วันนี้(4 ม.ค.)นายอัครแสนคีรี โล่ห์วีระ สส.ชัยภูมิ เขต 7 พรรคพลังประชารัฐ(พปชร.) อภิปรายต่อที่ประชุมสภาฯ วาระพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 วาระแรก ถึงงบประมาณของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่องการแปลงเอกสารสิทธิ์ ส.ป.ก. 4-01 เป็นโฉนดเพื่อการเกษตรสิทธิในการครอบครองและทำกินบนที่ดิน ถือเป็นเรื่องสำคัญที่พี่น้องเกษตรกรทั้งบ้านตนที่จังหวัดชัยภูมิ และพี่น้องอีกหลายจังหวัดทั้งประเทศต่างเฝ้ารอรัฐบาลเข้ามาแก้ไขปัญหา ซึ่งล่าสุด ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ดำเนินการจนสำเร็จ
นายอัครแสนคีรี กล่าวต่อว่า ประโยชน์ที่เกษตรกรจะได้รับจากการจัดสรรโฉนดเพื่อการเกษตรมีหลายปัจจัย เช่น การเปลี่ยนมือตามหลักเกณฑ์ที่ ส.ป.ก.กำหนด หรือการนำไปใช้ค้ำประกันหรือการนำทรัพย์สินไปแปลงเป็นเงินทุนโดยตั้งแต่วันที่ 28 ธ.ค.ที่ผ่านมา ได้มีผู้ยื่นคำร้องขอเปลี่ยนเป็นโฉนดเพื่อการเกษตรทั้งประเทศกว่า 178,775 แปลง โดยกระทรวงเกษตรฯได้วางแผนการดำเนินการกว่า 5 ปี เพื่อเปลี่ยนโฉนดจำนวน 22,000,000 ไร่ โดยเฉลี่ยปีละ 400,000 กว่าแปลง แต่อุปสรรคก็เยอะ เนื่องจากขาดแคนบุคลากร ซึ่งใน 22,000,000 ไร่ มีบุคลากรที่รับผิดชอบเพียง 1,900 อัตรา และงบประมาณเพียง 1,300 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนบุคลากรหนึ่งคนต่อ 12,000 ไร่ ส่งผลให้พนักงานมีภาระเพิ่มขึ้นกว่าสองเท่า ทำให้การบริการไม่ครอบคลุมพี่น้องเกษตรกรจำนวนมากที่สนใจเข้ามารับบริการที่ส.ป.ก. จังหวัด เพื่อเปลี่ยนเป็นโฉนด ทำให้เกษตรกรที่อยู่อาศัยบนพื้นที่ห่างไกลมีค่าใช้จ่ายเดินทางที่สูง ตนจึงเห็นว่าควรเพิ่มสาขา หรือช่องทางการรับบริการ เพื่อให้สะดวกสบายต่อประชาชน รัฐบาลควรอนุมัติจัดสรรงบประมาณที่สอดคล้องกับภารกิจที่เพิ่มขึ้น เพื่อผลักดันงานต่างๆที่จะช่วยสานฝันพี่น้องเกษตรกร
นายอัครแสนคีรี กล่าวต่อถึง ปัญหาฝุ่น pm 2.5 ที่ส่งผลให้ภาระงานของกรมฝนหลวงมีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น ซึ่งถ้าพิจารณาจากฝูงบินที่กรมฝนหลวงใช้ในปัจจุบันนั้นเริ่มไม่สอดคล้องกับภารกิจที่ซับซ้อน เพราะ มีอายุการใช้งานเกินเกณฑ์มาตรฐานอายุการใช้งาน ซึ่งอาจจะไม่ปลอดภัยหากฝืนใช้ต่อไปแบบนี้ และที่สำคัญจะมีภาระค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมที่สูง ตนจึงอยากฝากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยจัดสรรงบประมาณและพิจารณาให้เหมาะสมด้วย
นอกจากนี้ ปัญหาเรื่องคาร์บอน กำลังส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศไทย โดยกลุ่มประเทศยุโรปเริ่มมีมาตรการทางภาษี โดยการจัดเก็บภาษีจากผู้ส่งออกที่ปลดปล่อยคาร์บอน ซึ่งไทยเองก็เป็นประเทศส่งออกสินค้ารายใหญ่ คาร์บอนคือปริมาณก๊าซเรือนกระจก หรือกักเก็บได้จากการทำโครงการลดก๊าซเรือนกระจกเมื่อเทียบกับกรณีการดำเนินการธุรกิจตามปกติเช่น การใช้พลังงานสะอาด หรือการสร้างระบบดูดซับคาร์บอน เช่น โครงการปลูกป่า อีกทั้งคาร์บอนเครดิตยังสามารถนำไปซื้อขาย สร้างรายได้ให้กับประชาชน เกษตรกร และลดหย่อนภาษีทางการส่งออกสินค้าไปยังประเทศแถบยุโรปซึ่งมีมาตรการการเก็บภาษี
นายอัครแสนคีรี กล่าวต่อว่า ตนทราบว่ากระทรวงทรัพย์ฯได้จัดตั้งกรมเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและองค์การจัดการก๊าซเรือนกระจกเพื่อจัดทำมาตรฐานการค้าการทำตลาดซื้อขายคาร์บอนให้เป็นที่ยอมรับบนมาตรฐานสากล ทั้งนี้งบประมาณของกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิศาสตร์และสิ่งแวดล้อมอยู่ที่ 540 ล้านบาท และมีรายจ่ายประจำเทียบเท่า 90% ของงบประมาณทั้งหมด เหลืองบลงทุนเพียง 48 ล้านบาท ซึ่งน้อยมากเมื่อเทียบกับภารกิจที่กำลังเผชิญอยู่ เช่นเดียวกับงบประมาณขององค์การก๊าซเรือนกระจก ซึ่งเสนอมา 150 ล้านบาท และเป็นงบประมาณประจำราว 85% เหลืองบลงทุนเพียง 22.8 ล้านบาท ถือว่าน้อยต่อภารกิจที่ค่อนข้างท้าทาย
“ผมจึงอยากขอให้มีการสนับสนุนงบประมาณที่เพียงพอต่อกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศและองค์กรจัดการก๊าซเรือนกระจก เพื่อให้ประชาชน เกษตรกร คนตัวเล็ก สามารถมีส่วนร่วมในการสร้างรายได้จากคาร์บอน และให้ประเทศไทยมีมาตรฐานการตรวจผ่านและตลาดซื้อขายคาร์บอนที่มีมาตรฐาน สอดคล้องกับตลาดโลก และป้องกันปัญหากำแพงภาษีที่กำลังจะรุนแรงขึ้นในอนาคต“นายอัครแสนคีรี กล่าว