xs
xsm
sm
md
lg

ประธาน กสทช.บี้ ค่ายมือถือเอาจริง ล่า “ซิมม้า” ลุยแกงค์คอลเซ็นเตอร์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สัญญาณการปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีอย่างเด็ดขาด! ดังชัดจาก “ประธานกสทช. ศาสตราจารย์คลินิก นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์” หลังได้รับนโยบายเร่งด่วนจากนายกรัฐมนตรี และมีการเรียกประชุมค่ายมือถือยักษ์ใหญ่ทันทีเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา

ในการประชุม “ไฮไลต์” สำคัญ คือ กสทช.สั่งให้ผู้ประกอบการ ต้องจัดการกรณี “ซิมม้า” ซึ่งมิจฉาชีพใช้โทรไปหลอกลวงเหยื่อให้หลงเชื่อและโอนเงินเข้าบัญชี กรณีเบอร์เดียวกันโทรออกไปถี่ยิบนับ 100 สาย ซึ่งไม่ใช่เรื่องปกติวิสัยที่ปุถุชนจะทำกันได้
.
ศาสตราจารย์คลินิก นพ.สรณ ระบุว่า ที่ประชุมมีมติเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2566 ให้ผู้ประกอบการโทรศัพท์เคลื่อนที่สั่งพักการใช้เบอร์โทรศัพท์ส่วนบุคคลมากอย่างผิดสังเกต หรือต้องสงสัยว่าจะนำไปก่ออาชญากรรมลักษณะ Call Center Scam ทำให้ประชาชนต้องเดือดร้อน จนกว่าเจ้าของเบอร์หรือซิมนั้นจะมายันยันแสดงตัวตนเสร็จเรียบร้อย
.
ทางสำนักงานกสทช. และผู้ให้บริการ จะจัดทำฐานข้อมูลการลงทะเบียน Call Center Registry แบบคู่ขนานไป เพื่อให้ผู้ที่ใช้เบอร์บุคคลธรรมดาในการโทรเชิงพาณิชย์ สามารถลงทะเบียนและหาวิธีแสดงสัญลักษณ์ในบัญชี Whitelist สร้างความมั่นใจให้กับผู้ใช้บริการที่ดีต่อไป
.
อย่างไรก็ตาม ผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ ได้สะท้อนอุปสรรคการดำเนินตามมาตรการ โดยเฉพาะการดูแลผู้ใช้บริการที่ถูกต้องตามกฎหมาย “ที่ประชุมเห็นตรงกันถึงความจำเป็นของการประชาสัมพันธ์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นได้ แต่ขอให้สร้างกระบวนการยืนยันตัวตน ที่สะดวกรวดเร็วและคล่องตัว โดยผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือมีแนวคิดจะดำเนินการผ่านการโทรสอบถามอีกด้วย”
.
ประเด็นความวิตกกังวล ลูกค้าดีๆจะได้รับผลกระทบด้วยนั้น คืออุปสรรคสำคัญเรื่อยมาของการปราบปรามบัญชีม้า ซิมม้า แกงค์คอลเซ็นเตอร์ เจ้ามือพนันออนไลน์ ฯลฯ ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะฐานลูกค้าทั้งหมดนั้นอยู่ที่ค่ายมือถือและเจ้าของเครือข่าย ถ้าเอกชนไม่ “รับลูก” ไปดำเนินการ แผนปฏิบัติการนี้ก็คงไปถึงเป้าหมายได้ยาก
.
ดังนั้น งานนี้ ประธานกสทช.จึงส่งสัญญาณชัดๆไปถึงผู้ประกอบการว่า
“ขอให้ผู้ใช้บริการเข้าใจถึงความเดือดร้อนของประชาชนผู้บริสุทธิ์ ที่ต้องตกเป็นเหยื่อของแก๊งอาชญากรรมทุกวัน และนายกรัฐมนตรีต้องการปกป้องประชาชนและมีนโยบายที่ชัดเจนในการป้องกันและปราบปราม รัฐบาลจะไม่ทนเห็นประชาชนตกเป็นเหยื่อ และสำนักงานกสทช. มีหน้าที่กำกับดูแลผู้ประกอบการให้ร่วมมือดำเนินการดูแลพี่น้องประชาชนจากภัยนี้ให้ดีที่สุด”
.
แปลความหมายแบบชาวบ้าน ก็คือ อย่าห่วงกำไรให้มาก คำนึงถึงผลเสียทางเศรษฐกิจ ความเสียหาของผู้ตกเป็นเหยื่อด้วย หลายคนน้ำตานองหน้า หลายคนหมดเนื้อหมดตัว หลายคนสูญเงินก้อนสุดท้ายในชีวิตไป ใครจะรับผิดชอบ!
.
ประธาน กสทช. ยังสั่งการให้ สำนักงาน กสทช. จัดทำความตกลงร่วมมือแลกเปลี่ยนทางข้อมูลกับประเทศต่างๆอย่างครอบคลุม สกัดการก่ออาชญกรรมทางไซเบอร์ที่ถือเป็นภัยคุกคามของประชาชนทั่วโลกในปัจจุบัน โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง และสั่งการ กสทช. ให้จัดหาเครื่องมือต่างๆที่ทันสมัยในการป้องกันภัยร้ายเหล่านี้ทันที
.
ทั้งนี้ กสทช. จะทำงานร่วมกับ สำนักงานกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก. สอท. ) ภายใต้ “ศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมออนไลน์” (Anti Online Scam Operation Center: AOC) นำโดยกระทรวงดีอีเอส บูรณาการแบบ One Stop Service มีสายด่วน 1441 แก้ปัญหาการหลอกลวงออนไลน์สำหรับประชาชน ปฎิบัติการเชิงรุกต่อสู้กับอาชญากรอย่างถึงพริกถึงขิง
.
รัฐบาลมอบอำนาจให้ศูนย์ AOC เป็นหลัก สั่งการผู้ให้บริการเครือข่ายโทรคมนาคมทุกราย สามารถระงับเบอร์ที่กระทำผิดได้ทันที หากผู้ประกอบการไม่ดำเนินการอาจจะถูกดำเนินคดีในฐานะผู้สนับสนุนต่อการกระทำความผิด รวมทั้งมีอำนาจให้ผู้ใช้เบอร์ต้องสงสัยหรือผิดปกติต้องมารายงานตัวตนการครอบครองเบอร์และซิมดังกล่าว ว่าไม่ใช้เบอร์ไปกับการกระทำที่ผิดกฎหมายด้วย

ดังนั้น ในปี 2567 จะเป็นปีที่ท้าทายประธานกสทช. ศาสตราจารย์คลินิก นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ เดินหน้าลุยอาชญากรรมทางเทคโนโลยีอย่างเต็มที่ ควบคู่กับการฝ่าด่านอรหันต์ภายในบอร์ดกสทช.ที่กรรมการกลุ่มหนึ่งขอใส่เกียร์ว่าง...ขณะที่นายกรัฐมนตรีบัญชาการให้ใส่เกียร์ห้าลุยภารกิจ ดังนั้น ใครขวาง ใครวางเฉย ก็ถึงเวลาที่สังคมคงต้องตั้งคำถามแล้ว?




กำลังโหลดความคิดเห็น