วันนี้(23 ธ.ค.)ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธาน Kick Off "ไถกลบตอซัง สร้างดินยั่งยืน พื้นสิ่งแวดล้อม" ที่จัดขึ้นโดยกรมพัฒนาที่ดิน มีศูนย์กลางการจัดงาน ณ บ้านแม่กุ้งบก ตำบลสันกลาง อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่ ร่วมกับอีก 55 จังหวัดที่มีความเสี่ยงต่อการเผา (Hot Spot! ทั่วประเทศ โดยถ่ายทอดสดพร้อมกันผ่านระบบZoom Conference Meeting และ Facebook Live ผ่านเพจเฟซบุ๊กกรมพัฒนาที่ดิน โดย นายอนุซา นาคาศัย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วม Kick off ณ องค์การบริหารส่วนตำบลหนองโสน อ.เลาขวัญ จ.กาญจนบุรี และนายชาดา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ร่วม Kick Off ณ บ้านศิลาทอง อ.บ้านไร่ จ.อุทัยธานี โดยภายในงาน มีนายประยูร อินสกุล ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้บริหารกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หน่วยงานราชการ ภาคเอกชน ผู้นำชุมชน หมอดินอาสา เกษตรกร และประชาชน เข้าร่วมงานทั่วประเทศกว่า 20,000 ราย
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ประเทศไทยประสบปัญหามลพิษทางอากาศ สาเหตุหนึ่งเกิดจากการเผาพื้นที่ป่าไม้และวัสดุทางการเกษตรเพื่อเตรียมแปลงปลูกพืชในฤดูถัดไป ซึ่งเป็นการสร้างมลพิษทางอากาศนำไปสู่ภาวะโลกร้อน พื้นที่ป่าเสื่อมโทรม สูญเสียอินทรียวัตถุและธาตุอาหารในดิน ทำลายโครงสร้างดินที่เหมาะสม และทำลายห่วงโซ่อาหาร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมขับเคลื่อนการป้องกันและแก้ไขปัญหาการเผาในพื้นที่เกษตรกรรม เพื่อแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5) และให้บรรลุเป้าหมายการลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิให้เป็นศูนย์ภายในปี พ.ศ. 2613 ตามที่ได้ให้คำมั่นไว้ในเวทีโลก ซึ่งการจัดงานในวันนี้ถือเป็นนิมิตรหมายที่ดีที่ทุกภาคส่วนได้ร่วมมือกันเพื่อหยุดการเผาในพื้นที่เกษตรกรรม สร้างความตระหนักรู้ถึงปัญหาจากการเผาที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรดิน จึงขอให้ทุกคนร่วมแรงร่วมใจ ไถกลบตอซัง สร้างดินยั่งยืน ฟื้นสิ่งแวดล้อม เพื่อนำมาซึ่งความมั่นคงทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมของประเทศไทยต่อไป
ด้าน นายปราโมทย์ ยาใจ จธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน กล่าวว่า กรมพัฒนาที่ดิน ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการส่งเสริมให้
เกษตรกร ลด ละ เลิก การเผาเศษวัสดุทางการเกษตร เช่น ตอซังข้าว ข้าวโพด และอื่น ๆ เปลี่ยนมาใช้วิธีไถกลบตอซังพืชแทนการเผา ซึ่งเศษวัสดุการเกษตรเหล่านี้มีส่วนประกอบของธาตุอาหารพืชและอินทรียวัตถุที่เป็นประโยชน์ต่อพืช แต่เกษตรกรยังขาดการจัดการที่เหมาะสม มีการเผาทิ้งหลังการเก็บเกี่ยว ซึ่งจะทำให้เกิดการสูญเสียอินทรียวัตถุและธาตุอาหารในดินแล้ว ทำให้โครงสร้างของดินเปลี่ยนแปลงไป เนื้อดินจับตัวกันแน่นและแข็ง ทำลายจุลินทรีย์ดินและแมลงที่เป็นประโยชน์ต่อพืช และที่สำคัญเป็นสาเหตุทำให้เกิดหมอกควัน และฝุ่นละออง PM 2.5 ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญที่ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวสิ่งแวดล้อม รวมทั้งสุขภาพอนามัยของประชาชน และรัฐบาลได้ประกาศให้ปัญหาหมอกควันเป็นปัญหาวิกฤติสำคัญที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน
การจัดงานรณรงค์ "ไถกลบตอซัง สร้างดินยั่งยืน ฟื้นสิ่งแวดล้อม" ประจำปีงบประมาณ2567 ในวันนี้เพื่อปลุกจิตสำนึก และเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกร ทำการเกษตรโดยไม่เผา หันมาไถกลบตอซัง เป็นปุ๋ยปรับปรุงบำรุงดิน และสาธิตวิธีการไถกลบตอซังที่ถูกต้องและเหมาะสมให้แก่เกษตรกรนำไปปฏิบัติใช้ในพื้นที่ ของตนเอง นอกจากนี้ ยังช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม ลดหมอกควัน ฝุ่นละออง PM 2.5 และภาวะโลกร้อน ที่เกิดจากการเผาตอซังพืช ซึ่งภายในงานมีการจัดแสดงนิทรรศการร่วมกับหน่วยงานภาคีครื่อข่าย สาธิตการไถกลบตอซังพืช
ทั้งนี้ ร้อยเอกธรรมนัส ได้เป็นผู้นำขบวนรถเพื่อไถกลบตอซังพืชพร้อมกันทั่วประเทศ รวมทั้งมีการแจกเมล็ดพันธุ์พืชปุ๋ยสดให้เกษตรกรร่วมหว่านเมล็ดพันธุ์ในแปลงสาธิตอีกด้วย