม 84,694 ล้านบาท โดยใช้ค่าพยากรณ์ความต้องการไฟฟ้าของคณะอนุกรรมการการพยากรณ์ความต้องการไฟฟ้า ฉบับเดือนตุลาคม 2558 ซึ่งคาดว่าความต้องการไฟฟ้าในเขตบริการของ กฟน. พื้นที่กรุงเทพมหานคร จังหวัดนนทบุรี และจังหวัดสมุทรปราการ รวม 3,192 ตารางกิโลเมตร จะเพิ่มขึ้นประมาณ 1,550 เมกะวัตต์ หรือมีอัตราเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 3.15 ต่อปี อย่างไรก็ตาม ในช่วงปีที่ผ่านมาภาวะเศรษฐกิจของประเทศชะลอตัวลง จึงทำให้ความต้องการไฟฟ้าในเขตพื้นที่ของ กฟน. มีค่าต่ำกว่าที่ประมาณการไว้ ประกอบกับบางโครงการที่ดำเนินการตามแผนฯ ฉบับที่ 12 ยังไม่แล้วเสร็จ ดังนั้น กฟน. จึงดำเนินการจัดทำแผนฯ ฉบับที่ 12 (ฉบับปรับปรุง) โดยมีการปรับเป้าหมายของขอบเขตการดำเนินงาน เงินลงทุน และระยะเวลาดำเนินการ เพื่อให้มีความสอดคล้องกับปริมาณความต้องการไฟฟ้าที่ลดลง แม้ว่าจะมีจำนวนผู้ใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น และเพื่อรักษาระดับความน่าเชื่อถือของระบบไฟฟ้าของ กฟน.
นายคารม กล่าวต่อไปว่า การจัดทำโครงการฯ ระยะที่ 13 เพื่อให้การดำเนินการตามแผนปรับปรุงและขยายระบบจำหน่ายพลังไฟฟ้าเป็นไปอย่างต่อเนื่อง โดยมีระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่ปี 2565 - 2570 โดยโครงการฯ ระยะที่ 13 ส่วนที่ 1 มีวัตถุประสงค์เพื่อรองรับความต้องการไฟฟ้าในช่วงปี 2565 - 2570 เพื่อเสริมความน่าเชื่อถือของระบบไฟฟ้าและเพื่อพัฒนาระบบไฟฟ้าสมัยใหม่ของ กฟน. ให้สามารถรองรับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากนวัตกรรมหรือเทคโนโลยีรูปแบบใหม่ รวมทั้งเพื่อตอบสนองต่อยุทธศาสตร์ “Innovation for Smart Living and Growth” ของ กฟน. ซึ่งเป็นการใช้ค่าพยากรณ์ความต้องการไฟฟ้าฉบับเดือนกันยายน 2564 ที่คาดว่า ความต้องการไฟฟ้าในเขตบริการของ กฟน. จะเพิ่มขึ้นประมาณ 1,095.10 เมกะวัตต์ หรือมีอัตราเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 1.90 ต่อปี โดยโครงการฯ ระยะที่ 13 ส่วนที่ 1 ประกอบด้วย (1) แผนงานพัฒนาระบบสถานีต้นทางและสถานีย่อย (2) แผนงานพัฒนาระบบสายส่งพลังไฟฟ้า