ข่าวปนคน คนปนข่าว
** รถไฟฟ้าสีชมพูทำเรื่อง บทพิสูจน์ "สุรพงษ์" จะกล้าจัดหนักกับ "เจ้าสัว" ไหนจะ "เสี่ยหนูตีสี่" มั้ย?!
เดชะบุญที่ไม่มีใครบาดเจ็บหรือเสียชีวิต แต่ทรัพย์สินประชาชนก็พังเสียหายจากกรณีรางจ่ายกระแสไฟฟ้าของรถไฟฟ้าสายสีชมพู หลุดร่วงลงถนน และเกี่ยวสายไฟฟ้าบริเวณหน้าตลาดชลประทาน
ที่โชคดีอาจจะเป็นเพราะว่า เหตุการณ์เกิดในช่วงเวลาตีสี่กว่าๆ ที่ปลอดคน ไม่มีรถวิ่ง จึงไม่มีใครเป็นอะไร
หากเป็นเวลาปกติ ไม่อยากจะคิดว่าจะเกิดอะไรขึ้น!
งานนี้ไม่ต้องสืบ เป็นความชุ่ยล้วนๆ ของ "NBM" หรือ บริษัท นอร์ทเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด บริษัทร่วมทุน ของกลุ่ม BTS “เจ้าสัวคีรี” คีรี กาญจนพาสน์ และ บริษัทชิโนไทย ของ "เสี่ยหนูตีสี่" อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย รับก่อสร้าง
หลังเหตุการณ์ NBM ได้ออกมากราบขออภัย และจะเร่งตรวจสอบสาเหตุ แต่งานนี้ต้องบอกว่า กราบขออภัยอย่างเดียวคงไม่พอ ที่จะทำให้กระทรวงคมนาคมให้อภัยหรือไม่ ? เพราะถือว่า เป็นความชุ่ยอย่างรุนแรง
“สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ” รมว.คมนาคม อุตสาห์ลงพื้นที่ไปดูด้วยตา กลับสั่งด้วยวาจาแค่กำชับว่า หากมีครั้งหน้าจะลงโทษหนัก
คำถามก็คือว่า อุบัติเหตุเกิดขึ้นแล้ว สะท้อนถึงประมาทเลินเล่อแบบนี้ ทำไมไม่ลงโทษจัดหนักไปเลย ไม่ใช่แค่สั่งปิดชั่วคราวไม่กี่วัน เพื่อตรวจสอบ ? หรือต้องรอให้มีประชาชนเซ่นสังเวย บาดเจ็บล้มตายจากความชุ่ยของงานเสียก่อน
เพราะถ้าไม่มีบทลงโทษที่สมควร เอกชนผู้รับสัมปทาน มีหรือจะแสดงมาตรการความปลอดภัยให้เข้มงวด และจะมั่นใจได้อย่างไร ว่าจะไม่เกิดเหตุการณ์แบบนี้อีก
ต้องไม่ลืมว่า...รถไฟฟ้าสีชมพู หรือ "สายนมเย็น" นี้ ช่วงแคราย-มีนบุรี เดิมทีเดียวกำหนดก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 61 แต่ก็ดีเลย์มาถึง ปีนี้ ปี 66
ช่วงนี้รถไฟฟ้าสายนมเย็น อยู่ระหว่างการทดลองวิ่งเปิดให้นั่งฟรี แต่หลังปีใหม่จะเก็บค่าโดยสารแล้ว
เพราะฉะนั้น การก่อสร้างต่างๆ จึงเร่งวันเร่งคืน เพื่อให้เปิดเก็บตังค์ให้ทัน ใครผ่านไปผ่านมา ก็จะเห็นถึงความรีบเร่งโดยขาดความระมัดระวัง
นี่จึงนำมาซึ่งความสะเพร่า และชุ่ย จนรางจ่ายไฟฟ้าร่วงลงมาหรือไม่ ?
ทำไม “สุริยะ” ไม่สั่งการให้ “สุรพงษ์ ปิยะโชติ” รัฐมนตรีช่วย ที่รับผิดชอบดูแลงาน "ระบบราง" ดำเนินการหาทางเอาเรื่องกับผู้รับสัมปทาน หรือ กลุ่มบีทีเอส โดยทันที
หรือว่า..กระทรวงคมนาคมยุคนี้ เกรงอกเกรงใจใครอยู่หรือไม่ โดยเฉพาะ "เจ้าสัว" ที่มีสัมปทานรถไฟฟ้า
ยิ่งก่อนหน้า ที่จะมีการจัดสรรเก้าอี้รมต.และหลั งเป็น "สุริยะ-สุรพงษ์" เข้ามาและแบ่งงานกัน ปรากฏว่า “สุริยะ” ที่มีฉายาอีกชื่อหนึ่งว่า "สุริยะมือเหล็ก" กลับกลายเป็น "สุริยะมือไม้อ่อน" ยินยอมมอบงานสำคัญ "ระบบราง" ให้ “สุรพงษ์” ดูแล เพราะ "คุณขอมา"
ตอนนั้น "เสียงครหา" ก็ดังอื้ออึง ไปทั่วกระทรวงว่า เหตุที่ "สุรพงษ์" ดึงงานระบบราง มาดูคนเดียว เพราะง้างมาจากบ้าน ต้องการจะเป็นตัวแทนเข้ามา "ดูแล" เพื่อประโยชน์ให้กับ "เจ้าสัว" หรือไม่ ?
เสียงลือเสียงเล่าอ้างดังกล่าว อาจจะเป็นเพราะ “สุรพงษ์” เป็นเพื่อนร่วมรุ่นกับ "คีรี กาญจนพาสน์" ประธานกรรมการและประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัท บีทีเอส ซึ่งเจ้าตัวก็ได้ตอบปฏิเสธไม่ใช่ "ร่างทรง" ของใครทั้งนั้น
ว่าไปแล้ว รถไฟฟ้าสายนมเย็นนี้ มีเรื่องมาให้กล่าวขานโดยตลอด ตั้งแต่ก่อสร้างล่าช้ากว่ากำหนดโดยที่รัฐไม่ได้ปรับหรือลงโทษปรับ เพราะอ้างว่าเจอสถานการณ์โควิด
แบบว่า อุปถัมภ์ค้ำชูกันมา โดยถ้าเคร่งครัดกันจริงจัง ก็ปรับกันหลังอาน
ประการสำคัญ “เจ้าสัว” เจ้าของสัปทาน เคยพูดและเรียกร้องรัฐมาโดยตลอด เมื่อครั้งเข้าประมูลรถไฟสายสีส้ม ให้ยึดเรื่อง “ราคา” ไม่ต้องดูเรื่อง"เทคนิค"
ครั้นสายสีชมพู เมื่อเกิดเรื่อง จึงเป็นประเด็นย้อนกลับมาถามว่า สร้างกันแบบนี้ ยังจะร้องไม่ต้องดูเทคนิค อีกมั้ย ?
และที่ต้องไม่ลืมก็คือว่า NBM นอกจากมี BTS ผู้ร่วมทุนคนสำคัญ ยังมีหุ้นส่วนคนสำคัญอย่าง “ชิโนทัย” ของตระกูล"ชาญวีรกูล" มีเงาของ "เสี่ยหนูตีสี่" ทะมึนอยู่เบื้องหลัง
เรียกว่าเป็นรถไฟฟ้า"เส้นใหญ่" แข็งปั๋ง
ทั้งดีเลย์ ทั้งชุ่ยตอนทำเสร็จ เกิดทำเรื่องเป็นอันตรายกับชีวิตและทรัพย์สินประชาชน มาประจาน
งานนี้ สิบปากว่า ไม่เท่ากับการกระทำ กรณีนี้จะเป็นบทพิสูจน์สำหรับ “สุรพงษ์” ว่า จะมีท่าทีอย่างไร กล้าจะจัดหนักกับ “เจ้าสัว”และ “เสี่ยหนูตี 4” มั้ย?
ระหว่างประโยชน์สุขของประชาชน กับประโยชน์สุขของนายทุน ท่านเลือกอะไร ?
** จับตาศาลรธน.ไต่สวนคดีล้มล้างการปกครองวันนี้ “พิธา-ชัยธวัช” ไปรับฟังเอง
การประชุมองค์คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ วันนี้ (25 ธ.ค.) จะมีการไต่สวนพยานบุคคลในคดีที่ “นายธีรยุทธ สุวรรณเกสร” อดีตทนายความ อดีตพระพุทธะอิสระ ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญ พิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 ว่าการกระทำของ “นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์” หัวหน้าพรรคก้าวไกล ขณะนั้น ในฐานะผู้ถูกร้องที่ 1 และพรรคก้าวไกล ในฐานะผู้ถูกร้องที่ 2 เสนอร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่...) พ.ศ. .... เพื่อยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 โดยใช้เป็นนโยบายในการหาเสียงเลือกตั้ง และยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เป็นการใช้สิทธิ หรือเสรีภาพ เพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง หรือไม่
ทั้งนี้ ในการเลือกตั้งครั้งล่าสุด การแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ถือเป็นหนึ่งใน 300 นโยบาย ที่พรรคก้าวไกล ใช้ในการหาเสียงเลือกตั้ง โดยพรรคจัดให้นโยบายดังกล่าวอยู่ในหมวดการสร้างประชาธิปไตยเต็มใบ ข้อเสนอการแก้ไขดังกล่าว มีสาระสำคัญดังนี้
ลดโทษของกฎหมายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ให้มีความสอดคล้องกับหลักสากล โดยลดโทษให้เหลือเพียง
ในกรณีหมิ่นพระมหากษัตริย์ จากเดิมจำคุก 3-15ปี ลดโทษเหลือจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 300,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ในกรณีหมิ่นพระราชินี รัชทายาท ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ จากเดิมจำคุก 3-15ปี ลดโทษจำคุกเหลือไม่เกิน 6 เดือน หรือ ปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ลดโทษหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดา โดยจะถูกลดลงจากโทษจำคุก 0-2 ปี เหลือแค่โทษปรับ
ย้ายกฎหมายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ออกจากหมวดความมั่นคง และให้เป็นความผิดที่ยอมความได้ โดยกำหนดให้สำนักพระราชวัง เป็นผู้มีสิทธิแจ้งความ หรือร้องทุกข์กล่าวโทษเพียงผู้เดียว จากเดิมที่ประชาชนทั่วไปสามารถฟ้องร้องคดีนี้ได้
บัญญัติให้ชัดเจนในกฎหมาย เพื่อคุ้มครอง กรณีการวิพากษ์วิจารณ์โดยสุจริต หรือการพูดความจริงที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ ซึ่งเป็นมาตรฐานเดียวกันกับเหตุยกเว้นความผิด และเหตุยกเว้นโทษสำหรับการหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดา
นั่นเป็นจุดยืนที่ชัดเจนของพรรคก้าวไกล ที่มีต่อ มาตรา 112
หลังการเลือกตั้ง ช่วงที่พรรคก้าวไกลเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ก็ยังคงยืนกรานว่า จะต้องบรรจุเรื่องแก้ไข มาตรา 112 ไว้ในนโยบายรัฐบาล จนทำให้ตั้งรัฐบาลไม่สำเร็จ เพราะพรรคการเมืองอื่นๆไม่เอาด้วย
และวันนี้ (25ธ.ค.) ศาลรัฐธรรมนูญ จะเปิดห้องพิจารณาคดี เพื่อไต่สวนคำร้องคดี”ล้มล้างการปกครองฯ” ดังกล่าว โดยมีรายงานว่า ศาลฯ ได้เรียกพยานที่อยู่ในบัญชีรายชื่อพยานบุคคล ที่พรรคก้าวไกล ยื่นต่อศาลฯ จำนวนสองคน ขึ้นให้ถ้อยคำเท่านั้น โดยมี “นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์”ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล และ “นายชัยธวัช ตุลาธน” หัวหน้าพรรคก้าวไกล ซึ่งทั้งคู่ดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรค และเลขาธิการพรรคช่วงหาเสียงเลือกตั้ง ไปร่วมรับฟังการไต่สวนในครั้งนี้
“ธีรยุทธ สุวรรณเกสร” ในฐานะผู้ร้อง พูดถึงคำร้องในคดีนี้ว่า...
“เป็นเรื่องของการขอให้ ศาลฯวินิจฉัยว่า เห็นควรให้พรรคก้าวไกล หยุดการรณรงค์หาเสียง หรือการรณรงค์ให้ยกเลิกการแก้ไข มาตรา 112 ได้หรือไม่ เพราะหากยังคงปล่อยให้มีการเสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติม หรือร่างยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 จนมีการนำร่างดังกล่าว เข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาได้ ก็จะทำให้อาจเกิดการก้าวล่วงต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยที่ตอนเสนอร่างแก้ไขเข้าสภาฯ แล้วทางรัฐสภามีการพิจารณา ทางสมาชิกรัฐสภาทั้ง สส.และสว. เวลาเขาอภิปราย เขาจะได้เอกสิทธิ์คุ้มครอง เวลาอภิปรายเรื่องนี้ รวมถึงยังคุ้มครองถึงคนที่จะนำข้อความการอภิปรายดังกล่าวไปเผยแพร่ต่อด้วย ที่อาจมีผลกระทบกระเทือนต่อความมั่นคงของสถาบันพระมหากษัตริย์ คำร้องคดีนี้ จึงเป็นการขอให้ศาลรัฐธรรมนูญ มีคำสั่งให้พรรคก้าวไกล ยุติการเคลื่อนไหวในเรื่องการแก้ไข หรือยกเลิก มาตรา 112” นายธีรยุทธ กล่าว
นั่นจึงทำให้ “ชัยธวัช ตุลาธน”หัวหน้าพรรคก้าวไกล มีความมั่นใจว่าคดีนี้ไม่ถึงยุบพรรค
“ผมไม่กังวลว่าจะไปถึงการยุบพรรค เพราะคดีนี้เป็นการร้องให้ยุติการกระทำ ไม่สามารถไปไกลถึงเรื่องยุบพรรคได้ ทั้งนี้ พรรคต่อสู้เต็มที่ เพราะการเสนอร่างกฎหมายใดๆ ไม่สามารถนำไปสู่การล้มล้างการปกครองได้ เพราะกระบวนการทางนิติบัญญัติ มีกรอบชัดเจนว่า ไม่สามารถขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญได้” นายชัยธวัช กล่าว
ก็ต้องติดตามกันต่อไปว่า หลังการไต่สวนพยานในวันนี้เสร็จสิ้นแล้ว ศาลฯจะประกาศกำหนดวันนัดประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อลงมติ และอ่านคำวินิจฉัยคดีดังกล่าว โดยคาดว่า อาจจะนัดช่วงสิ้นเดือนม.ค.67 หรือไม่เกินสัปดาห์แรกของเดือนก.พ.67 ที่จะเป็นการนัดต่อจาก คดีหุ้นสื่อไอทีวี ของ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” ที่ศาลฯไต่สวนเมื่อ 20 ธ.ค.เสร็จ ศาลก็นัดอ่านคำวินิจฉัย 24 ม.ค.67
คดีนี้หากถึงที่สุดศาลฯ ยกคำร้อง ก็ถือว่ายุติ แต่หากศาลฯ มีคำสั่งให้พรรคก้าวไกล ยุติการเคลื่อนไหวทุกอย่างในเรื่องมาตรา 112 อาจทำให้มีบางฝ่าย ไปยื่นเรื่องต่อ นายแสวง บุญมี เลขาธิการ กกต.ในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมือง เพื่อให้กกต. ยื่นคำร้องเอาผิด นายพิธา และพรรคก้าวไกล ต่อศาลรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 92 (2) ของพ.ร.บ.พรรคการเมืองฯ ที่บัญญัติว่า
“หากพรรคการเมืองใดกระทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองฯ ให้ กกต.ยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญ สั่งยุบพรรค และเพิกถอนสิทธิ์สมัครรับเลือกตั้งของคณะกรรมการบริหารพรรค”