xs
xsm
sm
md
lg

ปี 67การเมืองเดือด อนาคตเพื่อไทยฟื้นยาก!?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


 ทักษิณ ชินวัตร - แพทองธาร ชินวัตร
เมืองไทย 360 องศา

การเมืองในปีใหม่ ปี 2567 หากโฟกัสไปที่ภาพรวมๆ แล้ว น่าจะมีแนวโน้มในทางไม่สดใสนัก แต่หากเทียบกับในยุครัฐบาล “ลุงตู่” เมื่อสองสามปีที่ผ่านมา ก็ต้องถือว่าพวกเขาโชคดีกว่ามาก อย่างน้อยก็ไม่ต้องเจอ “วิกฤตโควิด-19” ที่เรียกว่าเป็น “วิกฤตที่สุดในโลก” ประเภทวิกฤตที่ผ่านมาที่เราเคยเจอ เช่น ต้มยำกุ้ง แฮมเบอร์เกอร์ หรือไข้หวัดนก พวกนี้ถือว่า “เด็กๆ” ไปเลย เพราะโรคระบาดโควิดที่มันหยุดนิ่งไปทั้งโลก ต้องปิดประตูอยู่กับบ้าน ไม่กล้าออกไปไหน กลายเป็นเมืองร้าง ดังนั้น เมื่อผ่านพ้นมาได้ โดยไม่บอบช้ำเหมือนกับหลายประเทศในโลก ก็น่าจะหันกลับไปชื่นชมสักเล็กน้อยก็ยังดี

ย้อนกลับมาโฟกัสที่รัฐบาล และพรรคเพื่อไทยในยุคนี้บ้าง แม้ว่าจะผ่านยุควิกฤตใหญ่มาแล้ว แต่ก็ยังมีผลกระทบต่อเนื่อง เพียงแต่ว่ามันไม่ได้โชคดีเหมือนกับในยุคที่เพิ่งผ่านวิกฤตต้มยำกุ้ง เมื่อกว่ายี่สิบปีก่อน ที่ตอนนั้นเป็นสมัยรัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร ที่เศรษฐกิจกำลังอยู่ในวงรอบ “ขาขึ้น” พอดี อีกทั้งนโยบายแปลกใหม่นำมาใช้ พร้อมกับเงินงบประมาณ และนำแนวทางการบริหารแบบภาคเอกชนเข้ามา ทุกอย่างจึงสร้างความฮือฮา เกิดความนิยม ทำให้เป็นที่จดจำอยู่ช่วงหนึ่ง

อย่างไรก็ดี เมื่อเวลาผ่านไป แบบ “ขาดช่วง” ไปนานเกือบสามสิบปี ถามว่า เด็กรุ่นใหม่แทบจะไม่รับรู้ถึงบรรยากาศในยุคของรัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร อีกทั้งการเกิดขึ้นของ รัฐบาล “ลุงตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต่อเนื่องมานานเกือบสิบปี ที่ถือว่า สร้างผลงานได้ไม่น้อยเหมือนกัน บางเรื่องก็ยังสร้างความจดจำในทางบวก เปรียบเทียบกันได้กับรัฐบาลยุคปัจจุบัน จากพรรคเพื่อไทย ที่มีนายเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรี

ขณะเดียวกัน การเข้ามาของพรรคเพื่อไทยในเวลานี้ สิ่งที่ถือว่าเป็นผลบวก ก็คือ ได้กลับมาเป็นรัฐบาล ในรอบเกือบยี่สิบปี เพราะการกุม “อำนาจรัฐ” ถือว่า กุมความได้เปรียบ กลับมากระชับอำนาจอยู่ในมือ แต่ก็นั่นแหละ การกลับมาเป็นรัฐบาลเที่ยวนี้กลับกลายเป็นว่า มีภารกิจเร่งด่วนที่ต้องทำก่อนก็คือ การจัดการกับเรื่องของนายทักษิณ ชินวัตร เป็นเรื่องหลัก

นั่นคือ กลายเป็นว่า ต้องหาทาง “ไม่ให้ติดคุก” สักวันเดียว แม้ว่าจะมีข้ออ้างในเรื่องความจำเป็นเกี่ยวกับการรักษาอาการ แต่ถามว่ามีใครบ้างในประเทศนี้ที่เชื่อแบบนั้น หากไม่โกหกตัวเอง ก็ย่อมต้องมองออกว่านี่คือ “สถานะเทวดา” คนไม่เท่ากัน และที่สำคัญเข้าใจว่านี่คือการ “เอาเปรียบคนอื่น” กลายเป็นว่า กรณีของนายทักษิณ ชินวัตร เป็นตัวฉุดรั้ง ทำให้รัฐบาลมีภาพลบ

ในทางตรงกันข้าม หาก นายทักษิณ ชินวัตร เลือกใช้วิธีทางอื่น นั่นคือ ยอมเข้าคุกอย่างองอาจ ทำตามกฎหมาย เชื่อว่า น่าจะได้รับคำชมเชยยกย่อง และเมื่อถึงเวลาก็น่าจะได้ออกจากคุกกลับบ้านได้อย่างน่านับถือ อีกทั้งยังส่งผลในทางบวกทั้งรัฐบาล และพรรคเพื่อไทย แต่เมื่อเขาเลือกใช้วิธีอีกแบบ มันก็ช่วยไม่ได้ ที่จะต้องสร้างแรงกดดันที่เพิ่มขึ้น เพราะหากว่าไปแล้วนี่คือการเมือง “แบบโบราณ” ที่เน้นใช้เส้นสาย ที่เด็กรุ่นใหม่ไม่ชอบ แม้ว่าในความเป็นจริงจะใช่ หรือไม่ก็ตาม แต่คำนิยามในเรื่อง “ความเสมอภาค” มักจะเป็นคำพูดฮิตในหมู่พวกเด็กๆ รุ่นใหม่อยู่เสมอ ขณะที่คนรุ่นเก่ายิ่งไม่ต้องพูดถึง “รับไม่ได้อยู่แล้ว”

อีกทั้งด้วยระยะเวลาที่ผ่านไปนาน ทำให้ภาพความทรงจำที่เคยมีการพูดว่า “ทักษิณสร้างคุณูปการ” กับบ้านเมือง เรื่องแค่นี้ น่าจะมองผ่านไปได้นั้น มันใช้ไม่ได้ในยุคนี้แล้ว กลายเป็นภาพที่ นายทักษิณ “เอาตัวรอด” เอาเปรียบอยู่คนเดียว ซึ่งจะว่าไป แรงกระแทกที่หนักหน่วงกลับกลายเป็นกรณีของ นายจตุพร พรหมพันธุ์ อดีตคนกันเอง ที่เวลานี้กลายเป็นฝ่ายตรงข้าม สร้างแรงกดดันอย่างหนัก อาจจะมีพลังมากกว่าพรรคฝ่ายค้านในเวลานี้เสียด้วยซ้ำ เพราะทุกคำพูดเหมือนกับว่า “หลับตาพูด” ยังหนักแน่น “เข้าทุกดอก” อะไรประมาณนั้น

ดังนั้น หากจะให้โฟกัสการเมืองในช่วงปีใหม่ ปี 2567 กรณีของ นายทักษิณ ชินวัตร ก็ย่อมผูกพันมาถึงรัฐบาล พรรคเพื่อไทย รวมไปถึงการเมืองรวมๆ ตามไปด้วย เพราะอย่างที่รู้กันว่า เขาเป็นตัวกำหนดรัฐบาล กำหนดตัวนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี รวมไปถึงตำแหน่งการเมืองสำคัญแทบทั้งหมด จนเริ่มมีเสียงวิจารณ์ทำนองว่า “ระบอบทักษิณ” ได้กลับมาแล้ว

ขณะเดียวกัน หากพิจารณากันในภาพของการแข่งขัน มันก็ทำให้ทุกอย่างเริ่มเข้มข้น เพราะหากมองว่าการเมืองเข้าสู่ “สองขั้วใหม่” นั่นคือ ขั้วเพื่อไทยกับ ก้าวไกล ที่หากวัดกันตามกระแสก็ต้องยอมรับว่า “เพื่อไทยยังเป็นรอง” แต่อีกด้านหนึ่งก็ใช่ว่าขั้วก้าวไกล จะนำขาด เพราะเชื่อว่า พวกเขาได้ผ่าน “จุดพีก” ไปแล้วเหมือนกัน อีกทั้ง “เงื่อนไขเผด็จการสืบทอดอำนาจ” ก็หมดไปแล้ว หลังจาก “ลุงตู่” พ้นไปจากอำนาจขึ้นไป “บนหิ้ง” เรียบร้อยแล้ว เงื่อนไขที่เคยปลุกเร้าในเรื่องเดิมๆ ก็หมดไป เหมือนกับกระแส “ม็อบสามนิ้ว” ที่ไม่คึกคัก มีแต่ทยอยเข้าคุกกันเท่านั้น

ที่ต้องจับตากัน ก็คือ หลังจากช่วงเดือนพฤษภาคมเป็นต้นไป ที่บรรดาสมาชิกวุฒิสภาต้องหมดวาระ ทุกอย่างก็จบลง ถือว่าการเมืองเป็นประชาธิปไตยสมบูรณ์แบบ หากสังเกตเวลานี้กระแสเรื่อง “แก้รัฐธรรมนูญ” ที่บางคนคาดว่าจะเข้มข้นนั้น หากมองอีกมุมหนึ่ง มันอาจเป็นตรงกันข้ามก็ได้ เพราะหากมองกันตามความเป็นจริง มันก็ไม่ได้ทำให้ชาวบ้านเกิดความเปลี่ยนแปลงด้านความเป็นอยู่อะไรนัก

รัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยเต็มใบคงไม่ได้ทำให้คนจนกลายเป็นคนรวยในชั่วข้ามคืน ส่วนใหญ่มันก็เป็นแค่ความรู้สึกในเรื่องสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค แต่เอาเข้าจริงแล้วมันก็ไม่เคยมีจริง แต่สิ่งที่จริงแท้แน่นอนก็คือต้องแลกมาด้วยจำนวนเงิน “ภาษีกู” นับหมื่นล้านบาท สำหรับการทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งเชื่อว่าผลออกมาได้รัฐธรรมนูญใหม่ ก็น่าจะงั้นๆ คงไม่ได้วิเศษมากมายไปกว่าเดิมมากนัก ความหมายคือ “ไม่น่าจะคุ้มค่า” มากกว่า

อย่างไรก็ดี หากให้โฟกัสไปที่ภาพการเมืองในช่วงปีนี้ ก็ต้อง “เดือด” แน่นอน เพียงแต่ว่าคงไม่ถึงขั้น ดุเดือดเลือดพล่าน เพราะทุกอย่างมันเริ่มขมวดปมเข้ามาเรื่อยๆ แต่หากพิจารณาจาก “แรงกระตุ้น” และมีความเสี่ยง จะทำให้เป็นจุดพลิกผันส่วนสำคัญก็น่าจะมาจากสาเหตุ “สถานะเทวดา” ของ นายทักษิณ ชินวัตร นั่นแหละ เพราะหากท้าทายความรู้สึกของชาวบ้าน ยิ่งมาก มันก็ยิ่งเสี่ยง

ขณะเดียวกัน ก็ต้องพิจารณาถึงผลงานของรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน ที่เชื่อว่า หลายเรื่องไม่น่าจะเป็นใจ โดยเฉพาะนโยบาย “เรือธง” อย่าง “ดิจิทัลวอลเล็ต” ที่ดูจากแนวโน้มแล้ว ไม่น่าจะเป็นไปได้แล้ว โดยเฉพาะการ “กู้มาแจก” เพราะมันเสี่ยงผิดกฎหมาย รวมไปถึงนโยบายอื่น เช่น ค่าแรง 600 บาท เงินเดือนปริญญาตรี 25,000 บาทต่อเดือน ที่แม้ว่าจะเลี่ยงใช้คำว่าภายในปี 70 ก็ตาม แต่มันก็เป็นไปได้ยาก สรุปก็คือ หากรัฐบาลไม่มีผลงานที่น่าจดจำมันก็ยิ่งจะเป็น “ตัวเร่ง” ให้เดือดเร็วขึ้น

ดังนั้น เมื่อเห็นแนวโน้มการเมืองที่เริ่มเดือด อีกด้านหนึ่งมันก็ไม่ได้ส่งผลในทางบวกกับพรรคเพื่อไทย หรือแม้แต่จะกลายเป็น “แรงส่ง” ให้กับ “อุ๊งอิ๊ง” น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ที่จะเข้ามาในฐานะ “ตัวจริง” ได้มากนัก เพราะหากจะว่าไปแล้ว “ทักษิณ” นั่นแหละคือ ตัวถ่วง สร้างวิกฤตขึ้นมา!!



กำลังโหลดความคิดเห็น