xs
xsm
sm
md
lg

“อนันต์”ขอ รบ. เพิ่มงบ ก.เกษตรฯ ชี้ ยังมีพื้นที่กว่า 100 ล้านไร่เข้าไม่ถึงระบบชลประทาน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



วันนี้(4 ม.ค.)นายอนันต์ ผลอำนวย สส.เขต 3 จ.กำแพงเพชร พรรคพลังประชารัฐ(พปชร.)อภิปรายต่อที่ประชุมสภาฯ วาระพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 วาระแรก ในวันแรก ว่า ตนขอสนับสนุนร่างงบประมาณ และเข้าใจถึงการที่รัฐบาลต้องจัดการงบประมาณภายใต้เวลาจำกัด และสถานะการคลังของประเทศที่มีอยู่อย่างจำกัด แต่ตนมีความเป็นห่วงอยู่ประมาณ 6-7 ประเด็นในร่าง พรบ.ดังกล่าว

1.ความสามารถในการจัดเก็บรายได้เพื่อให้การขาดดุลงบประมาณเป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้
2.งบประมาณรายจ่ายประจำปีที่มีความจำเป็นน้อย และเป็นรายจ่ายบุคลากรภาครัฐ ยังมีการเพิ่มต้นอย่างต่อเนื่อง อยากต่อการปรับลดลงหากไม่มีการจัดการอย่างจริงจัง
3.การบริหารจัดการหนี้สาธารณะของประเทศที่เพิ่มสูงขึ้น โดยรัฐบาลจะต้องมีแผนในการดำเนินการที่ชัดเจน เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นและศักยภาพในการบริหารประเทศ ซึ่งวันนี้เศรษฐกิจภายในประเทศเติบโต
อยู่ในระดับต่ำ
4.ภาวะหนี้ครัวเรือนสูงขึ้น
5.ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมและการจัดการปัญหาภัยแล้ง
6.โครงการประชากรสูงวัย
7.รัฐบาลยังไม่สามารถกระจายอำนาจไปสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่ถือว่าใกล้ชิดกับประชาชน รู้ปัญหาและความต้องการของประชาชน ซึ่งจะทำให้ใช้งบประมาณได้อย่างคุ้มค่า

นายอนันต์ กล่าวต่อว่า ในส่วนงบประมาณของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ครัังนี้ถือว่า ได้รับงบประมาณน้อย หากเอาจำนวนของเกษตรทั่วประเทศกว่า 7 ล้านครอบครัว หรือประมาณ 28 ล้านคนมาเป็นที่ตั้ง โดยเกษตรกรในประเทศไทยมีหนี้ทุกครัวเรือน โดยเฉลี่ย 450,000 บาท ขาดซึ่งองค์ความรู้ในการจัดการและสิทธิในที่ดิน แรงงานในภาคการเกษตร สิ่งที่เป็นหัวใจมีปัจจัยหลัก 3 ประการคือ น้ำ ดิน และเมล็ดพันธุ์พืช โดยระบบชลประทาน ในร่าง พรบ.งบประมาณ 67 ได้งบประมาณ 8 หมื่นล้านบาท จากวงเงินประมาณ 110,000 ล้านบาทของกระทรวงเกษตรฯ โดยพื้นที่ประเทศไทยมี 320.7 ล้านไร่ แบ่งเป็นพื้นที่การเกษตร 149.25 ล้านไร่ ระบบชลประทานเข้าถึง 35.23 ล้านไร่ และในส่วนพื้นที่ที่ไม่มีระบบชลประทาน มีมากถึง 114,000,000 ไร่ จึงเป็นโจทย์ว่า ประชาชนจะอยู่กันอย่างไร

“ ทั้งนี้ ะบบชลประทานจะช่วยจัดการบริหารน้ำในทุกด้าน หากเศรษฐกิจฐานรากไม่แข็งแรง ระดับประเทศจะเติบโตอย่างไร งบประมาณของกรมชลจำนวนนี้จะนำไปขยายระบบชลประทานได้เพียงแค่ 6 แสนไร่ต่อปี ต้องใช้เวลาถึง 200 ปีกว่าระบบชลประทานจะเข้าครอบคลุมทั่วประเทศ ซึ่งถ้าเกษตรขาดน้ำเหมือนตายไปครึ่งตัว เรื่องนี้รัฐบาลควรจะเร่งแก้ปัญหาให้เร็วที่สุด“นายอนันต์ กล่าว

นายอนันต์ กล่าวต่อว่า ในส่วนงบประมาณของกรมพัฒนาที่ดิน ที่มีเกือบทุกจังหวัดทั่วประเทศ ทำหน้าที่ในการปรับปรุงดิน แต่ได้งบประมาณ 4,000 ล้านบาทเท่านั้น ซึ่งถือว่าไม่เพียงพอในการดำเนินงานจัดการดินได้อย่างทั่งถึง อย่าง หมอดินอาสาที่เข้ามาช่วยเกษตรกรจัดการก็ไม่ได้ค่าตอบแทนใด ๆ ทั้งเรื่องน้ำและดินรัฐบาลควรที่จะใช้งบกลางเข้ามาจัดการ เพื่อให้เกษตรกรสามารถลืมตาอ้าปากได้

ด้านกรมทรัพยากรน้ำบาดาล แก้ปัญหาภัยแล้งให้เกษตรกรมีน้ำใช้ในพื้นที่ ๆ ไม่สามารถจัดระบบชลประทานได้ ซึ่งขณะนี้มีหลายโครงการที่เดินหน้าขุดเจาะบ่อน้ำบาดาล ให้การทำเกษตรได้ผลมากขึ้น แต่งบประมาณ 1,100 ล้านบาท คงทำได้ไม่กี่แห่ง จึงขอให้นายกรัฐมนตรีพิจารณางบประมาณให้กรมทรัพยากรน้ำบาดาลมากขึ้น

นายอนันต์ กล่าวทิ้งท้ายว่า ศูนย์พันธุ์ข้าว ภายใต้การดูแลของกรมการข้าว 29 แห่งทั่วประเทศ แต่ไม่สามารถตอบสนองคนทำนาได้ โดยศูนย์พันธุ์ข้าว มีทั้งนักวิจัย นักวิชาการ หน่วยงานที่สนับสนุนมากมาย ที่จะเข้ามาช่วยให้ความรู้กับชาวนา ถึงเรื่องพันธุ์ข้าวที่สอดรับกับสภาพอากาศและภูมิประเทศ ศูนย์พันธุ์ข้าวควรที่จะกระจายทั่วประเทศเพื่อชาวนา ไม่ใช่พ่อค้า ถ้าเราทำดี ๆ จะทำให้ชาวนาลดต้นทุนการผลิตได้ และกรมการข้าวก็ยังมีอีกหลายโครงการที่จะเอื้อประโยชน์ให้กับเกษตรกรผู้ปลูกข้าวได้ ตนเชื่อว่า งบกลางที่ตั้งไว้กว่าหกแสนล้านบาทจะสามารถนำมาใช้ในกระทรวงเกษตรเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตให้เกษตรไทย
กำลังโหลดความคิดเห็น