วันนี้(15 ธ.ค.)นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วย นายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน นางสาวบุปผา เรืองสุด อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน และนายสมชาย มรกตศรีวรรณ ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน รักษาราชการแทนอธิบดีกรมการจัดหางาน และคณะ เข้าเยี่ยมคารวะ นายดามพ์ บุญธรรม เอกอัครราชทูต ณ กรุงริยาด ประเทศซาอุดีอาระเบีย ในโอกาสเยี่ยมเยือนสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงริยาด และสำนักงานแรงงานในประเทศซาอุดีอาระเบีย
นายพิพัฒน์ กล่าวว่า ในวันนี้ผมพร้อมด้วยผู้บริหารกระทรวงแรงงาน ขอขอบคุณท่านเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงริยาด ที่ให้การต้อนรับ ที่สำคัญท่านยังให้การดูแลแรงงานไทยที่มาทำงานในประเทศซาอุดีอาระเบียเป็นอย่างดี ให้แรงงานเหล่านี้ได้รับสิทธิประโยชน์ความคุ้มครองตามกฎหมาย และมีสภาพความเป็นอยู่ที่ดี ผมยังได้หารือข้อราชการเกี่ยวกับสถานการณ์ด้านแรงงานภายหลังการฟื้นฟูความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยและซาอุดีอาระเบีย เมื่อปี 2565 ซึ่งซาอุดีอาระเบียมีความต้องการแรงงานในหลายภาคส่วน ทั้งในภาคก่อสร้างรองรับโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานตามนโยบาย Saudi Vision 2030 ภาคบริการ การท่องเที่ยว การรักษาพยาบาลและการดูแล นอกจากนั้น ยังได้มีการพูดคุยถึงมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาการเดินทางเข้ามาทำงานโดยใช้วีซ่าผิดประเภท ซึ่งจะทำให้ไม่ได้รับความคุ้มครองทางกฎหมาย การเจรจาผลักดันฝ่ายซาอุดีอาระเบียให้กำหนดค่าจ้างที่เป็นธรรมและจูงใจ รวมถึงการสร้างความร่วมมือระหว่างสองประเทศในการพัฒนาทักษะและการรับรองคุณวุฒิวิชาชีพ ในสาขาที่ประเทศไทยมีศักยภาพ
โอกาสนี้ นายพิพัฒน์ และคณะ ยังได้ตรวจเยี่ยมและมอบนโยบายให้แก่ข้าราชการและเจ้าหน้าที่สำนักงานแรงงานในประเทศซาอุดีอาระเบีย โดยมี นายธนิทธิ์ ลอยพิมาย อัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายแรงงาน) ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงริยาด และเจ้าหน้าที่ให้การต้อนรับ โดย รมว.แรงงานได้รับฟังรายงานเกี่ยวกับสถานการณ์แรงงานไทยในประเทศเขตอาณา จำนวน 12 ประเทศ ได้แก่ ซาอุดีอาระเบีย บาห์เรน คูเวต เลบานอน อียิปต์ แอลจีเรีย โมรอกโก จอร์แดน อิรัก ซีเรีย ลิเบีย และเยเมน ซึ่งจากรายงานของอัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายแรงงาน) พบว่า แรงงานไทย ภายหลังการฟื้นฟูความสัมพันธ์ จำนวนแรงงานไทยในซาอุดีอาระเบียเพิ่มขึ้นตามลำดับ แต่ยังคงไม่มากนักเนื่องจากตลาดซาอุดีอาระเบียยังคงมีค่าจ้างที่ไม่จูงใจนักเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ แต่ก็ยังคงมีความเป็นไปได้ในการผลักดันการส่งแรงงานฝีมือระดับสูง เช่น วิศวกร และสถาปนิก มารองรับโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ และกลุ่มลูกเรือสายการบิน
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ยังได้เน้นย้ำการทำงานเพื่อคุ้มครองและรักษาผลประโยชน์ให้แก่แรงงานไทย ให้ได้รับข้อมูลและประโยชน์สูงสุด ทั้งนี้ แรงงานไทยที่ต้องการไปทำงานต่างประเทศ สามารถติดต่อได้ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1 -10 หรือติดตามประกาศรับสมัครงานในต่างประเทศได้ที่เว็บไซต์กองบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ doe.go.th/overseas หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกระทรวงแรงงาน 1506 กด 2 กรมการจัดหางาน