xs
xsm
sm
md
lg

ป.ป.ช.ขอหลักฐานเพิ่มเติม “วีระ” จัดหนัก ธุรกิจต่างตอบแทน ปมเงินลงทุน 5.5 พันล้าน สภา มสธ.งานเข้า ส่อขาดธรรมาภิบาลอย่างร้ายแรง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ป.ป.ช.ขอหลักฐานเพิ่มเติม “วีระ” จัดหนัก ธุรกิจต่างตอบแทน ปมเงินลงทุน 5.5 พันล้าน สภา มสธ.งานเข้า ส่อขาดธรรมาภิบาลอย่างร้ายแรง ประธานเครือข่ายประชาชนต้านคอร์รัปชัน วอนรัฐมนตรีกระทรวง อว. เร่งสะสาง
วันนี้ (19 ธ.ค.) รายงานข่าวแจ้งว่า เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2566 นายวีระ สมความคิด ประธานเครือข่ายประชาชนต้านคอร์รัปชัน (คปต.) ได้ส่งหลักฐานพยานและคำกล่าวหาเพิ่มเติมให้กับ ป.ป.ช. กรณีสภามสธ.นำเงินรายได้ไปลงทุน จำนวนกว่า 5,500 ล้านบาท สรุปพอสังเขป ดังนี้

ข้อ 1. ประวัติของประธานคณะกรรมการบริหารเงินรายได้และทรัพย์สินของ มสธ. มีความเกี่ยวข้องกับบริษัทในเครือธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) โดยปัจจุบันดำรงตำแหน่งกรรมการ กรรมการบริหาร และ ประธานกรรมการสรรหาและกำหนดค่าตอบแทน บริษัทกรุงเทพประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) โดยเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2563 สภามหาวิทยาลัย มสธ.ได้มีมติเห็นชอบเพิ่มบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวมบัวหลวง (จำกัด) เพื่อนำเงินรายได้ของมหาวิทยาลัยไปลงทุนหรือหาผลประโยชน์จำนวน 500 ล้านบาท ข้อเท็จจริงพบว่า บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวมบัวหลวง (จำกัด) มีโครงสร้างผู้ถือหุ้น ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ร้อยละ ๗๕ และบริษัทกรุงเทพประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) ร้อยละ ๑๐ Asia Financial Holding Ltd. และบริษัท กรุงเทพประกันภัย จำกัด (มหาชน) ร้อยละ 10

ด้วยเหตุนี้ จึงเชื่อได้ว่า ประธานคณะกรรมการบริหารเงินรายได้และทรัพย์สินของมสธ.ในฐานะ กรรมการ กรรมการบริหาร และประธานกรรมการสรรหาและกำหนดค่าตอบแทน บริษัท กรุงเทพประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) มีพฤติการณ์การขัดกันแห่งผลประโยชน์ ไม่มีความเป็นกลาง มีส่วนได้ส่วนเสียและเอื้อประโยชน์ให้โดยตรงกับบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวมบัวหลวง (จำกัด) ในสาแหรกเดียวกันของบริษัทเครือธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)

ข้อ 2. ยังปรากฏพบว่า ประธานคณะกรรมการบริหารเงินรายได้และทรัพย์สิน ของ มสธ. มีความเกี่ยวข้องกับบริษัท อินโดรามาเวนเจอร์ส จำกัด (มหาชน) ในฐานะเคยเป็นกรรมการ กรรมการตรวจสอบและกรรมการคณะธรรมาภิบาล สรรหา และกำหนดผลตอบแทน ซึ่งต่อมาปรากฎเอกสารหลักฐานในรายงานการประชุมคณะกรรมการบริหารเงินรายได้และทรัพย์สิน ครั้งที่ 17/2566 วันที่ 13 กันยายน 2566 สรุปความเกี่ยวข้องว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบนำเงินไปลงทุนในหุ้นกู้ ในบริษัท อินโดรามาเวนเจอร์ส จำกัด (มหาชน) จำนวน 50 ล้านบาท

ข้อ 3. มสธ. ไม่มีอำนาจนำเงินไปให้บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนหาประโยชน์ และการคัดเลือกและอนุมัติบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน 4 บริษัท ได้กระทำไปก่อนการมีข้อบังคับ มสธ. ที่ให้นำเงินไปลงทุนได้ สภา มสธ. ได้อาศัยอำนาจตามมาตรา 15 (2) และ (8) แห่งพรบ.มสธ. 2521 ออกข้อบังคับมสธ.ว่าด้วยการบริหารเงินรายได้และทรัพย์สินของมหาวิทยาลัย พ.ศ. 2561 แต่เมื่อตรวจสอบข้อกฎหมายและข้อเท็จจริงแล้ว มติสภา มสธ. ที่ให้นำเงิน มสธ. ไปให้บริษัทเอกชนหาประโยชน์เป็นจำนวนมากถึง 5,500 ล้านบาท นั้น ปรากฏว่า ไม่ถูกต้องทั้งข้อกฎหมายและข้อเท็จจริง

กรณีที่จะนำมาอ้างให้เห็นว่า การนำเงินของมหาวิทยาลัยไปลงทุนดังกล่าวไม่สามารถทำได้ เช่น บันทึกสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่องเสร็จที่ 438/2547 เรื่อง การนำเงินของสำนักงาน สลากกินแบ่งรัฐบาลไปลงทุนในตราสารทางการเงิน เนื่องจากสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลได้จัดทำแผนธุรกิจปี 2547 เรื่อง “โครงการบริหารเงินสดให้เกิดประโยชน์สูงสุด” โดยนำเงินไปลงทุนในตราสารทางการเงินซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มทางเลือกในการบริหารเงินและทำให้สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลมีรายได้เพิ่มขึ้น อันจะส่งผลให้การนำส่งรายได้แผ่นดินสูงขึ้นไป คณะกรรมการกฤษฎีกามีคำวินิจฉัยว่าสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลไม่อาจนำเงินไปลงทุนในกรณีดังกล่าวได้ เพราะจะต้องเป็นไปตามบทบัญญัติที่กฎหมายกำหนดเท่านั้น
ดังนั้น การนำเงินไปลงทุนโดยการจัดการกองทุนลักษณะนี้ ประการแรก ต้องมีกฎหมายให้อำนาจ และประการที่สอง เมื่อมีกฎหมายให้อำนาจแล้วต้องมีหลักเกณฑ์การควบคุมหรือกำกับดูแลที่มีประสิทธิภาพด้วย

กรณีของ มสธ. อาศัยเพียงอำนาจตามมาตรา 15(2) และ (8) ซึ่งเป็นอำนาจการวางระเบียบข้อบังคับ ระเบียบการเงินและทรัพย์สินทั่วไป มิใช่การนำเงินไปลงทุน จึงไม่อาจอาศัยอำนาจการวางระเบียบการเงินและทรัพย์สินทั่วไปนี้ ไปออกข้อบังคับเกี่ยวกับการลงทุนได้ อันนี้คือข้อกฎหมาย ซึ่งเป็นประเด็นใหญ่มาก ส่วนอีกด้าน คือ ข้อเท็จจริง ตามข้อเท็จจริง สภามสธ. ออกข้อบังคับให้นำเงินมหาวิทยาลัยไปลงทุนได้ โดยมีชื่อเต็มว่า “ข้อบังคับ มสธ. ว่าด้วยการบริหารเงินรายได้และทรัพย์สินของมหาวิทยาลัย พ.ศ. 2561 (ฉบับที่ 5) ” ออกเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2561
แต่ข้อบังคับนี้ยังไม่ทันออก ปรากฏข้อเท็จจริงตามเหตุการณ์ ที่สำคัญ ดังนี้
วันที่ 26 มิถุนายน 2561 คณะกรรมการการเงินและทรัพย์สินจัดทำกรอบการลงทุนวงเงินไม่เกิน 7,00 ล้านบาท
วันที่ 16 กรกฎาคม 2561 คณะกรรมการการเงินและทรัพย์สินกำหนดเกณฑ์การคัดเลือกบริษัทหลักทรัพย์จัดการเงินทุน
วันที่ 31 กรกฎาคม 2561 สภา มสธ. มีมติเห็นชอบกรอบการลงทุนตามที่คณะกรรมการการเงินและทรัพย์สินเสนอ
วันที่ 17 สิงหาคม 2561 คณะกรรมการการเงินและทรัพย์สินคัดเลือกบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนจาก 9 บริษัทเหลือ 4 บริษัท
วันที่ 13 กรกฎาคม 2561 คณะกรรมการการเงินและทรัพย์สินคัดเลือก 4 บริษัทนี้ได้เงินไปลงทุนขั้นต้นบริษัทละ 500 ล้านบาท รวมกันเป็นเงินทั้งหมดขั้นต้นจำนวน 2,000 ล้านบาท
วันที่ 27 กันยายน 2561 สภา มสธ. มีมติรับทราบและเห็นชอบกับการคัดเลือกบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน 4 บริษัท
ดังนั้น ข้อบังคับที่ให้ มสธ.เอาเงินลงทุนให้บริษัทออก เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2561 นอกจากออกโดยไม่มีอำนาจแล้ว ขณะที่ข้อบังคับยังไม่ทันออก ก็คัดเลือกบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน 4 บริษัทได้เรียบร้อยแล้ว อันที่จริงอย่างน้อยที่สุด ก็ต้องให้บริษัทสมัครและคัดเลือกใหม่ ตามข้อบังคับที่ออกใหม่ แต่ถ้าข้อบังคับออกมาโดยไม่มีอำนาจทุกอย่างก็ต้องโมฆะหมดตั้งแต่ต้น

ข้อ 4. มสธ.ทำหนังสือไปขอหารือกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง แต่ไม่ทันที่กรมบัญชีกลางตอบ สภา มสธ. มีมติให้นำเงินไปให้บริษัทลงทุนก่อน หลังจากนั้น เมื่อกรมบัญชีกลางตอบหนังสือและเสนอแนะ ก็ไม่ทำตาม เนื่องจากได้ตัดสินใจไปก่อนแล้ว มสธ. ทำหนังสือไปขอหารือกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง ว่า การนำเงินรายได้ของ มสธ. ไปลงทุนอยู่ภายใต้ พรบ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ได้หรือไม่ ต่อมา กรมบัญชีกลาง มีหนังสือ ที่ กค. (กวจ.) 0405.2/05782 ลงวันที่ 28ธันวาคม 2561 ตอบ มสธ. ว่า การนำเงินรายได้ของ มสธ. ไปลงทุนไม่อยู่ภายใต้พรบ.การจัดซื้อจัดจ้างดังกล่าว แต่ท้ายหนังสือ กรมบัญชีกลางระบุว่า “ในส่วนของการดำเนินการจ้างบริษัทจัดการกองทุนดังกล่าว มหาวิทยาลัยจะดำเนินการได้หรือไม่ อย่างไร มหาวิทยาลัยย่อมที่จะขอความเห็นชอบไปยังสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาต่อไป”
กรมบัญชีกลางยืนยันชัดว่าในส่วนของการดำเนินการจ้างบริษัทจัดการกองทุนดังกล่าว มหาวิทยาลัยจะดำเนินการได้หรือไม่ อย่างไร มหาวิทยาลัยย่อมที่จะขอความเห็นชอบไปยังสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาเสียก่อน

ดังนั้น การที่สภา มสธ. มีมติให้นำเงินไปให้บริษัทหลักทรัพย์จัดการเงินทุน 4 บริษัทหาประโยชน์ ตั้งแต่วันที่27 กันยายน 2561 แล้ว แต่หนังสือกรมบัญชีกลางตอบกลับมาเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม ซึ่งจะเห็นได้ว่าสภา มสธ.ได้รีบดำเนินการ โดยยังไม่มีความชัดเจนว่า มสธ.จะสามารถดำเนินการได้หรือไม่ ซึ่งการกระทำดังกล่าวเข้าข่ายเป็นการกระทำความผิด เนื่องจากไม่มีกฎหมายหรือระเบียบของมหาวิทยาลัยให้อำนาจไว้ หลังจากนั้น วันที่ 11 มีนาคม 2562 สภา มสธ.จึงได้เพิ่มเงินลงทุนไปอีกจนเป็นเงิน 5,500 ล้านบาท และยังนำเงินรายได้ของมหาวิทยาลัยไปลงทุนในประเภทหุ้นกู้ อีกกว่า 361 ล้านบาท

ทั้งนี้ รายงานข่าวเพิ่มเติมว่า นายวีระ ได้กล่าวหา ประธานคณะกรรมการบริหารเงินรายได้และทรัพย์สินของมหาวิทยาลัย โดยเชื่อว่า มีพฤติการณ์เข้าข่ายผลประโยชน์ทับซ้อน เป็นผู้มีส่วนได้ ส่วนเสีย เพราะในฐานะที่ทำงานมีความเกี่ยวข้องทั้งทางตรงหรือทางอ้อม กับ บริษัทกรุงเทพประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวมบัวหลวง (จำกัด) และบริษัท อินโดรามาเวนเจอร์ส จำกัด (มหาชน) ที่มีเจตนานำเงินรายได้ของ มสธ.ไปลงทุน ไม่มีความโปร่งใส และเชื่อว่า จะมีผลประโยชน์จากการกระทำนี้ที่เป็นธุรกิจต่างตอบแทนในลักษณะค่าเงินปากถุง อึกทั้ง มสธ.ไม่มีอำนาจทางกฎหมาย และได้กระทำไปก่อน มีข้อบังคับ มสธ.ว่าด้วยการบริหารเงินรายได้และทรัพย์สินของมหาวิทยาลัย พ.ศ. 2561 (ฉบับที่ 5 ) โดยมีการกำหนดเลือกบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน 4 แห่ง ไว้ก่อนล่วงหน้า อาจเป็นการกระทำที่มิชอบด้วยกฎหมาย จึงเข้าข่ายมีความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานของรัฐผู้ใดปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามมาตรา 172 แห่งพรบ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 ตลอดจนขัดต่อพรบ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 มาตรา 7 มาตรา 44 และมาตรา 47 และมีเจตนาที่จะไม่ปฏิบัติตามหนังสือของกรมบัญชีกลางที่ต้องขออนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาในฐานะหน่วยงานบังคับบัญชามหาวิทยาลัยตามกฎหมายก่อนที่จะนำเงินไปลงทุน

ประธานเครือข่ายประชาชนต้านคอร์รัปชัน (คปต.) กล่าวทิ้งท้ายว่า “อย่างนี้ ไม่เรียกว่า ส่อขาดธรรมาภิบาลอย่างร้ายแรง แล้วจะเรียกว่าอะไรดี ท่านรัฐมนตรีกระทรวง อว.ที่เคารพ รีบสะสาง มสธ.ด่วน”




กำลังโหลดความคิดเห็น