เมื่อเร็วๆนี้ ที่วิทยาลัยเทคนิคสมุทรสงคราม จ.สมุทรสงคราม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ คณะกรรมการบูรณาการกู้ชีพฉุกเฉินและความปลอดภัยทางถนน วุฒิสภา พร้อมสื่อมวลชน ลงพื้นที่ศึกษาโครงการ ดื่มไม่ขับ ไม่กลับเอง เน้น...ปลอดภัย สวมใส่หมวกกันน็อก โดยครูและนักศึกษาแกนนำภายใต้โครงการ “พัฒนาเครือข่ายและหนุนเสริมศักยภาพครูและแกนนำผู้เรียนอาชีวศึกษาป้องกันปัจจัยเสี่ยง (เหล้า บุหรี่) ในสถานศึกษา” ระยะที่ 2 ที่ สสส. ให้การสนับสนุน โดยมีผู้อำนวยการวิทยาลัยคณะครูนักศึกษาให้การต้อนรับ พร้อมนำเสนอการแสดงละครสั้นสะท้อนผลกระทบเมาแล้วขับ และผลการดำเนินโครงการฯ
นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย ประธานกรรมการบูรณาการกู้ชีพฉุกเฉินและความปลอดภัยทางถนน วุฒิสภา กล่าวว่า วุฒิสภาให้ความสำคัญและดำเนินงานความปลอดภัยทางถนนอย่างต่อเนื่อง โดยร่วมกับภาคี เครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชน ซึ่งจากการดำเนินงานที่ผ่านมาพบว่า ‘เครื่องดื่มแอลกอฮอล์’ เป็น สาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุ ซึ่งการจัดทำโครงการกับเยาวชนนับเป็นการแก้ปัญหาได้อย่างตรงจุด และทางคณะกรรมการฯ ยังได้ร่วมกับ สสส. และภาคีเครือข่าย รณรงค์สื่อสารสร้างความตะหนักไปยังพี่น้องประชาชนให้เพิ่มความระมัดระวังเนื่องจากขณะนี้เข้าใกล้ช่วงเทศกาลปีใหม่ 2567 ที่จะมีการเดินทางท่องเที่ยวฉลองของพี่น้องประชาชนทั่วประเทศ ด้วยความห่วงใยจึงได้พัฒนาแคมเปญรณรงค์เพื่อเน้นย้ำถึงการ “ดื่มไม่ขับ” สื่อสารสร้างการรับรู้และตระหนักถึงผลของการดื่มแอลกอฮอล์ที่มีผลต่อสมอง ทำให้ความสามารถในการขับขี่ลดลง
“จากรายงานการเกิดอุบัติเหตุทางถนน โดยข้อมูลการบูรณาการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน 3 ฐาน ในปี 2554-2566 พบว่ามีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนแล้วกว่า 250,000 ราย ยังไม่ร่วมผู้บาดเจ็บนับล้านคน โดย ร้องละ 4.6 ของผู้บาดเจ็บจะกลายเป็นผู้พิการ ในจำนวนผู้เสียชีวิตกว่าร้อยละ 70 เป็นวัยเด็กและวัย ทำงาน ซึ่งเป็นกำลังหลักของครอบครัว โดยสาเหตุหลักมาจาก ใช้ความเร็วเกินกฎหมายกำหนด ดื่มแล้วขับ ไม่สวมหมวกนิรภัย และไม่เคารพกฎจราจร” และในช่วงเทศกาลปีใหม่เองก็ควรเฝ้าระวังอย่างยิ่งในเรื่องของการดื่มแอลกอฮอล์แล้วมาขับขี่ เพราะเป็นสาเหตุการตายราว 30-40% นายสุรชัย กล่าว
นางสาวรุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ ผู้อำนวยการสำนักการควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลัก สสส. กล่าวว่า โครงการพัฒนาเครือข่ายและหนุนเสริมศักยภาพครูและแกนนำผู้เรียนอาชีวศึกษาป้องกันปัจจัยเสี่ยง (เหล้า บุหรี่) ในสถานศึกษา สสส. ได้ร่วมกับภาคีเครือข่ายในการทำงานเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันเยาวชนให้รู้เท่าทันปัจจัยเสี่ยง เหล้า บุหรี่ ในสถานศึกษามาอย่างต่อเนื่อง และได้ร่วมถอดบทเรียนหัวใจของการทำงาน จนนำมาสู่การขยายพื้นที่ 45 สถาบันการศึกษาอาชีวศึกษา พร้อมเพิ่มองค์ความรู้การป้องกันอุบัติเหตุบนท้องถนนร่วมด้วย เนื่องจากเป็น ปัจจัยเสี่ยงที่มีความเกี่ยวข้องกัน สสส. และภาคีเครือข่าย เดินหน้าในการร่วมพัฒนาครูและแกนนำนักศึกษาอาชีวศึกษา เพื่อที่จะสามารถส่งต่อไปยังเพื่อน ครอบครัวและสังคม
“ในการดำเนินกิจกรรมทั้ง 45 สถาบัน จะมีครู นักเรียน นักศึกษาเข้าร่วมโครงการจำนวนมาก เพื่อสร้างแกน นำครู นักเรียน นักศึกษา โดยจะเริ่มจากการอบรมฝึกเขียนโครงการ และนำโครงการที่ได้มาต่อยอดในสถานศึกษาและชุมชนของตัวเอง สสส. หวังเป็นอย่างยิ่งว่าแกนนำกลุ่มนี้ จะเป็นกำลังสำคัญในการช่วยป้องกันปัจจัยเสี่ยงทั้งประเด็น เหล้า บุหรี่ และอุบัติเหตุทางถนน” นางสาวรุ่งอรุณ กล่าว
ด้าน นายอรุณ เกลื่อนพันธ์ ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคสมุทรสงคราม กล่าวว่า หลังจากได้ส่งตัวแทนครูและนักศึกษาแกนนำเข้าร่วมอบรมโครงการพัฒนาเครือข่ายและหนุนเสริมศักยภาพครูและแกนนำนักเรียน นักศึกษาอาชีวศึกษา ป้องกันปัจจัยเสี่ยง (เหล้า บุหรี่) ในสถานศึกษา ระยะที่ 2 เพื่อการขับเคลื่อนนโยบายสู่การปฏิบัติ ทำให้แกนนำนักเรียนนักศึกษา ได้ดำเนินโครงการดื่มไม่ขับ ไม่กลับเอง เน้นปลอดภัย สวมใส่หมวกกันน็อก ขึ้น ซึ่งกิจกรรมดังกล่าว มีวัตถุประสงค์เพื่อให้นักเรียน นักศึกษา มีพฤติกรรมการขับขี่ปลอดภัย ดื่มไม่ขับ และสวมใส่หมวกกันน็อก เพื่อกระตุ้นนักเรียน นักศึกษา ให้มีการสวมใส่หมวกกันน็อกเพิ่มมากขึ้น ลดการเกิดอุบัติเหตุทางถนน และเพื่อรณรงค์ป้องกันปัจจัยเสี่ยงเหล้า-บุหรี่ ในสถานศึกษา โดยมีทั้งกิจกรรมการประกวด DIY หมวกกันน็อก “แม่กลองรวมพลคนหัวแข็ง” กิจกรรมการประกวดออกแบบป้ายรณรงค์ “ดื่มไม่ขับ ไม่กลับเอง เน้นปลอดภัย สวมใส่หมวกกันน็อก” และกิจกรรมการวาดภาพและแต่งคำขวัญ “ฉัน ไม่ เอา เหล้าและบุหรี่” โดยมีนักศึกษาเข้าร่วมกิจกรรมจำนวน 150 คน
“นอกวิทยาลัยเทคนิคสมุทรสงคราม มีร้านค้าจำหน่ายเหล้า บุหรี่ เป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นร้านขายของชำ ร้านสะดวกซื้อ และตามริมท้องถนน รวมไปถึงสื่อโซเชียลมีเดียต่าง ๆ ส่งผลให้มีนักศึกษา รวมตัวกันหนีและไม่เข้าเรียนไปมั่วสุมตามสถานที่ต่าง ๆ เช่น บ้านเพื่อน ร้านค้า สถานที่อโคจร เป็นต้น จึงเกิดปัญหาตามมา อาทิ การทะเลาะวิวาท การเกิดเสียงรบกวน การไม่เข้าเรียน และร้ายแรงที่สุดคือการเกิดอุบัติเหตุทางถนน ซึ่งมีสถิติการเกิดอุบัติเหตุทางถนน เหตุผลส่วนมากเกิดจากการดื่มเหล้าเมาและไม่สวมใส่หมวกกันน็อกกันเป็นจำนวนมาก ซึ่งโครงการของ สสส. ช่วยทุเลาปัญหาได้อย่างมาก” นายอรุณ กล่าว