xs
xsm
sm
md
lg

"พลภูมิ วิภัติภูมิประเทศ" จาก สส.สู่ ผู้ช่วย รมว.วัฒนธรรม "ทุกความสำเร็จ ล้วนมาจากความพยายาม"

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



"การทำงานการเมืองไม่มีอะไรแน่นอน คนที่ประสบความสำเร็จในอาชีพหลายคนล้วนผ่านจุดที่ท้อที่สุด ตกต่ำที่สุด มาแล้วทั้งนั้น แต่เราก็สามารถลุกขึ้นมาต่อสู้ใหม่ได้"

เป็นมุมมองที่สะท้อนออกมาจากความคิดของ พลภูมิ วิภัติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงวัฒนธรรม อดีต สส.กทม.หลายสมัย ของพรรคเพื่อไทย บุคคลที่ประสบความสำเร็จทางการเมืองมานับครั้งไม่ถ้วน จึงหล่อหลอมให้เขา สามารถยืนอยู่บนเส้นทางการเมืองได้อย่างมั่นคง

และวันนี้เขาได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่ใหม่ในฐานะ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงวัฒนธรรม ที่มีเรื่องให้ผลักดันมากมายโดยเฉพาะนโยบาย Soft Power


ความรู้สึกตอนแพ้เลือกตั้ง ?

"พลภูมิ" ยอมรับว่า เป็นเรื่องปกติที่จะรู้สึกเสียใจและท้อแท้ แต่ในมุมกลับกัน คิดว่า หากเราล้มแล้วไม่ลุก เราก็จะล้มอยู่อย่างนั้น จึงเดินหน้าค้นหาอะไรใหม่ ๆ สร้างกำลังใจให้ตัวเอง ลุกขึ้นมาสร้างงานเจ๋ง ๆ ดีกว่า

"พลภูมิ" พูดชัดเจนว่า งานการเมือง คือส่วนสำคัญในชีวิต ดังนั้นการได้ทำในสิ่งที่รัก และรักในสิ่งที่ทำ จะส่งผลต่อผลลัพธ์ของงานที่ทำออกมาให้สำเร็จและยอดเยี่ยม ซึ่งในความโชคร้าย คือ แพ้เลือกตั้ง แต่ก็มีความโชคดี คือ ได้รับแต่งตั้งให้เป็น ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงวัฒนธรรม ซึ่งถือเป็นความท้าทายในแง่ของการทำงาน เพื่อผลักดันนโยบาย และผลงานดีๆไปสู่พี่น้องประชาชน แต่ส่วนตัวเชื่อว่า ไม่มีความสำเร็จใดได้มาโดยง่าย ทุกคนล้วนต้องผ่านการฝึกฝน ผ่านอุปสรรค ผ่านความกดดันในหลายๆด้านกันทั้งนั้น ยิ่งโดยเฉพาะในยุคที่มีการแข่งขันสูง และโลกหมุนเร็วเช่นนี้ เราควรใช้โอกาสที่ได้มาทำงานที่กระทรวงวัฒนธรรม ทำหน้าที่อย่างดีที่สุด


จาก สส. สู่ ผช.รมว.วัฒนธรรม ความเหมือน-ต่าง ?

"พลภูมิ" บอกว่า สส.คือฝ่ายนิติบัญญัติ ทำหน้าที่ กลั่นกรอง และออกกฎหมายต่างๆ ที่สำคัญคือต้องยึดโยงกับประชาชน เพราะได้รับเลือกจากประชาชนเข้ามาทำหน้าที่ ดังนั้นเวลาเราลงพื้นที่ ได้รับรู้รับทราบปัญหาของชาวบ้าน จึงนำมาสะท้อนในสภาต่อไป ส่วนผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงวัฒนธรรม จัดอยู่ในฝ่ายบริหาร มีหน้าที่ให้การสนับสนุนในการ
ปฏิบัติหน้าที่ของรัฐมนตรี ว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ในการกำหนดทิศทางนโยบายของกระทรวงให้สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล และสร้างผลงานให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชน ดังนั้นถึงแม้บทบาทและหน้าที่จะแตกต่างกัน แต่มีเป้าหมายเดียวกัน คือ ทำงานเพื่อประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติ

ภารกิจที่ได้รับมอบหมาย?
หลักๆคือการติดตามการขับเคลื่อนการทำงานตามนโยบายของกระทรวงวัฒนธรรมโดยเฉพาะการผลักดัน Softpower ในด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงวัฒนธรรม โดยที่เรามีต้นทุนทางวัฒนธรรมของประเทศไทยอยู่แล้ว หน้าที่เราคือ อนุรักษ์ ฟื้นฟู ส่งเสริม และสนับสนุนให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วม พัฒนาต่อยอดสร้างมูลค่าได้มากขึ้น ยกตัวอย่าง งานThailand Biennale, Chiang Rai 2023 เป็นมหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติที่จะพลิกเชียงรายให้เป็นหมุดหมายศิลปะของโลก ที่เพิ่งเปิดงานไปเร็วๆนี้ เป็นมหกรรมที่สามารถสร้างชื่อเสียงและสร้างรายได้กลับเข้าสู่ประเทศ และอีกหนึ่งตัวอย่างที่กระทรวงวัฒนธรรมผลักดัน คือ การเปิดโบราณสถานในยามค่ำคืนให้ได้เข้าชม ผลตอบรับเป็นที่ดีมาก มีนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น สร้างรายได้กลับเข้าสู่ชุมชน


ผลักดันนโยบาย Soft Power อย่างไร?

ต้นทุนทางวัฒนธรรมที่เรามีนั้นมากมาย เพียงแต่ต้องถูกยกระดับขึ้น เพื่อนำมาสู่การสร้างมูลค่าและทำรายได้ โดยที่ภาครัฐ หรือ กระทรวงวัฒนธรรมเอง ต้องปรับบทบาทจากที่มีข้อกฎระเบียบข้อบังคับ และมีขีดจำกัดมากมาย

ต้องเปลี่ยนจาก รัฐอุปสรรคเป็นรัฐสนับสนุน และดึงภาคเอกชนหรือผู้ประกอบการเข้ามามีส่วนร่วม ระดมความเห็นร่วมกัน ไม่ว่าจะยกเลิก ปรับปรุงกฎหมายที่ไม่จำเป็น และอำนวยความสะดวกให้มีความคิดสร้างสรรคที่มากขึ้น

กระทรวงวัฒนธรรมในยุค รมว. เสริมศักดิ์ พงษ์พานิช จะได้เห็นอะไร?

แน่นอนว่าต้องได้เห็นการทำงานที่เรียกว่า team work เพราะคนที่เราดึงเข้ามาทำงานภายใต้กระทรวงนี้มีแต่คนมีความสามารถ มีความตั้งใจที่พร้อมจะผลักดันให้โครงการต่างๆสำเร็จ เพื่อทำให้ 11 อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของ THACCA เป็นที่ยอมรับ สามารถตอบสนองความต้องการและสอดคล้องกับรสนิยมชาวต่างชาติ สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของวัฒนธรรมไทยที่ก่อให้เกิดการสร้างรายได้อย่างเป็นรูปธรรม เรียกให้เข้าใจง่าย ๆ ได้ว่า “สร้างเสน่ห์วิถีไทย ครองใจคนทั้งโลก”
กำลังโหลดความคิดเห็น