“รองนายกฯ สมศักดิ์” นั่งหัวโต๊ะประชุมแก้ปัญหาสภาเครือข่ายประชาชนชนอีสาน เคาะตั้ง อนุกรรมการ 4 ชุด แก้ปัญหาที่ดินทำกิน-หนี้สิน-ฟื้นฟูอาชีพ แนะ ใช้กฎหมายไกล่เกลี่ยหนี้ ช่วยแก้หนี้ให้เกษตรกร ยกตัวอย่าง สมัยนั่ง ยธ. ช่วยแก้หนี้ให้ประชาชนได้ 1 แสนครอบครัว ขอทุกฝ่าย ช่วยลงลึกแยกหนี้ให้ชัดเจน
วันที่ 18 ธันวาคม 2566 นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาของสภาเครือข่ายประชาชนอีสาน (สอส.) สภาประชาชน 4 ภาค โดยมี นายกิตติกร โลห์สุนทร รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง นายวิชัย ไชยมงคล ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี นายประพาส โงกสูงเนิน ประธานสภาเครือข่ายประชาชนอีสาน (สอส.) สภาประชาชน 4 ภาค และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วม ที่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ทำเนียบรัฐบาล
โดย นายสมศักดิ์ กล่าวว่า การประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาของสภาเครือข่ายประชาชนอีสาน เพื่อติดตามการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกิน ปัญหาหนี้สิน และการฟื้นฟูอาชีพ หลังคณะรัฐมนตรี มีมติเห็นชอบในการแก้ปัญหา ตั้งแต่วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2552 แต่ปัจจุบัน เกษตรกร ยังไม่ได้รับการแก้ปัญหาให้ทั้งหมด ซึ่งคณะรัฐมนตรี เห็นชอบให้จัดสรรที่ดินให้กลุ่มเกษตรกร จำนวน 1,889 ราย จากที่ซื้อที่ดินในพื้นที่ 18 จังหวัด รวม 15,062 ไร่ โดยมีเกษตรกร เข้าทำประโยชน์ในที่ดินแล้ว 1,025 ราย พื้นที่ 12,576 ไร่ ดังนั้น ปัจจุบันยังมีเกษตรกร ที่ยังไม่ได้รับการจัดสรรที่ดิน จำนวน 864 ราย เนื่องจากเกษตรกรบางรายขาดคุณสมบัติ ไม่มายืนยันตน หรือ เสียชีวิต จึงทำให้คงเหลือที่ดิน 1,747 ไร่
นายสมศักดิ์ กล่าวอีกว่า กลุ่มเกษตรกร จึงเรียกร้องให้นำที่ดินที่คงเหลือ มาจัดสรรให้เกษตรกร รวมถึงกลุ่มเกษตรกร มีการเรียกร้องขอให้แก้ไขปัญหาหนี้สิน และการฟื้นฟูอาชีพ จึงมีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ 4 คณะ คือ คณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาที่ดินและป่าไม้ คณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาหนี้สินของเกษตรกร คณะอนุกรรมการส่งเสริมและฟื้นฟูอาชีพภาคเกษตร และ คณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาแหล่งน้ำทั้งระบบ เพื่อพิจารณาแก้ไขปัญหาความเดือดร้อน และกำหนดมาตรการในการช่วยเหลือได้อย่างเหมาะสม
“เรื่องการแก้ปัญหาหนี้สินให้กับเกษตรกร ผมอยากแนะนำให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ใช้กฎหมายไกล่เกลี่ยหนี้สิน ของกระทรวงยุติธรรม เหมือนตอนที่ผมเป็น รมว.ยุติธรรม ก็ได้ช่วยไกล่เกลี่ยหนี้ให้ประชาชนกว่า 1 แสนครอบครัว ดังนั้น ขอให้ติดตามว่า จะใช้กฎหมายนี้ เข้าไปช่วยเหลือได้อย่างไรบ้าง รวมถึงหนี้ของเกษตรกร อาจจะต้องไปบูรณาการแก้ปัญหากับหน่วยงานอื่น เช่น กองทุนหมู่บ้าน ที่ผมกำลังผลักดันการส่งเสริมอาชีพ ด้วยการเลี้ยงวัว เพื่อแก้ปัญหาความยากจน ซึ่งเกษตรกร ที่เป็นหนี้ อาจจะมาร่วมการส่งเสริมอาชีพ เพื่อให้มีเงินไปใช้หนี้ได้ นอกจากนี้ ผมก็ขอแนะนำให้ทุกฝ่าย ช่วยกันแยกว่า เกษตรกรเป็นหนี้จำนวนกี่ราย และแบ่งกลุ่มมูลค่าหนี้ เพื่อจะได้กำหนดมาตรการช่วยแก้ปัญหาได้ตรงเป้า จึงขอให้ช่วยกันลงลึกในรายละเอียด จะได้แก้ปัญหาได้อย่างเป็นรูปธรรม” รองนายกรัฐมนตรี กล่าว