xs
xsm
sm
md
lg

เปิด 7 ขั้นตอน ส่อโกง-ฮั้ว-ล็อกสเปก หลัง ป.ป.ช.ส่งการบ้านให้ "เศรษฐา" รื้อกองทุนอนุรักษ์พลังงานฯ โซลาร์เซลล์สูบน้ำ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เปิด 7 ขั้นตอน ส่อโกง หลัง ‘ป.ป.ช.’ ส่งการบ้าน ให้รัฐบาล "เศรษฐา" ร่วมป้องกันทุจริตใช้เงิน "กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานฯ" ทำโครงการโซล่าร์เซลล์สูบน้ำเศรษฐกิจฐานราก ตั้งแต่ ฮั้ว-ล็อกสเปค เหตุผู้ประกอบการ ทั้งประเทศมีแค่ 5 ราย พบบางจังหวัด ถึงขั้นบริษัทฯ ด่วน! เร่งยื่นซอง ก่อนท้องถิ่นยังไม่เริ่มกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง แถมชาวบ้าน "สงสัย" คัดเลือกเฉพาะกลุ่ม ที่ อปท.-จังหวัด คุ้นเคยเป็นพิเศษ เผย‘พีระพันธุ์’ รับปาก นายกฯ ขีดเส้น 30 จ่อรื้อทั้งระบบ

วันนี้ (5 ม.ค.2567) มีรายงานจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า เมื่อเร็ว ๆนี้ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ป.ป.ช.) ได้ออกข้อเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อป้องกันการทุจริต กรณีโครงการที่ได้รับเงินสนับสนุนจาก ‘กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน’

ในกลุ่มงานส่งเสริมอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทนเศรษฐกิจฐานราก โครงการระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อการเกษตร สำหรับบ่อบาดาล โดยพบว่า หลายโครงการได้รับงบประมาณ ระหว่าง 40 -50 ล้านบาท / โครงการ

จากการศึกษาเพื่อเฝ้าระวัง พบประเด็นในขั้นตอนต่างๆของโครงการฯที่อาจนำไปสู่การทุจริตและประพฤติมิชอบ

ครม.มอบหมาย ให้กระทรวงพลังงาน เป็นหน่วยงานหลักรับเรื่องนี้ไปพิจารณา ร่วมกับกระทรวงการคลัง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงมหาดไทย

กระทรวงอุตสาหกรรม สำนักงบประมาณ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ได้ข้อยุติ

ให้กระทรวงพลังงาน สรุปผลการพิจารณา ผลการดำเนินการ ความเห็นในภาพรวม แล้วส่งให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีภายใน 30 วัน นับจากวันที่ได้รับแจ้งจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เพื่อนำเสนอ ครม. ต่อไป

ในที่ประชุม พบว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง ได้สอบถามนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกฯ และรมว.พลังงาน ว่า มีความคิดเห็นอย่างไรเกี่ยวกับประเด็นนี้

ซึ่งนายพีระพันธุ์ได้แจ้งว่า โครงการฯนี้ส่อไปในทางการใช้เงินผิดประเภท และทำผิดวัตถุประสงค์ของกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน รวมทั้งมีกองทุนอื่นๆ เช่น กองทุนพัฒนาไฟฟ้าที่อยู่ในข่ายที่มีลักษณะคล้ายกัน และนายพีระพันธุ์ยังบอกว่า จะไปรื้อทั้งหมด

“รมว.พลังงาน บอกว่าจะไปรื้อทั้งหมด คือ ตั้งกรรมการฯขึ้นมาใหม่เพื่อตรวจสอบ นี่เป็นข้อคิดเห็น ทางเลขาธิการ ครม. ก็ได้มีคำแนะนำว่าให้นำเสนอเป็นเอกสารเข้ามาในประชุม ครม. ครั้งถัดไป เพราะเป็นการให้ความเห็นโดยไม่มีเอกสาร”รายงานข่าวระบุ

สำหรับ 7 ข้อเสนอ ที่ ป.ป.ช. ระบุถึง ที่อาจนำไปสู่การทุจริตและประพฤติมิชอบ ประกอบด้วย

1) "การจัดสรรงบประมาณ" พบว่า คณะทำงานบูรณาการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ด้านพลังงานเชิงพื้นที่ ที่มีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณากลั่นกรองตามเกณฑ์การพิจารณาของแต่ละประเภทเทคโนโลยี

ตามที่หน่วยงานขอรับการสนับสนุนและจัดลำดับความสำคัญชองกลุ่มเป้าหมายในระดับพื้นที่ชุดสำคัญ ส่วนใหญ่เป็นข้าราชการในพื้นที่ แต่ยังขาดองค์ประกอบของนักวิชาการในการให้ความเห็นประกอบ

ซึ่งเรื่องดังกล่าว มิได้ส่อว่าจะเกิดการทุจริต แต่อย่างใด แต่หากสามารถเพิ่มเติมองค์ประกอบของนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญ อาทิ ด้านพลังงาน ด้านการเกษตร

จะสามารถช่วยให้การพิจารณาจัดสรรงบประมาณในพื้นที่มีความครบถ้วนและเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

2) "การยื่นขอโครงการต่อกองทุนฯ ระยะเวลาการรับสมัครการสนับสบุนงบประมาณ จัดทำโครงการระบบสูบนํ้าพลังงานแสงอาทิตย์ สำหรับบ่อบาดาล

มีระยะเวลาการยื่นขอในแต่ละปี ไม่มีช่วงเวลาที่แน่นอน และมีระยะการยื่นซองที่สั้น (ประมาณ 1 เดือน)

ซึ่งการยื่นขอมีขั้นตอนจำนวนมาก ระยะเวลาที่เปิดให้ประชาชนที่มีคุณสมบัติตามที่กำหนดยื่นขอโครงการฯ มีเพียง 10 วัน จึงทำให้ประชาชนเตรียมความพร้อมให้ตรงตามเงื่อนไขที่กองทุนฯ กำหนด ในปีนั้น ๆ ไม่ทัน

ส่วนทาง "สำนักงานพลังงานจังหวัด" ก็มีบุคลากรจำกัด ไม่สามารถตรวจสอบว่า การยื่นของบประมาณแต่ละพื้นที่ตรงตามเงื่อนไขได้อย่างละเอียดถี่ถ้วน

และต้องรอการจัดวาระ เพี่อพิจารณาเสนอต่อ คณะกรรมการบริหารงานจังหวัดแบบบูรณาการ

นอกจากนี้ ยังปรากฏข้อเท็จจริงว่า บางพื้นที่ องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) หรือ บริษัทเอกชน เป็นผู้เข้ามาขุดบ่อบาดาลให้แก่ชาวบ้าน เพี่อให้รวมตัวกับขอโครงการ

ดังนั้น ด้วยระยะเวลาที่จำกัด จึงอาจเกิดเป็นช่องทางกีดกันให้มีผู้ยื่นขอได้เฉพาะผู้ที่ได้รับข่าวสารจากหน่วยงานภาครัฐล่วงหน้าเท่านั้น

3) "การจัดชื้อจัดจ้าง" พบว่า (1) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) มีการบริหารสัญญา 2 ประเภท คือ การบริหารแบบรวมสัญญา และ การบริหารแบบแยกสัญญา โดยขึ้นอยู่กับตอนยื่นขอ

และการพิจารณาอนุมัติของกองทุนฯ ว่า พิจารณารวม หรือแยกโครงการ หากรวมสัญญาก็จะทำให้มูลค่าโครงการสูงกว่า 500,000 บาท และใช้วิธี ประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e - bidding)

แต่หากแยกพิจารณาสัญญาออกเป็นแต่ละโครงการ ทำให้แต่ละระบบมีราคาไม่ถึง 500,000 บาท สามารถใช้วิธีเฉพาะเจาะจงได้

นอกจากนี้ ทางกองทุนฯ กำหนดเงื่อนไข ให้ต้องลงนามในสัญญาภายในระยะเวลาที่จำกัดเพียง 90 วัน นับแต่ได้รับแจ้งมติจากกองทุนฯ การบริหารแบบแยกสัญญาที่ใช้วิธีเฉพาเจาะจง

จึงอาจเอื้อประโยชน์ให้หน่วยงานของรัฐสามารถเลือกผู้รับจ้างที่มีการตกลงกัน เอาไว้ก่อนได้

(2) การกำหนดแบบและสเปคของงาน อาทิ แผงโซลาร์เซลล์ จะต้องได้รับมาตรฐาน ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) และผลิตในประเทศไทย อินเวอร์เตอร์ (Inverter)

ซึ่งเป็นอุปกรณ์ปรับความเร็วรอบมอเตอร์ ที่มีศักยภาพช่วยลดการใช้พลังงานต่อหน่วยสูง สามารถใช้งานควบคู่ได้กับมอเตอร์ไฟฟ้าทั่วไป ต้องเป็นของบริษัทที่ฃึ้นบัญชีนวัตกรรมไว้

และจากข้อมูลของสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พบว่า ผู้ประกอบการผลิตแผงโซลาร์เซลล์ในประเทศไทย และได้รับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม มีจำนวน 4 บริษัท และอินเวอร์เตอร์ (Inverter) สำหรับปั๊มน้ำจากเซลล์แสงอาทิตย์ มีผู้จำหน่าย จำนวน 1 บริษัท

จึงทำให้เหลือผู้ประกอบการไม่กี่ราย ที่มีสินค้าเพื่อให้จัดทำโครงการตรงตามคุณสมบัติที่กำหนด การกำหนดแบบและสเปคของงานในลักษณะดังกล่าว อาจเป็นช่องทางการเอื้อประโยชน์ให้แก่ผู้ประกอบการบางกลุ่มได้

ประกอบกับ พบว่า บางจังหวัดมีบริษัทที่คุณสมบัติครบถ้วน เข้ามายื่นซองทันที ที่ได้รับอนุมัติโครงการ โดยที่ทาง อบต. ยังไม่มีการประกาศใด ๆ

ดังนั้น ด้วยคุณสมบัติของสเปคงาน จึงทำให้มีผู้ประกอบการไม่กี่ราย ที่มีสินค้าตรงตามคุณสมบัติที่กำหนด และหน่วยงานต้องลงนามในสัญญาภายใน ระยะเวลาที่กำหนด คือ 90 วัน

จึงทำให้ไม่มีเวลาในการสรรหาผู้ประกอบการที่มีคุณสมบัติครบถ้วนรายอื่น จึงตัดสินใจเลือกบริษัทที่มีสินค้าตรงตามคุณสมบัติครบถ้วน ที่เข้ามาเสนอราคา จึงอาจส่อว่ามีการเอื้อประโยชน์ ให้ผู้ประกอบการบางกลุ่มได้

4) "กรรมสิทธิและการบำรุงรักษา" แม้ว่า กองทุนฯ ได้มีการกำหนดแนวทางแก้ไขปัญหาการขาดการบำรุงรักษา เป็นผลให้ทรัพย์สินถูกทิ้งร้าง ไม่ได้ใช้ประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ของโครงการ

ในกลุ่ม โครงการระบบสูบนํ้าพลังงานแสงอาทิตย์ เช่น การกำหนดหลักเกณฑ์ ให้ชาวบ้านที่รวมตัวกันยื่นขอโครงการมี การวางเงินไว้ร้อยละ 5 ของโครงการ เพื่อใช้ในการดูแลบำรุงรักษาทรัพย์สินจากโครงการ

อย่างไรก็ตาม พบว่า ยังไม่มีแนวทางที่แน่ชัดว่า เงินดังกล่าวจะต้องมีการบริหารจัดการอย่างไร ตลอดจนปัญหาที่ให้มีการวางเงิน ก่อนที่ได้รับการอนุมัติโครงการเป็นเรื่องที่ยากต่อการดำเนินการ

จึงอาจเกิดปัญหาในอนาคตเรื่องการปล่อยทิ้งร้าง และไม่ตรงตามวัตถุประสงค์ที่ได้รับสนับสนุนงบประมาณ

5) "การใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินและความคุ้มค่า" แม้ว่าประชาชนและหน่วยงานภาครัฐ เห็นร่วมกันว่าโครงการระบบสูบนํ้าพลังงานแสงอาทิตย์เป็นโครงการที่เป็นประโยชน์ต่อชาวบ้านอย่างแท้จริง

อย่างไรก็ตาม ยังคงพบปัญหาที่สอดคล้องกับข้อเท็จจริงจากรายงานการตรวจสอบโครงการที่ได้รับเงินสนับสนุ่นจากกองทุนฯ ของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ในประเด็นเกี่ยวกับจำนวนผู้ใช้น้ำและพื้นที่ใช้ประโยชน์จากระบบสูบนํ้าพลังงานแสงอาทิตย์

"ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเป้าหมายที่กำหนด บางโครงการผู้ใช้น้ำที่มีสมาชิกภายในกลุ่มใช้ประโยชน์จากระบบสูบน้ำเพียงรายเดียว ซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิที่ดินหรือเป็นเครือญาติกันเท่านั้น"

กลุ่มผู้ใช้นํ้าไม่สามารถร่วมสมทบอุปกรณ์ระบบส่งน้ำไปยังพื้นที่การเกษตรของตนเองได้ เนื่องจากมีระยะทางของพื้นที่ที่ไกลจากกัน และการต่อท่อส่งน้ำมีความลำบาก

จึงอาจเป็นประเด็นเรื่องความคุ้มค่าของการใช้งบประมาณได้ และกองทุนฯ ยังขาดการ ติดตามและประเมินผลถึงความคุ้มค่าของโครงการว่า ชาวบ้านสามารถลดต้นทุนค่าใช้จ่ายในการทำการเกษตร และเพิ่มผลผลิตจากการเกษตรได้มากน้อยเพียงใด

6) "การติดตามและประเมินผลโครงการ" พบว่า (1) การติดตามและประเมินผล ยังปรากฏปัญหาและอุปสรรค ที่สำนักงานพลังงานจังหวัด พบในการลงพื้นที่ติดตามและประเมินผลโครงการฯ

ได้แก่ ระยะทางในแต่ละพื้นที่ค่อนข้างไกล ต้องอาศัยเวลาในการเดินทาง เจ้าหน้าที่ขาดยานพาหนะในการลงพื้นที่ ขาดผู้เชี่ยวชาญที่มีองค์ความรู้เกี่ยวกับพลังงานทดแทนในการเข้าไปตรวจสอบ

และพบปัญหาเรื่องของข้อมูลโครงการ ซึ่งกองทุนฯ แจ้งสำนักงานพลังงานจังหวัด มาเพียงแค่ชื่อโครงการ แต่ขาดเอกสารข้อมูลอื่น ๆ ของโครงการฯ

ในบางครั้งทางสำนักงานพลังงานจังหวัด ไม่สามารถหาพิกัดที่ตั้งของโครงการ หรือทราบได้ว่าทรัพย์สินของโครงการถูกต้องตามสเปคของโครงการหรือไม่

ดังนั้น การติดตามและประเมินผลโครงการฯ จึงไม่สามารถทำได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ไม่สามารถสะท้อนปัญหาจากพื้นที่ไปยังกองทุนส่วนกลางได้

(2) การติดตามและประเมินผลโครงการลักษณะระบบสูบนํ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ได้รับการสนับสนุนเงินจากกองทุนฯ

โดยใช้เกณฑ์ประเมินผลโครงการ CIPP Model และ Five Criteria ในระหว่างปี 2563 - 2565 มีจำนวน 3 โครงการ

ซึ่งถือว่าเป็นสัดส่วนค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับจำนวน โครงการลักษณะระบบสูบนํ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ที่ได้รับการสนับสนุนเงินจากกองทุนฯ ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 - 2564 ที่มีจำนวนทั้งสิ้น 1,201 โครงการ

จึงอาจเกิดปัญหาเรื่องการปล่อยทิ้งร้างและไม่ตรงตามวัตถุประสงค์ที่ได้รับสนับสบุนงบประมาณ

สุดท้าย 7) "การเปิดเผยข้อมูลโครงการเพื่อให้เกิดความโปร่งใส" พบว่า ในแต่ละปีมีผู้ยื่นขอโครงการเป็นจำนวนมาก แต่งบประมาณที่สนับสนุนมีจำนวนน้อย

ทำให้กองทุนฯ ไม่สามารถสนับสนุนงบประมาณให้ชาวบ้านทุกกลุ่มที่ยื่นขอได้ และจากการค้นหาข้อมูล ตลอดจนสอบถามหน่วยงานในพื้นที่ พบว่า ทางกองทุนฯ ไม่มีการแจ้งเหตุผลในกรณีที่ชาวบ้านไม่ได้รับการสนับสนุนฯ

"จึงทำให้เกิดความไม่พอใจของชาวบ้านกลุ่มที่ไม่ได้รับเลือกมาต่อว่า ทางหน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่น เพราะใบบางครั้งชาวบ้านลงทุนขุดบ่อบาดาล เพื่อให้ตรงตามเงื่อนไขที่กองทุนฯ กำหนด"

จึงอาจมีประเด็นคำถามว่า มีการคัดเลือกเฉพาะกลุ่มคนที่ อปท. หรือจังหวัด มีความคุ้นเคยเป็นพิเศษหรือไม่

และโดยจากการสืบค้นข้อมูล พบว่า หลังจากมีการจัดตั้งสำนักงานบริหารกองทุนเพื่อส่งเสริม ก่ารอนุรักษ์พลังงาน พบว่า ไม่มีการเผยแพร่รายงานผลการดำเนินงานกองทุนประจำปีงบประมาณขึ้นบน เว็บไซต์ของหน่วยงาน

จึงอาจมีประเด็นคำถามถึงประสิทธิภาพและประสิทธิผลของทรัพย์สินที่เกิดจากเงินสนับสนุนของทางกองทุนฯ ว่าสามารถใช้งานได้ตรงตามวัตถุประสงค์ของโครงการฯ และวัตถุประสงค์ซอง กองทุนฯ หรือไม่ เพียงใด

มีรายงานว่า เมื่อเร็ว ๆนี้ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้ตรวจสอบโครงการก่อสร้างขุดเจาะบ่อบาดาลและสูบน้ำด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ของหน่วยราชการแห่งหนึ่ง ใน จ.อุบลราชธานี

ซึ่งได้รับงบประมาณ "เงินกู้" ภายใต้แผนงาน/โครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม

ตามบัญชีท้าย พ.ร.ก. ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 วงเงิน 27.50 ล้านบาท

ซึ่งมีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ 51 กลุ่ม จำนวน 490 ราย พื้นที่เข้าร่วมโครงการทั้งหมด 7,508 ไร่ พบว่า การดำเนินงานไม่บรรลุวัตถุประสงค์และเป้าหมายของโครงการ

"กลุ่มเกษตรกรทั้ง 51 กลุ่ม หรือคิดเป็นร้อยละ 100.00 ของกลุ่มเกษตรกรทั้งหมดที่เข้าร่วมโครงการ ยังไม่มีการบริหารจัดการในลักษณะกลุ่มผู้ใช้น้ำที่ชัดเจน ยังไม่กำหนดข้อบังคับหรือข้อตกลง หลักเกณฑ์ในการบริหารจัดการกลุ่มที่ชัดเจน"

ตามระเบียบกรมทรัพยากรน้ำบาดาลว่าด้วยการบริหารระบบน้ำบาดาลของกลุ่มผู้ใช้น้ำบาดาล พ.ศ. 2563.


กำลังโหลดความคิดเห็น