xs
xsm
sm
md
lg

ปชป.สู่ยุคบ้านใหญ่ ต่ำสิบเสี่ยงสูญพันธุ์ !?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


เฉลิมชัย ศรีอ่อน และ เดชอิศม์ ขาวทอง
เมืองไทย 360 องศา

ถือว่าผลจากการเลือกตั้งหัวหน้าพรรคและคณะกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ได้นำพาพรรคการเมืองที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศเข้าสู่ยุคใหม่ได้อย่างเต็มรูปแบบแล้ว ส่วนจะเป็น “ยุคใหม่” ในความหมายแบบไหนนั้นค่อยมาว่ากันอีกที

เอาเป็นว่านับจากที่ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน ได้รับเลือกจากสมาชิกพรรคในที่ประชุมด้วยผลการโหวตที่เปิดเผยออกมาว่าเขาได้รับเสียงโหวตกว่าร้อยละ 80 ให้เป็นหัวหน้าพรรคคนที่ 9 เมื่อวันที่ 9 ธันวาคมที่ผ่านมา ถือว่าได้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างสำคัญ ซึ่งได้เห็นการเปลี่ยนแปลงหลายอย่างตามมา

ก่อนหน้าการลงมติเลือก นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน เป็นหัวหน้าพรรคก็ยังได้เห็นการเคลื่อนไหวบางอย่าง ที่มีผลต่อการเป็นหัวหน้าพรรคของ นายเฉลิมชัย โดยเฉพาะการรวมกลุ่มของ 21 สส.ประชาธิปัตย์มีมติสนับสนุนให้เขามารับตำแหน่งนี้ แม้ว่าจะเคยประกาศวางมือไปแล้วหากพรรคพ่ายแพ้การเลือกตั้ง นั่นคือได้ ส.ส.น้อยกว่าการเลือกตั้งเมื่อปี 62 ซึ่งเมื่อผลออกมาได้แค่ 25 ที่นั่ง ก็ประกาศวางมือ แต่เมื่อ 21 ส.ส.เรียกร้องให้กลับมาเป็นหัวหน้าพรรค โดยใช้คำว่า “บังคับ” ให้รับตำแหน่ง อย่างไรก็ดีสำหรับบางคนกลับมองอีกอย่างคือ “กลืนน้ำลาย”

การผนึกกำลังของ 21 ส.ส.ดังกล่าวมันก็ย่อมสะท้อนให้เห็นแล้วว่า นายเฉลิมชัย ได้คุมพรรคประชาธิปัตย์อย่างเบ็ดเสร็จแล้ว เพราะเมื่อพิจารณาจากภูมิหลังจะรู้กันดีว่า พวกเขาได้รับการอุปถัมภ์ค้ำชูมาตลอด 4 ปีที่ผ่านมา ดังคำให้สัมภาษณ์ออกมาจากปากของ นายชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษาพรรค ก่อนหน้าการประชุมพรรคสมัยวิสามัญเพียงหนึ่งวัน

ถึงความกังวลในการเลือกหัวหน้าพรรคคนที่ 9 ที่จะมีขึ้นในวันที่ 9 ธ.ค. นี้หลัง 21 สส.ของพรรคฯ มีมติให้นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รักษาการเลขาธิการพรรคฯในฐานะรักษาการหัวหน้าพรรคฯ นั่งเป็นหัวหน้าพรรคฯ ว่า คิดว่าเรียบร้อย และการที่สส.จะเสนอชื่อนายเฉลิมชัย นั่งหัวหน้าพรรคฯก็ไม่ทราบ ตนดูจากข่าวเท่านั้น

“ความจริงไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่อะไร ซึ่งพล.ต.ต.สุรินทร์ ปาลาเร่ สส.สงขลา เขาพูดในที่ประชุมพรรคหลายครั้ง ว่าจะเลือกใครเป็นหัวหน้าพรรคดี ก็แล้วแต่เลขาธิการพรรคฯ สั่ง เพราะเลขาฯดูแลเขามา 4 ปีแล้ว”นายชวนกล่าว

ถามว่า นายชวนจะเลือกใครเป็นหัวหน้าพรรค นายชวนกล่าวว่า ยังไม่ได้มีการประชุมกันเลย และไม่ทราบว่ามีใครเสนอตัวบ้าง ตนก็ให้กำลังใจทุกคน ที่จะลงสมัครหัวหน้าพรรค ส่วนน.ส.วทันยา บุนนาค ผู้สมัครหัวหน้าพรรค ตนก็ให้กำลังใจ ที่มีความตั้งใจและน่าชื่นชม แต่จะเลือกใครก็แล้วแต่สมาชิกพรรค

แน่นอนว่าพรรคประชาธิปัตย์ เวลานี้มีหลายกลุ่มหลายก๊ก เพียงแต่ว่า นายเฉลิมชัย สามารถรวบรวมเสียงสนับสนุนอยู่ในมือจำนวนมากที่สุด ขณะที่ นายชวน หลีกภัย และสมาชิกพรรคอีกส่วนหนึ่งก็สนับสนุน นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ให้กลับมาเป็นหัวหน้าพรรค โดยนายชวน เป็นคนเสนอชื่อ นายอภิสิทธิ์ เป็นหัวหน้าพรรค แต่ก็สู้เสียงสนับสนุน นายเฉลิมชัยไม่ได้ ทำให้ นายอภิสิทธิ์ ซึ่งรู้ตัวดีตั้งแต่แรกได้ชิงประกาศถอนตัว และทิ้งระเบิดโครมใหญ่ด้วยการประกาศลาออกจากสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ หลังจากนั้นก็มี นายสาธิต ปิตุเตชะ อดีต ส.ส.ระยอง ก็ประกาศลาออกตาม นายอภิสิทธิ์ ออกไปด้วย

ขณะเดียวกันมีคนที่เสนอตัวชิงเก้าอี้หัวหน้าพรรคอีกคน คือ น.ส.วทันยา บุนนาค แต่ก็ไม่สามารถผ่านด่านแรก นั่นคือได้รับเสียงสนับสนุนไม่พอสามในสี่ ที่ให้ยกเว้นข้อบังคับพรรค ที่เกี่ยวกับคุณสมบัติของผู้เสนอตัวเป็นหัวหน้าพรรค โดยเธอเป็นสมาชิกพรรคไม่ถึง 5 ปี ไม่เคยเป็น ส.ส.ไม่เคยเป็นรัฐมนตรี เป็นต้น

อย่างไรก็ดีมีรายงานผลการคัดเลือกคณะกรรมการ(กก.บห.)พรรคชุดใหม่ สำหรับรองหัวหน้าพรรคประจำภาค 5 คนและรองหัวหน้าพรรคตามภารกิจ 8 คน ประกอบด้วยนายสมบัติ ยะสินธุ์ สส.แม่ฮ่องสอน เป็นรองหัวหน้าพรรคภาคเหนือ นายไชยยศ จิรเมธากร อดีตรองหัวหน้าพรรคภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นรองหัวหน้าพรรคภาคอีสาน นายประมวล พงศ์ถารวาเดช สส.ประจวบคีรีขันธ์ เป็นรองหัวหน้าพรรคภาคกลาง นายชัยชนะ เดชเดโช สส.นครศรีธรรมราช เป็นรองหัวหน้าพรรคภาคใต้ นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อดีตผู้สมัครผู้ว่ากทม. เป็นรองหัวหน้าพรรคภาคกทม.

ส่วนรองหัวหน้าพรรคตามภารกิจ 8 คนเสนอโดยนายเฉลิมชัย เป็นผู้เสนอ คือ 1.นายนริศ ขำนุรักษ์ อดีตรมช.มหาดไทย 2.น.ส.จิตภัสร์ กฤดากร อดีตรองเลขาธิการพรรค 3.พล.ต.ต. สุรินทร์ ปาราเล่ สส.สงขลา 4.นายนราพัฒน์ แก้วทอง อดีตรองหัวหน้าพรรคภาคเหนือ 5. นายธารา ปิตุเตชะ อดีตสส.ระยอง 6.นต.สุธรรม ระหงษ์ ผอ.พรรคฯ 7. นายมนตรี ปาน้อยนนท์ อดีตสส.ประจวบฯ และ 8. นายอภิชาติ ศักดิเศรษฐ

จากนั้นนายเฉลิมชัย เสนอ นายเดชอิศม์ ขาวทอง สส.สงขลา เป็นเลขาธิการพรรค ส่วนรองเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ประกอบด้วย1.น.ส.สุพัชรี ธรรมเพชร สส.พัทลุง 2.นายจักพันธ์ ปิยพรไพบูลย์ สส.ประจวบฯ 3.น.ส.สุณัฐชา โล่สถาพรพิพิธ สส.ตรัง 4.นายชนินทร์ รุ่งแสง อดีตสส.กทม. 5.นายสมยศ พลายด้วง สส.สงขลา และ6.นางกันตวรรณ ตันเถียร อดีตสส.พังงา นายราเมศ รัตนเชวง โฆษกพรรค นายวิรัชท ร่มเย็น นายทะเบียนพรรค นางเจิมมาศ จึงเลิศศิริ เหรัญญิกพรรค

ทั้งนี้เป็นที่น่าสังเกตว่า คณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่นี้ เป็นคนของนายเฉลิมชัย และ นานเดชอิศม์ ทั้งหมด ไม่มีตัวแทนฝ่ายนายชวน หลีกภัย เข้ามาแม้แต่คนเดียว

ผลจากการเลือกตั้งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ในครั้งนี้ถูกจับตามองและได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์มากมาย นอกเหนือจากการได้เห็นภาพที่กลุ่มของ นายเฉลิมชัย ได้ควบคุมพรรคได้แบบเบ็ดเสร็จ นั่นคือเป็นการทำให้เห็นว่า “กลุ่มชวน-บัญญัติ” ได้ถูกกำจัดออกไปโดยสิ้นเชิง

ผลจากการเลือกหัวหน้าพรรคคราวนี้ยังชี้ให้เห็นถึง “หัวหน้าพรรคคนใหม่” ในอนาคต หากพวกเขายังคงสามารถรักษาสภาการนำเอาไว้ได้ แบบ “ยืนระยะ” ได้แบบยาวๆ นั่นคือ นายเดชอิศม์ ขาวทอง เลขาธิการพรรคคนใหม่ ว่าที่หัวหน้าพรรคคนต่อไป นั่นเอง

อย่างไรก็ดีสำหรับภาพเฉพาะหน้าที่เห็นในเวลานี้ เมื่อกลุ่ม “เหลิมชัย-เดชอิศม์” ยึดประชาธิปัตย์เบ็ดเสร็จอย่างที่เห็น มันก็กำลังถูกจับตามองว่าอนาคตจะได้เห็นการร่วมรัฐบาล เพียงแต่ “รอจังหวะเป็นพรรคอะหลั่ย” ไปอีกระยะหนึ่งเท่านั้น อีกทั้งจะได้เห็นการ “ไหลออก” อีกชุดใหม่ตามมาหรือไม่ เพราะหากพิจารณาถึงอนาคตข้างหน้า ที่พรรคการเมืองต้องสู้กันด้วย “กระแส” และนโยบายแล้ว นาทีนี้หากพิจารณากันอย่างตรงไปตรงมาแล้ว พรรคประชาธิปัตย์ยังมองไม่เห็น “จุดขาย” แบบนั้นเลย

แต่สิ่งที่เห็นก็คือ พรรคประชาธิปัตย์กำลังก้าวสู่การเมืองแบบ “บ้านใหม่” ที่เป็นแบบอุปถัมภ์ กลับเข้าสู่ยุคโบราณ ที่ย้อนยุคไปหรือเปล่า แต่สำหรับบางคนอาจมีข้อยกเว้น สามารถเอาตัวรอดเข้ามาได้ แต่ยังมีอัตราเสี่ยงสูงมาก ที่จะกลายเป็น “พรรคต่ำสิบ” หรือแม้แต่จะสูญพันธุ์ ก็เป็นไปได้ไม่น้อย เพราะเมื่อพิจารณาจากกระแสอารมณ์จากสังคมภายนอกแล้ว ไม่ได้ออกมาในเชิงบวกเลยแม้แต่น้อย!!


กำลังโหลดความคิดเห็น